หลังจากก้าวเข้าสู่ปี 2564 ซึ่งตลาดการเงินการลงทุนกลับมาเปิดทำการอีกครั้งเมื่อ 4 มกราคมที่ผ่านมา ทิศทางของเงินลงทุนที่เน้นลงทุนผ่านกองทุนรวมดูเหมือนจะเริ่มต้นด้วยการมุ่งหน้าไปลงทุนใน ‘จีน’
ล่าสุด ค่าเงินหยวนเทียบกับเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นมาถึง 1% ภายในวันเดียว มาอยู่ที่ราว 6.5 หยวนต่อดอลลาร์ ขณะเดียวกันเมื่อดูจากการจัดอันดับผลตอบแทนของกองทุนไทยที่มีนโยบายเน้นลงทุนในจีน พบว่า กองทุนที่ให้ผลตอบแทนโดดเด่นสำหรับวันทำการวันแรกของปี ส่วนมากเป็นกองทุนหุ้นจีน
เช่น กองทุนเปิด ทิสโก้ ไชน่า (TISCOCHA) +3.75%, กองทุนเปิดดับเบิลยูไอเอสอี เคแทม ซีเอสไอ 300 ไชน่า แทร็กเกอร์ (CHINA) +3.23%, กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นจีนเอแชร์ (SCBCHAP) +3.05% และกองทุนเปิดทหารไทย China Equity Index (TMBCHEQ) +2.99%
ขณะที่ผลตอบแทนเฉลี่ย 5 ปี ของกองทุนหุ้นจีน (ของไทย) อยู่ที่ราว 9-16% ต่อปี
ตลาดหุ้นจีนดูเหมือนจะเป็นเป้าหมายของการลงทุนจากทั่วโลก หลังจากก้าวเข้าสู่ปี 2564 ซึ่ง บล.โนมูระ พัฒนสิน มองว่าแนวโน้มของตลาดหุ้นจีนกำลังอยู่ในทิศทางที่ดีในระยะกลางถึงยาว จากการที่ประเทศจีนกำลังจะก้าวไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งนี้ ท็อป 5 ของกองทุนของไทยที่มีนโยบายไปลงทุนในจีน ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับ 9-16%
เสริมศักดิ์ วงศ์สิทธิโชค ผู้อำนวยการ ฝ่ายค้าตราสารการเงิน บล.บัวหลวง เปิดเผยว่า เงินลงทุนเริ่มไหลเข้าจีนตั้งแต่หลังเลือกตั้งสหรัฐฯ เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2563 ซึ่งนักลงทุนทั่วโลกน่าจะมองว่าประเด็นสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ น่าจะเบาลง
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมามีประเด็นที่ทางการจีนเข้มงวดกับธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) มากขึ้น ทำให้หุ้นขนาดใหญ่บางตัว เช่น Alibaba และ Tencent ได้รับผลกระทบ
ประเด็นดังกล่าวอาจกระทบต่อการลงทุนในจีนในระยะสั้น แต่เมื่อมองในระยะยาวแล้วจะเห็นว่ารัฐบาลจีนยังคงมีนโยบายที่ชัดเจนที่ต้องการสนับสนุนธุรกิจใหม่ อย่างนโยบาย Made in China 2025 ขณะเดียวกันบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กในจีนก็มีโอกาสที่จะมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น หลังจากที่ภาครัฐมีการปรับเกณฑ์ธุรกิจต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา
“โดยรวมมองว่าจีนเป็นตลาดที่น่าสนใจ โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มอีคอมเมิร์ซ ซึ่งการปรับฐานของหุ้นจีนในระยะสั้นจะเป็นโอกาสในการเข้าลงทุน ในปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าจีนยังเป็นตลาดที่ให้ผลตอบแทนค่อนข้างดี แม้จะเป็นประเทศที่เผชิญกับโควิด-19 รายแรก แต่ก็สามารถฟื้นตัวได้เร็ว ขณะที่นโยบายรัฐยังเน้นการเติบโต”
สรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า ความน่าสนใจของจีนในปีที่ผ่านมาคือ ตลาดหุ้นจีนอย่าง ดัชนี Shanghai สามารถปรับตัวขึ้นได้ราว 12% ใกล้เคียงกับดัชนี MSCI Global Index ขณะเดียวกันจีนเป็นประเทศแรกที่ฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด และเป็น 1 ใน 4 ประเทศ ที่ตัวเลข GDP ในปี 2563 ยังคงเติบโตได้
ทั้งนี้ จากการสำรวจมุมมองของผู้จัดการกองทุนต่อการลงทุนในปีนี้ มองว่าตลาดหุ้นเกิดใหม่ (Emerging Market: EM) น่าจะเป็นกลุ่มหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุด ซึ่งสัดส่วนของตลาดหุ้นจีนใน EM คิดเป็นกว่า 20% ขณะเดียวกันธีมการลงทุนในปีนี้น่าจะเป็นการหมุนเงินลงทุนจากกลุ่มเทคโนโลยีมาสู่กลุ่มหุ้นคุณค่า (Value) ซึ่งส่วนมากจะกระจุกตัวอยู่ใน EM
“จุดเด่นของจีนคือการฟื้นตัวที่ทำได้ค่อนข้างเร็ว โดยคาดว่าจีนน่าจะใช้เวลา 1-2 ปี สามารถฟื้นไปเท่ากับก่อนวิกฤตได้ เทียบกับค่าเฉลี่ยโดยปกติที่ราว 3 ปี ขณะเดียวกันกลุ่มหุ้นในจีนไม่ได้มีเพียงหุ้น Value แต่เป็นการผสมผสานกันระหว่าง Value, Technology และ Consumer นอกจากนี้จีนยังมีตลาดใหม่ๆ ที่นักลงทุนอาจจะยังไม่รู้มากนัก เช่น Chinex คล้ายกับ Nasdaq ของสหรัฐฯ”
ขณะที่ บล.โนมูระ พัฒนสิน ประเมินว่า ปี 2564 จะเป็นปีแห่งโอกาสของตลาดหุ้นเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียเหนือ โดยมองว่าตลาดหุ้นเกิดใหม่ในเอเชียจะมีกระแสเงินไหลเข้ามากกว่าตลาดพัฒนาแล้ว จากแนวโน้มค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าในระยะกลางถึงยาว ขณะที่ค่าเงินหยวนมีความเป็นสากลเพิ่มขึ้นและสกุลเงินดิจิทัลมีบทบาทมากขึ้นจะยิ่งหนุนเงินทุนให้ไหลเข้าเอเชีย
นอกจากนี้ การฟื้นตัวของกลุ่มประเทศในเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) จะกลับไปใกล้กับระดับก่อนโควิด-19 ตั้งแต่ปีนี้ เทียบกับสหรัฐฯ และยุโรปที่จะต้องใช้เวลาถึงปี 2565 ขณะที่จีนเป็นเพียงประเทศเดียวที่เศรษฐกิจไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession)
นอกจากนี้ จีนยังได้นำกลยุทธ์ ‘Dual Circulation Strategy (DCS)’ มาใช้ ซึ่งเป็นนโยบายที่จะเน้นการเติบโตจากภายในเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน โดยจะลดการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และลดสัดส่วน External Demand ซึ่งคาดว่าจะทำให้จีนสามารถก้าวผ่านประเทศกำลังพัฒนาไปเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ถือเป็นภาพบวกต่อตลาดหุ้นจีนในระยะกลางถึงยาว
ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล