กระทบอย่างไร:
ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น DTAC ปรับตัวลง 8.2% จากเดือนก่อนหน้าสู่ระดับ 33.75 บาท สาเหตุหลักๆ จากการถูกดันประเด็นปัญหาทางเทคนิคในการลงทะเบียนคนละครึ่งเฟส 2 ทำให้ลูกค้า DTAC ไม่สามารถรับ OTP จากธนาคารกรุงไทยได้ ซึ่งก่อให้เกิดกระแสการย้ายค่าย และทำให้ DTAC ออกมาตรการชดเชยแก่ลูกค้ามูลค่าสูงสุด 3,500 บาท อาทิ โบนัสเติมเงิน โทรฟรี เน็ตฟรี และส่วนลดเมื่อซื้อโทรศัพท์มือถือ
มุมมองระยะสั้น:
SCBS คาดกำไรปกติของ DTAC ในช่วงไตรมาส 4/2563 ที่ 952 ล้านบาท ลดลง 34.8% จากไตรมาสก่อนหน้า และลดลง 22.2% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว โดยกำไรปกติที่ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้ามาจากค่าใช้จ่ายการตลาดที่สูงในไตรมาส 4 จึงทำให้คาดว่า SG&A จะเพิ่มขึ้น 3.1% จากไตรมาสก่อนหน้า แต่ลดลง 19.8% จากปีก่อนหน้าสู่ระดับ 3.6 พันล้านบาท ซึ่งเกิดจากการควบคุมต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ SCBS คาดว่าจะเห็นผลขาดทุนจากการขายเครื่องโทรศัพท์มือถือสูงผิดปกติ โดยมีสาเหตุมาจากการเปิดตัว iPhone รุ่นใหม่ ซึ่ง DTAC ได้นำเสนอโปรโมชันเชิงรุกมากเกิน เนื่องจาก DTAC เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายเดียวที่ยังไม่สามารถนำเสนอบริการ 5G ได้
ทั้งนี้ SCBS ได้ประเมินผลขาดทุนจากการขายเครื่องโทรศัพท์มือถือได้ที่ 700 ล้านบาท ขณะที่รายได้จากการให้บริการไม่รวมค่า IC จะทรงตัวจากไตรมาสก่อน แต่ลดลง 7.5% จากปีที่แล้วสู่ระดับ 1.44 หมื่นล้านบาท โดยถูกกดดันจากรายได้จากกลุ่มนักท่องเที่ยวที่หายไปและกำลังซื้อที่อ่อนแอ
สำหรับการชดเชยมูลค่าสูงไม่สุดไม่เกิน 3,500 บาทให้กับลูกค้าที่ไม่สามารถลงทะเบียนโครงการคนละครึ่ง SCBS มองว่าจะไม่ได้รับผลกระทบต่อผลประกอบการไตรมาส 4/2563 ทันทีเนื่องจากไม่ใช่การชดเชยเป็นเงินสด แต่มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อรายได้ในอนาคต อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงเกี่ยวกับคุณภาพเครือข่ายของบริษัทด้วย ซึ่งจะช่วยเร่งอัตราการยกเลิกใช้บริการของบริษัท และส่งผลกระทบด้านลบต่อ ARPU (รายได้ต่อเลขหมาย) เนื่องจาก DTAC จะต้องหาวิธีรักษาลูกค้าเอาไว้
มุมมองระยะยาว:
สำหรับประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามในปี 2564 คือการอัปเกรดโครงข่ายบนคลื่น 2300MHz เป็น 5G ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในการให้บริการ 5G ในตลาดผู้บริโภค และราคาหุ้นน่าจะตอบรับเชิงบวกต่อประเด็นนี้
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า