เจ้าหนอนตัวแบนนิวกินี ถูกจัดเป็น 1 ใน 100 สิ่งรุกรานต่างถิ่นที่น่ากลัวที่สุดของโลก (100 of the World’s Worst Invasive Alien Species)
จุดเริ่มต้นของการค้นพบว่ามี ‘หนอนตัวแบนนิวกินี’ ในประเทศไทย เริ่มมาจากเมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา ‘มงคล อันทะชัย’ ได้แปะภาพหนอนตัวแบนนิวกินีกำลังกินหอยทากในบริเวณบ้านแถบอำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ในกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ (siamensis.org) เพื่อสอบถามว่าเป็นสัตว์ชนิดใด
ต่อมาทางกลุ่มสยามเอ็นสิส โดย ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ และจิรวัฒน์ ผลเพิ่มพูล ได้ตามไปเก็บตัวอย่างที่บ้านของมงคลเพื่อยืนยันจนมั่นใจว่าเป็นหนอนชนิดดังกล่าวจริงๆ
ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ นักวิชาการอิสระกลุ่มสยามเอ็นสิส เปิดเผยว่า หนอนชนิดนี้ออกหากินในเวลากลางคืน กินหอยทากเป็นอาหารหลัก มันล่าหอยทากโดยใช้วิธีการตามกลิ่นเมือก ส่วนการกินหอยทากนั้น หนอนจะปล่อยน้ำย่อยออกมาย่อยเนื้อหอยทากก่อนที่จะดูดกินเข้าไป แต่ถ้าไม่สามารถหาหอยทากกินได้ ยังมีรายงานว่ามันสามารถกินทากเปลือยและไส้เดือนด้วย
ความร้ายกาจของหนอนตัวแบนนิวกินีนี้ นอกจากจะเป็นภัยต่อหอยทากท้องถิ่นของประเทศไทย ซึ่งหลายชนิดมีการกระจายพันธุ์ที่แคบและมีความสวยงามมากนั้น ยังเป็นพาหะแพร่เชื้อ Angiostrongylus Cantonensis หรือพยาธิปอดหนู และพยาธิหอยโข่ง ซึ่งติดต่อสู่คนได้
โดยพยาธิดังกล่าวนี้มีหนูเป็นพาหะหลัก จึงไม่สามารถเจริญเติบโตจนครบวงจรในร่างกายมนุษย์ได้ แต่ตัวอ่อนจะไปอาศัยอยู่ในระบบประสาทส่วนกลางของผู้ติดเชื้อและตายลง ทำให้เกิดการอักเสบในเยื่อหุ้มสมอง
ผู้ป่วยที่ติดเชื้อพยาธิจะมีอาการปวดหัวอย่างรุนแรง เป็นไข้ อาเจียน คอแข็ง ตาพร่ามัว ท้องเสีย และปวดกล้ามเนื้อ แต่ถ้ามีการติดเชื้ออย่างรุนแรงก็สามารถนำไปสู่อาการเรื้อรังของโรคจนอาจทำให้เสียชีวิตได้
อย่างไรก็ตาม พยาธิดังกล่าวไม่ใช่ของใหม่ ในประเทศไทยก็มีสัตว์หลายชนิดที่เป็นพาหะอยู่แล้ว เช่น หอยทากยักษ์แอฟริกา และหอยในกลุ่มหอยโข่ง หอยขม ซึ่งพยาธิชนิดนี้จะเข้าสู่ร่างกายคนผ่านทางการกิน จึงควรหลีกเลี่ยงการกินหอยที่ไม่สุกรวมไปถึงล้างทำความสะอาดผักในบริเวณที่มีหอยทากและหนอนตัวแบนอาศัยอยู่ให้ดีก่อนรับประทาน หรือรับประทานเฉพาะผักที่สุกแล้วเท่านั้น และหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำที่ไม่ได้ผ่านการต้มหรือกรองมาก่อน โดยเฉพาะในแหล่งที่มีหอยและหนอนตัวแบนนิวกินีอาศัยอยู่
นักวิชาการเตือน อย่าเพิ่งตื่นตระหนก แนะหากเจอ อย่าสัมผัสโดยตรง
รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ว่า อย่าเพิ่งตื่นตระหนกกับหนอนตัวแบนนิวกินีจนเกินไป ความอันตรายต่อคนมีอยู่ แต่ไม่น่ากลัวจนถึงขั้นตื่นตระหนก แม้ว่าตัวหนอนจะมีสารพยาธิปอดหนู แต่ก็ไม่ได้ติดต่อสู่คนโดยตรง มันติดต่อผ่านการกิน ซึ่งโดยทั่วไปเราไม่กินหนอนชนิดนี้กันอยู่แล้ว
สิ่งที่อยากแนะนำคืออย่าเพิ่งตื่นตระหนกจนไปกำจัดหนอนทุกชนิดที่พบเห็น เพราะจะเป็นการทำลายระบบนิเวศ หนอนตัวแบนนิวกินีโดยหลักแล้วจะกระทบต่อระบบนิเวศมากกว่ามนุษย์โดยตรง
แต่หากพบเห็น แนะนำว่าอย่าใช้มือสัมผัสโดยตรง เพราะตัวหนอนมีเมือกที่อาจทำให้เกิดอาการแพ้ วิธีการกำจัดที่แนะนำคือใช้น้ำร้อนราด เพราะหากใช้เกลือโรยในพื้นที่มากไปอาจส่งผลเสียทำให้ดินเค็ม
ขณะที่หน่วยงานภาครัฐก็ควรเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ชัดเจนเพื่อยืนยันอย่างเป็นทางการว่าสัตว์ชนิดดังกล่าวคือหนอนตัวแบนนิวกินีจริงหรือไม่ ถ้าใช่ ปัจจุบันมันกระจายอยู่ในพื้นที่ใดบ้าง พร้อมเผยแพร่ความรู้ถึงลักษณะหน้าตาและวิธีการกำจัดที่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้เกิดการตื่นตระหนก
“อยากอธิบายว่าสัตว์ที่ติดในท็อป 100 สิ่งรุกรานต่างถิ่นที่น่ากลัวที่สุดของโลกคือสัตว์ที่สามารถแพร่พันธุ์นอกถิ่นอาศัยตามธรรมชาติได้ ซึ่งมันทำลายระบบนิเวศ ไม่ใช่สัตว์ดุร้ายหรือมีพิษร้ายแรง
ตัวอย่างเช่น หอยทากธรรมดาของบ้านเราก็ติดอันดับท็อป 100 ที่ว่านี้ ขณะที่ปลาซักเกอร์ยังมีความน่ากังวลกว่าเมื่อมันไปแพร่พันธ์ุอยู่ในแม่น้ำ ฉะนั้นอย่าเพิ่งตื่นตกใจจนเกินไป” อ.เจษฎากล่าว
สำหรับหนอนตัวแบนนิวกินี เป็นหนอนที่มีถิ่นกำเนิดบนเกาะนิวกินี โดยพื้นที่ที่พบครั้งแรกอยู่ในจังหวัดปาปัวตะวันตกของประเทศอินโดนีเซีย เมื่อโตเต็มที่แล้วจะมีลำตัวยาวประมาณ 5-6 เซนติเมตร มีปลายแหลมทั้งสองด้าน แต่ด้านที่เป็นหัวจะแหลมเล็กกว่า สีด้านหลังเป็นสีน้ำตาลเข้มและมีลายสีน้ำตาลอ่อนพาดกลางลำตัวตามแนวยาว ด้านท้องสีขาว และมีจุดสีขาวเล็กๆ ค่อนไปทางด้านหาง ซึ่งเป็นส่วนปาก
Photo: siamensis.org