×

ถอดรหัสข้อตกลง Brexit ความสัมพันธ์บทใหม่ระหว่างสหภาพยุโรปกับสหราชอาณาจักร

29.12.2020
  • LOADING...
ข้อตกลง Brexit

HIGHLIGHTS

  • ความสำเร็จสำคัญของข้อตกลงครั้งนี้คือสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรปยังสามารถทำการค้าแบบปลอดอากรและปลอดโควตาระหว่างกันต่อไปได้ กล่าวคือไม่ต้องเสียภาษีศุลกากรและไม่จำกัดปริมาณการนำเข้า
  • อย่างไรก็ดี สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงไปคือจะต้องมีพิธีการศุลกากร โดยมีด่านตรวจสินค้าที่พรมแดน เช่น ที่ท่าเรือกาเลส์และท่าเรือโดเวอร์ ซึ่งเป็นพรมแดนฝรั่งเศส-สหราชอาณาจักร มีข้อกำหนดเรื่องใบขนสินค้าขาเข้าและขาออก ใบรับรองสุขอนามัยอาหาร เป็นต้น
  • สหภาพยุโรปจะกำหนดให้หลักการเรื่องการแข่งขันที่เป็นธรรมและสิทธิในการใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้าแบบครอบคลุม เป็นบรรทัดฐานสำหรับการเจรจาความตกลงการค้าระหว่างสหภาพยุโรปกับประเทศต่างๆ ในอนาคตทั้งหมด ซึ่งนั่นหมายความว่าหากในอนาคตไทยตัดสินใจฟื้นการเจรจาความตกลงการค้ากับสหภาพยุโรปก็คงต้องเจอข้อแม้นี้ด้วย

ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ‘Brexit’ กลายเป็นคำที่คุ้นหูของทุกคน เพราะนี่ไม่เพียงแต่เป็นครั้งแรกที่มีการถอนตัวจากกลุ่มความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศ แต่ยังเกิดขึ้นกับกลุ่มที่มีความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นและลึกซึ้งอย่างสหภาพยุโรป (EU) จึงก่อให้เกิดความกังวลถึงผลกระทบของ Brexit ที่จะมีต่อเศรษฐกิจโลก หลายประเทศติดตามกันอย่างใกล้ชิดว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรปภายหลัง Brexit จะเป็นอย่างไร

กระบวนการเจรจา Brexit มีหลายขั้นตอน ตั้งแต่การจัดทำข้อตกลงถอนตัว (Withdrawal Agreement) ซึ่งเพิ่งเสร็จเมื่อต้นปี 2020 เพราะติดขัดในประเด็นซับซ้อน เช่น การรักษาสิทธิของประชาชนชาวสหภาพยุโรปที่อาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักรอยู่ก่อนแล้ว และการรักษาสถานะพิเศษของไอร์แลนด์เหนือเพื่อคงไว้ซึ่งหลักการของข้อตกลงสันติภาพ (Good Friday Agreement)

จากนั้นทั้งสองฝ่ายได้เริ่มเจรจาข้อตกลงเพื่อกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างกันภายหลัง Brexit ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2020 เป็นต้นมา โดยมีประเด็นที่ดูเหมือนจะไม่สามารถหาจุดร่วมกันได้เลย เช่น เรื่องประมงและเรื่องกฎระเบียบการแข่งขันอย่างเป็นธรรม จนหลายฝ่ายเกรงว่าสหราชอาณาจักรจะต้องออกจากสหภาพยุโรปแบบไร้ข้อตกลง ซึ่งอาจสร้างความเสียหายอย่างมากต่อภาคธุรกิจ

แต่แล้วเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม สหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรปก็ประกาศว่าสามารถบรรลุ ‘ข้อตกลงการค้าและความร่วมมือ’ ระหว่างกันได้แล้ว ถือเป็นของขวัญคริสต์มาสสำหรับทุกฝ่ายที่เห็นพ้องตรงกันว่าการออกของสหราชอาณาจักรจากสหภาพยุโรปแบบมีข้อตกลงย่อมดีกว่าการออกแบบไร้ข้อตกลง

 

ข้อตกลง Brexit



การเคลื่อนย้ายสินค้าเสรีแบบปลอดอากรและปลอดโควตา (อย่างมีเงื่อนไข) และพิธีการศุลกากรแบบเรียบง่าย
ความสำเร็จสำคัญของข้อตกลงฯ ในครั้งนี้คือสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรปยังสามารถทำการค้าแบบปลอดอากรและปลอดโควตาระหว่างกันต่อไปได้ กล่าวคือไม่ต้องเสียภาษีศุลกากรและไม่จำกัดปริมาณการนำเข้า 


อย่างไรก็ดี สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงไปคือจะต้องมีพิธีการศุลกากรโดยมีด่านตรวจสินค้าที่พรมแดน เช่น ที่ท่าเรือกาเลส์และท่าเรือโดเวอร์ ซึ่งเป็นพรมแดนฝรั่งเศส-สหราชอาณาจักร มีข้อกำหนดเรื่องใบขนสินค้าขาเข้าและขาออก ใบรับรองสุขอนามัยอาหาร เป็นต้น ทั้งนี้ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงที่จะทำให้พิธีการศุลกากรเรียบง่ายที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เช่น อนุญาตให้ผู้ส่งออกสามารถทำการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าได้ด้วยตนเอง และการยอมรับร่วมกันสำหรับโครงการมาตรฐาน AEO (Authorized Economic Operators) เพื่อลดภาระด้านเอกสารของผู้ประกอบการ

มิเชล บาร์เนีย หัวหน้าคณะเจรจาของฝ่ายสหภาพยุโรป ย้ำว่าการค้าที่เสรีอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ แต่จะต้องเป็นธรรมด้วย ดังนั้นข้อตกลงฯ จึงได้ให้การันตีว่าหากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีนโยบายที่สร้างความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน เช่น เงินอุดหนุนภาคเอกชน มาตรการด้านภาษี มาตรการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิทธิแรงงาน หรือการผ่อนคลายข้อบังคับด้านมาตรฐานของสินค้า เพื่อเอื้อประโยชน์แก่บริษัทสัญชาติตน อีกฝ่ายย่อมมีสิทธิ์ออกมาตรการตอบโต้ทางการค้าฝ่ายเดียวได้ ทั้งนี้สำหรับกฎหมายการค้าระหว่างประเทศถือเป็นเรื่องใหม่ที่จะนำมาตรการทางการค้ามาใช้ตอบโต้การละเมิดกฎกติกาในเรื่องที่ไม่ใช่การค้าโดยตรง เช่น การละเมิดสิทธิแรงงาน หรือการละเมิดพันธกรณีเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาโลกร้อน อีกทั้งยังไม่จำกัดให้ตอบโต้เป็นรายสินค้าเฉพาะ แต่อาจครอบคลุมสินค้าหลายประเภทได้ (ที่ผ่านมามาตรการตอบโต้ทางการค้าจะถูกจำกัดเพื่อตอบโต้การทุ่มตลาด การอุดหนุน หรือกรณีที่มีสินค้าทะลักเข้ามาในประเทศเท่านั้น)

ที่สำคัญคือบาร์เนียได้กล่าวด้วยว่าสหภาพยุโรปจะกำหนดให้หลักการเรื่องการแข่งขันที่เป็นธรรมและสิทธิในการใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้าแบบครอบคลุมนี้เป็นบรรทัดฐานสำหรับการเจรจาความตกลงการค้าระหว่างสหภาพยุโรปกับประเทศต่างๆ ในอนาคตทั้งหมด ซึ่งนั่นหมายความว่าหากในอนาคตไทยตัดสินใจฟื้นการเจรจาความตกลงการค้ากับสหภาพยุโรปก็คงต้องเจอข้อแม้นี้ด้วย

 

ข้อตกลง Brexit



การเคลื่อนย้ายบริการและการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมืออย่างเสรียุติลง
ในชั้นนี้ข้อตกลงฯ ไม่มีข้อบทเรื่องการค้าบริการหรือข้อตกลงยอมรับร่วมในคุณสมบัติของอาชีพต่างๆ ดังนั้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2021 สหราชอาณาจักรจะไม่สามารถเข้าถึงตลาดภาคบริการของสหภาพยุโรปได้เช่นเดิม ยกตัวอย่างเช่น ธนาคารและสถาบันการเงินของสหราชอาณาจักรจะสูญเสียใบอนุญาตประกอบกิจการในสหภาพยุโรป และต้องระงับการให้บริการลูกค้าในสหภาพยุโรปเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะขอใบอนุญาตใหม่ได้ นอกจากนี้แพทย์ พยาบาล สถาปนิก ก็จะไม่สามารถย้ายไปทำงานข้ามโซนกันได้ ทั้งนี้หลายฝ่ายก็หวังว่าสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรจะมีการเจรจาเรื่องภาคบริการและการเคลื่อนย้ายของแรงงานฝีมือต่อไป

ภาคบริการของสหราชอาณาจักรถือว่าได้รับผลกระทบหนักจาก Brexit เพราะที่ผ่านมาภาคบริการคิดเป็น 40% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของสหราชอาณาจักรไปยังสหภาพยุโรป

ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสังคม
สหภาพยุโรปกับสหราชอาณาจักรจะยังมีความร่วมมือที่ใกล้ชิดกันต่อไปในสาขาสำคัญ เช่น ความต่อเนื่องในการขนส่งทั้งทางเครื่องบิน รถไฟ รถยนต์ และเรือ ความต่อเนื่องในสาขาพลังงาน (การซื้อขายไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ) ความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล แต่ประเด็นสุดท้ายที่ยากลำบากที่สุดคือการประมง

สหภาพยุโรปกับสหราชอาณาจักรตกลงให้มีช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านในสาขาการประมงเป็นระยะเวลา 5 ปีครึ่ง (จนถึงเดือนมิถุนายน 2026) โดยระหว่างนี้ชาวประมงของสหภาพยุโรปจะมีสิทธิ์ทำประมงในน่านน้ำของสหราชอาณาจักรต่อไป ทั้งนี้สหภาพยุโรปยอมลดโควตาการจับปลาในน่านน้ำของสหราชอาณาจักรลง 25% ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ทั้งสองฝ่ายยอมประนีประนอมกัน จากเดิมที่ฝ่ายสหภาพยุโรปต้องการรักษาโควตาไว้เหมือนช่วงก่อน Brexit ในขณะที่ฝ่ายสหราชอาณาจักรเรียกร้องให้ลดโควตาการจับปลาของชาวประมงสหภาพยุโรปลงถึง 60% ทั้งนี้เมื่อครบกำหนดช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านแล้ว ทั้งสองฝ่ายจะต้องกลับมาเจรจาโควตาการจับปลากันอีกครั้งแบบปีต่อปี

สหราชอาณาจักรจะยังร่วมดำเนินโครงการความร่วมมือด้านวิจัยและวิทยาศาสตร์กับสหภาพยุโรป เช่น กองทุนวิจัยและนวัตกรรม Horizon Europe ความร่วมมือด้านพลังงานนิวเคลียร์ และโครงการดาวเทียมสำรวจทรัพยากร Copernicus อย่างไรก็ดี สหราชอาณาจักรได้ตัดสินใจถอนตัวออกจากโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างประเทศในยุโรป (ERASMUS) โดย บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร กล่าวว่าโครงการดังกล่าวใช้งบประมาณสูงเกินไป และสหราชอาณาจักรเป็นฝ่ายที่เสียเปรียบ ซึ่งอาจเป็นเพราะค่าเทอมในสหราชอาณาจักรแพงกว่าค่าเทอมในประเทศอื่นๆ ในยุโรป ในขณะที่บาร์เนียแสดงความเสียใจที่สหราชอาณาจักรตัดสินใจออกจากโครงการ ERASMUS

สำหรับการเดินทางของประชาชนภายหลัง Brexit ประชาชนของสองฝ่ายจะไม่มีเสรีภาพในการเดินทางระหว่างกันแล้ว โดยหากประสงค์อยู่เกิน 90 วันก็จะต้องขอวีซ่า รวมทั้งต้องขอวีซ่าทำงานและวีซ่านักเรียน (สำหรับคนสัญชาติไทยไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เนื่องจากที่ผ่านมาต้องขอวีซ่าเพื่อเข้าสหราชอาณาจักรและเพื่อเข้าสหภาพยุโรปอยู่แล้ว)

 

ข้อตกลง Brexit

 


ใครได้ใครเสียในข้อตกลง Brexit
สำหรับการค้าสินค้าอาจเรียกได้ว่าข้อตกลงมีความสมดุล กล่าวคือทั้งสองฝ่ายยังคงเข้าถึงตลาดของกันและกันได้ พร้อมคงสิทธิพิเศษเรื่องภาษีศุลกากรเป็นศูนย์และไม่มีการจำกัดการนำเข้าสินค้า และในขณะเดียวกันก็สามารถใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้าได้หากเห็นว่าอีกฝ่ายมีนโยบายหรือมาตรการที่สร้างความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน

สำหรับการค้าบริการซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของสหราชอาณาจักร โดยเฉพาะภาคการเงิน สหราชอาณาจักรต้องสูญเสียการเข้าถึงตลาดสหภาพยุโรปและยังไม่มีความชัดเจนว่าในอนาคตทั้งสองฝ่ายจะตกลงอะไรได้หรือไม่ จึงดูเหมือนว่าภาคการเงินของสหราชอาณาจักรอาจเสียประโยชน์จาก Brexit ในขณะเดียวกันลักเซมเบิร์กซึ่งมีธุรกิจการเงินที่สำคัญอีกแห่งของยุโรปได้พยายามชูบทบาทของตนเองเพื่อขึ้นมาเป็นศูนย์กลางทางการเงินแห่งใหม่ในสหภาพยุโรปแทนสหราชอาณาจักร

ในเรื่องประมงซึ่งฝ่ายสหราชอาณาจักรมองว่าเป็นการทวงคืน ‘อธิปไตย’ กลับมาจากสหภาพยุโรป ท้ายสุดแล้วสหราชอาณาจักรต้องยอมให้ชาวประมงสหภาพยุโรปเข้ามาทำประมงในน่านน้ำสหราชอาณาจักรต่อไปอีกถึง 5 ปีครึ่ง โดยในมุมมองของฝ่ายสหภาพยุโรป อูร์ซูลา ฟอน แดร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวว่าเป็นความสำเร็จสำคัญประการหนึ่งของคณะผู้เจรจาสหภาพยุโรปที่สามารถรักษาสิทธิ์ให้กับชาวประมงสหภาพยุโรปได้ต่อไปอีก 5 ปีครึ่ง และหลังจากนั้น หากสหราชอาณาจักรปฏิเสธห้ามชาวประมงสหภาพยุโรปเข้าน่านน้ำ ฝ่ายสหภาพยุโรปก็สามารถตอบโต้ด้วยมาตรการทางการค้าได้ เช่น การขึ้นภาษีศุลกากร

อีกประเด็นที่อาจไม่ค่อยได้มีการพูดถึงกันคือสหราชอาณาจักรประกอบด้วยดินแดน 4 ส่วนคือ อังกฤษ ไอร์แลนด์เหนือ สกอตแลนด์ และเวลส์ โดยในการทำประชามติเรื่อง Brexit เมื่อปี 2016 ชาวสกอตแลนด์กว่า 62% โหวตสนับสนุนให้สหราชอาณาจักรอยู่ในสหภาพยุโรปต่อไป ดังนั้นจริงๆ แล้วคนสกอตแลนด์ส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการออกจากสหภาพยุโรป และความไม่พอใจเรื่อง Brexit นี้ก็ดูเหมือนจะทำให้คนสกอตแลนด์จำนวนมากขึ้นสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนสกอตแลนด์ออกจากสหราชอาณาจักร ดังนั้นจึงเป็นประเด็นที่น่าจับตามองว่าการถอนตัวของสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปจะส่งผลกระทบต่อการเมืองภายในของสหราชอาณาจักรหรือไม่อย่างไร

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

 

 * บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสะท้อนหรือสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X