×

เก้าอี้ที่ไร้คนนั่ง รายได้ที่เหลือศูนย์ ฮีโร่ที่จากไป ทบทวน 2020 ปีที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอล

28.12.2020
  • LOADING...
เก้าอี้ที่ไร้คนนั่ง รายได้ที่เหลือศูนย์ ฮีโร่ที่จากไป ทบทวน 2020 ปีที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอล

HIGHLIGHTS

8 mins. read
  • FIFA ประเมินตัวเลขมูลค่าความเสียหายของโควิด-19 ต่อวงการฟุตบอล อยู่ที่ 1.44 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 4.28 แสนล้านบาท
  • การขาดหายของแฟนบอลในสนามทำให้เกมฟุตบอลแตกต่างไปจากเดิม แม้ว่าจะมีความพยายามในการสร้างบรรยากาศอย่างสร้างสรรค์ด้วยการพรินต์ภาพแฟนบอลติดไว้บนเก้าอี้ หรือการดูผ่านระบบประชุมออนไลน์ แต่ก็ไม่สามารถทดแทนกันได้
  • นักฟุตบอลต้องประสบกับช่วงเวลาลำบาก ทั้งการรักษาสภาพความฟิตช่วงล็อกดาวน์ การซ้อมที่รีบเร่ง โปรแกรมแข่งขันที่อัดแน่น และการต้องยอมสูญเสียรายได้บางส่วนเพื่อช่วยเหลือสโมสรต้นสังกัด
  • ในความยากลำบาก เราได้เห็นโลกฟุตบอลยื่นมือเพื่อช่วยเหลือสังคม โดยเฉพาะ มาร์คัส แรชฟอร์ด ที่กลายเป็นฮีโร่ของชาวอังกฤษ จากการต่อสู้เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาหารของเด็กจำนวนนับล้านคน

หากจะบอกว่าปี 2020 คือขวบปีที่เลวร้ายและไม่น่าจดจำมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของเกมฟุตบอลก็ไม่น่าจะผิดนัก

 

จากจุดเริ่มต้นของการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างหนักในประเทศจีน ซึ่งเริ่มจากมณฑลอู่ฮั่นในช่วงปลายเดือนธันวาคมปีกลาย (2019) ไม่มีใครคาดคิดว่าโรคปริศนาที่ไม่มีใครทราบที่มาที่ไปจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงอย่างมากต่อโลกใบนี้ ซึ่งรวมถึงโลกของเกมฟุตบอลด้วย

 

 

โควิด-19 สามารถทำให้โลกฟุตบอลทั้งใบจำใจต้องหยุดหมุนอยู่กับที่เป็นระยะเวลาหลายเดือน เนื่องจากทั่วทั้งโลกจำเป็นที่จะต้องล็อกดาวน์เพื่อหยุดยั้งการติดเชื้อให้ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะแม้แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ฟุตบอลก็ยังสามารถแข่งขันกันได้บ้าง และฟุตบอลก็เป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจที่สำคัญของมนุษย์ในห้วงเวลาของความยากลำบากนั้น

 

สิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่า คือผลกระทบจากการที่ผู้คนจำเป็นต้องรักษาระยะห่างระหว่างกัน การรวมตัวกันของแฟนฟุตบอลเรือนพันหมื่นแสนนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมให้เกิดขึ้นได้ ซึ่งการทำเช่นนั้นไม่ต่างอะไรจากการปลิดลมหายใจของเกมฟุตบอลให้ตายลงไปอย่างช้าๆ

 

ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นจึงมีความร้ายแรงอย่างมาก 

 

มีอะไรบ้างนั้น? ลองมาทบทวนไปด้วยกันอีกครั้ง

 

 

ราคาที่โลกฟุตบอลต้องจ่ายร่วมกัน

ผลกระทบที่สืบเนื่องจากโควิด-19 มีต่อเกมฟุตบอลที่ทำให้นอกจากสโมสรต่างๆ จะขาดรายได้จากการจำหน่ายตั๋วเข้าชมการแข่งขัน การจำหน่ายสินค้าที่ระลึก รายได้จากสปอนเซอร์บางส่วน และอื่นๆ ที่อยู่ในระบบอุตสาหกรรมของเกมลูกหนัง ทางด้านสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ FIFA ได้คำนวณเอาไว้

 

โดยตัวเลขมูลค่าความเสียหายนั้นอยู่ที่ 1.44 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยได้ราว 4.28 แสนล้านบาท!

ตัวเลขนี้ ทางด้าน ออลลี เรห์น ประธานคณะกรรมการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ของ FIFA เปิดเผยว่าได้มาจากการคำนวณสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งเกมฟุตบอลเพิ่งจะสามารถกลับมาแข่งขันได้อีกครั้งในช่วงกลางปีตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา หลังจากที่ต้องพักการแข่งขันทั้งหมดอย่างสิ้นเชิงในช่วงต้นปี

 

หลักคิดนั้นมาจากการที่ปกติแล้ววงการฟุตบอลจะมีเงินสะพัดราว 4-4.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเมื่อคำนวณถึงการที่อุตสาหกรรมฟุตบอลหยุดชะงักเป็นเวลา 3-4 เดือน ก็จะคิดตัวเลขออกมาได้เป็นตัวเลขดังกล่าวนั่นเอง

 

“ฟุตบอลได้รับผลกระทบที่รุนแรงมากจากการระบาดของโควิด-19” เรห์นเผย “มันได้สร้างผลกระทบที่รุนแรงในหลายระดับกับสโมสรฟุตบอลอาชีพที่เผชิญช่วงเวลาของความยากลำบาก ผมกังวลถึงเรื่องของเกมในระดับเยาวชนและสโมสรในระดับดิวิชันต่ำๆ”

 

เพื่อเยียวยาแก่วงการฟุตบอลให้พอประคับประคองตัวเองได้ ทางด้าน FIFA ได้อนุมัติเงินงบประมาณราว 1.5 พันล้านดอลลาร์ เป็นกองทุนเยียวยาจากโควิด-19 เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาผ่านทางองค์กรฟุตบอลในระดับชาติหรือในระดับทวีป ซึ่งตามการเปิดเผยของเรห์น มีสมาคมฟุตบอลจำนวน 150 แห่งจากจำนวนสมาชิกทั้งหมด 211 แห่งที่ได้ยื่นคำร้องเพื่อขอความช่วยเหลือแล้วเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

 

ส่วนที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือเกมฟุตบอลในระดับรากหญ้าที่ถูกสั่งพักการแข่งยาวนาน และได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงโดยตรง ซึ่งหากเกมในระดับนี้มีปัญหา ในอนาคตจะส่งผลต่อเกมฟุตบอลในระดับสูงตามไปด้วย

 

อย่างไรก็ดี ทางด้าน FIFA ยอมรับว่าไม่สามารถที่จะช่วยเหลือเยียวยาวงการฟุตบอลได้ทั้งหมด 

 

โดยเฉพาะลีกฟุตบอลในภูมิภาคที่เดิมก็ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากอยู่แล้ว เช่นทางด้านละตินอเมริกา ขณะที่ทางด้านสมาคมสโมสรฟุตบอลยุโรป (European Club Association: ECA) เผยว่าตัวเลขมูลค่าความเสียหายของลีกฟุตบอลระดับชั้นนำจำนวน 20 แห่งจนจบฤดูกาล 2020/21 มีการประเมินเอาไว้ที่ 4.7 พันล้านดอลลาร์

FIFA ประเมินว่าความเสียหายนั้นอาจจะยิ่งรุนแรงมากขึ้นในปี 2021 โดยความหวังเดียวอยู่ที่การคิดค้นวัคซีนที่สามารถใช้ได้จริงและหยุดการระบาดของโรคนี้ได้

 

สิ่งที่วงการฟุตบอลทำได้ระหว่างนี้คือการประคับประคองดูแลกันไป

 

เท่าที่มีกำลังจะทำไหว

 

 

ไม่ใช่แฟนทำแทนไม่ได้

 

นอกเหนือจากเรื่องมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ คือการหายไปของแฟนฟุตบอลบนอัฒจันทร์ 

 

การหายไปของแฟนบอลทำให้แม้ว่าเกมฟุตบอลจะสามารถกลับมาทำการแข่งขันกันได้ (แบบยากลำบาก) แต่ ‘บรรยากาศ’ คือสิ่งที่หายไปอย่างชัดเจน และมันทำให้เราทุกคนได้ตระหนักว่าเสียงเชียร์หรือเสียงโห่ที่อื้ออึง การปลุกเร้า การให้กำลังใจนั้นเป็นสิ่งที่มีความหมายมากขนาดไหน

 

สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ทำให้เกมฟุตบอลมีชีวิตชีวา ไม่ใช่ร่างที่ไร้จิตวิญญาณ

 

ทั้งนี้แม้ว่าจะมีความพยายามที่น่ารักจากแฟนบอลและฝ่ายของทีมฟุตบอลต่างๆ ในการจะสร้างบรรยากาศขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการพรินต์ภาพของแฟนบอลเอาไปแปะไว้บนอัฒจันทร์ (ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากในเยอรมนี) หรือการติดตั้งจอภาพขนาดยักษ์เพื่อทำเป็นเหมือนอัฒจันทร์เสมือน (Virtual Stand) ให้แฟนบอลได้ล็อกอินผ่านระบบเทเลคอนเฟอเรนซ์เพื่อให้เหมือนมาชมเกมอยู่ข้างสนามจริงๆ

 

เสียงเชียร์ที่ให้แฟนบอลกดส่งผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ เพื่อร่วมกันสร้างบรรยากาศในสนามตามจังหวะและสถานการณ์ต่างๆ เช่น การปรบมือ การร้องเพลง หรือการโห่ฮา ก็ไม่ได้ช่วยอะไร

 

เพราะมันไม่ใช่ของจริง

 

ดังนั้นการได้เห็นภาพของแฟนบอลที่ได้กลับเข้าสู่สนามบางส่วน ไม่ว่าจะในพรีเมียร์ลีก ซึ่งเพิ่งมีการอนุญาตในช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา (และปัจจุบันเหลือเพียงแค่ 2 สโมสรที่ได้รับอนุญาต เพราะเมืองมีจำนวนผู้ติดเชื้อที่รับได้) ภาพของแฟนบอลเหล่านี้จึงมีความหมายมาก

 

แม้การได้ตั๋วจะยากเย็น แม้การเดินทางมาจะลำบากแค่ไหน แม้ว่าจะต้องปฏิบัติตามมาตรการที่เข้มงวดเพียงใด แฟนบอลเหล่านี้ไม่ต่างอะไรจากประกายความหวัง

 

หวังว่าสักวันหนึ่งเราจะได้กลับมาเชียร์ฟุตบอลกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาอีกครั้ง

 

ตัวอย่างวิธีการซ้อมของนักฟุตบอลทีมอาร์เซนอล ในช่วง Project Restart ก่อนการกลับมาแข่งขันฤดูกาล 2019/20 อีกครั้ง

 

นักฟุตบอลกับช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุด

 

ไม่ใช่เพียงเฉพาะแค่แฟนฟุตบอลที่ได้รับผลกระทบ เพราะคนที่ลำบากไม่แพ้กันคือนักฟุตบอล

 

ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ชีวิตของพวกเขาไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป และต้องเผชิญกับความยากลำบากตั้งแต่ช่วงของการล็อกดาวน์ที่ต้องพยายามรักษาสภาพความฟิตของร่างกายเอาไว้ ซึ่งโชคดีที่มีเทคโนโลยีประชุมทางไกลที่ก้าวหน้า ทำให้สามารถแยกกันฝึกซ้อมตามบ้านของแต่ละคนได้เอง

 

แต่การซ้อมแบบนั้นอย่างไรเสียก็ไม่เหมือนกับการซ้อมโดยปกติ และที่แย่กว่านั้นคือ เมื่อเวลาผ่านมาระยะหนึ่งพวกเขาถูกบีบให้ตัดสินใจในการกลับมาลงสนามเพื่อให้ทันตามกำหนดระยะเวลา ทั้งๆ ที่ยังไม่มีใครสามารถรับประกันความปลอดภัยได้

 

เรื่องนี้จึงเป็นดราม่าอยู่ระยะหนึ่ง เพราะมีนักฟุตบอลบางส่วนที่ไม่อยากกลับมาซ้อมเพราะไม่มั่นใจในความปลอดภัย และกังวลว่าอาจจะนำเชื้อโควิด-19 มาติดสมาชิกในครอบครัว เช่น ทรอย ดีนีย์ กัปตันทีมวัตฟอร์ดที่กลัวลูกชายซึ่งมีปัญหาเรื่องปอดจะติดเชื้อ

 

ผ่านดราม่ามาได้ เมื่อถึงคราวต้องลงสนามจริงก็มีปัญหาอีก เพราะช่วงเวลาที่หยุดพักการแข่งทุกอย่างนานถึง 3 เดือน ทำให้ระยะเวลาในการเตรียมตัวเหลือน้อยมาก ระยะเวลาในการแข่งก็เร่งรีบ กระชั้นไปหมด เพื่อให้ทันกำหนดการและให้ปฏิทินการแข่งขันสามารถดำเนินต่อไปได้

 

สิ่งเหล่านี้ทำให้นักฟุตบอลประสบปัญหาอาการบาดเจ็บมากมาย และเริ่มมีการพูดถึงสวัสดิภาพของนักฟุตบอลกันอย่างกว้างขวางมากขึ้น โดยหนึ่งในคนที่ออกมาส่งเสียงเรื่องนี้คือ เจอร์เกน คล็อปป์ ผู้จัดการทีมลิเวอร์พูล หนึ่งในทีมที่ประสบปัญหาอาการบาดเจ็บของผู้เล่นมากที่สุด

 

นอกจากเรื่องปัญหาอาการบาดเจ็บแล้ว นักฟุตบอลเองยังได้รับผลกระทบในเรื่องของรายได้ที่ลดลง ซึ่งมีทั้งการยอมลดค่าเหนื่อยเป็นการชั่วคราว หรือการเลื่อนการรับค่าเหนื่อยออกไปก่อน หรือมากที่สุดคือการยอมลดค่าเหนื่อยลงเป็นการถาวร ซึ่งหลายสโมสรจำเป็นต้องลดค่าเหนื่อยลงมหาศาลกว่า 70% ก็มี (เช่น บาร์เซโลนา) เพื่อให้สโมสรยังไปรอด และสามารถช่วยเหลือพนักงานลูกจ้างของสโมสรไม่ให้ต้องได้รับผลกระทบไปด้วย

 

ดังนั้น ไม่ผิดอะไรหากจะบอกว่า 2020 คือขวบปีที่ทดสอบนักฟุตบอลอาชีพทุกทาง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกำลังกาย กำลังใจ และกำลังทรัพย์

 

แต่ในวันที่มืดมิด เราก็ได้เห็นแสงสว่างที่เกิดขึ้น และมันก็สุกสกาวอยู่ไม่น้อย

 

 

ซูเปอร์ฮีโร่ลูกหนัง ความหวังในวันที่มืดมิด

 

เมื่อโควิด-19 ทำให้โลกจมลงสู่ความมืดมนอนธการ มีผู้คนได้รับผลกระทบ หลายคนเผชิญความยากลำบากในชีวิตเข้าขั้นสาหัสที่สุด เราก็ได้เห็นน้ำใจจากเกมฟุตบอลที่ยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือทุกภาคส่วนในสังคม

 

โดยในขณะที่สโมสรฟุตบอลต่างๆ ได้พยายามให้ความช่วยเหลือแก่ชุมชนที่ปกติแล้วเคยเป็นผู้ที่สนับสนุนสโมสรเสมอมา ไม่ว่าจะในเรื่องของการช่วยเหลือด้านอาหาร สิ่งของเครื่องใช้ ไปจนถึงการอนุญาตให้ใช้สนามฟุตบอลเพื่อใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติการทางการแพทย์

 

ทางด้านนักฟุตบอลเองก็ได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคม ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม เปิดเผยหรือปิดบัง

 

หนึ่งในคนที่พยายามอย่างเต็มที่ในการช่วยเหลือสังคมคือ มาร์คัส แรชฟอร์ด กองหน้าจากทีม ‘ปีศาจแดง’ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่พยายามเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการต่อสู้กับเรื่องปากท้องของผู้ยากไร้ในอังกฤษ โดยเฉพาะเด็กๆ ซึ่งตกอยู่ในความยากลำบากในช่วงของการล็อกดาวน์ที่ไม่สามารถไปรับอาหารฟรีที่โรงเรียนได้

 

จากการระดมทุนทำให้แรชฟอร์ดสามารถหาเงินได้ถึง 20 ล้านปอนด์ที่นำไปใช้จ่ายเป็นมื้ออาหารได้ถึง 3 ล้านมื้อ และจากนั้นยังต่อสู้เพื่อโน้มน้าวใจให้รัฐบาลพยายามยื่นมือมาช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ด้วย ซึ่งมีผู้มาร่วมลงชื่อสนับสนุนมากกว่า 1 ล้านคน และทำให้รัฐบาลอังกฤษต้องเปลี่ยนท่าทีให้การช่วยเหลือทันที

 

ที่แรชฟอร์ดพยายามมากขนาดนี้เป็นเพราะในวัยเด็กเคยประสบกับชีวิตที่ยากลำบากอย่างมาก และรู้ดีว่าเรื่องคูปองอาหารฟรีที่จะให้เด็กๆ ได้ทานอาหารฟรีที่โรงเรียนนั้นมีความหมายมากขนาดไหน

 

ความพยายามของเขาทำให้โลกยกย่อง และได้รับรางวัลพิเศษ ‘บุคคลกีฬาแห่งปี’ จาก BBC และเป็นการจุดประกายให้โลกได้เห็นว่านักฟุตบอลเองก็สามารถที่จะยื่นมือช่วยเหลือสังคมได้

 

 

ฮีโร่ลูกหนังคนเก่าผู้จากไป

เมื่อมีการพบพานก็ย่อมมีการจากลา และปี 2020 นี้เป็นปีที่โลกฟุตบอลได้สูญเสีย ‘ฮีโร่’ ผู้เป็นที่รักมากมายหลายคน

 

ความสูญเสียที่สะเทือนใจมากที่สุดคือการจากไปของ ดิเอโก มาราโดนา เทพเจ้าลูกหนังชาวอาร์เจนไตน์ที่เสียชีวิตด้วยอาการของโรคหัวใจไปเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน และสร้างความโศกเศร้าให้แก่คนทั้งโลก เพราะถือเป็นหนึ่งในนักฟุตบอลผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล เทียบเท่ากับเปเล ราชาลูกหนังโลกชาวบราซิล

 

ที่อาร์เจนตินาถึงขั้นมีคำสั่งจากประธานาธิบดีให้ลดธงลงครึ่งเสาเป็นระยะเวลา 3 วันเพื่อไว้อาลัยเลยทีเดียว

 

ในเวลาใกล้เคียงกัน วีรบุรุษของชาวอิตาลี เปาโล รอสซี ยอดศูนย์หน้าผู้พาทีม ‘อัซซูรี’ คว้าแชมป์ฟุตบอลโลกในปี 1982 ก็เสียชีวิตด้วยเช่นกัน ฉีกหัวใจของชาวเมืองมะกะโรนีเป็นริ้วๆ เพราะถือเป็นหนึ่งในนักฟุตบอลที่ชาวอิตาลีรักมากที่สุด

 

ขณะที่ชาวอังกฤษต้องสูญเสียฮีโร่ชุดแชมป์ฟุตบอลโลก 1966 ถึง 2 คนด้วยกันคือ แจ็ค ชาร์ลตัน และน็อบบี สไตล์ส และทำให้เกิดการรับรู้เกี่ยวกับปัญหาของโรคความจำเสื่อมที่เกิดจากการโหม่งฟุตบอล

 

อีกหนึ่งอดีตนักเตะผู้โด่งดังที่จากไปคือ ปาปา บูบา ดิย็อป อดีตกองกลางจอมแกร่งทีมชาติเซเนกัล ผู้เป็นขวัญใจแฟนบอลทีม ‘สิงโตแห่งเตรังกา’ ที่ล้มป่วยมานานหลายปีก่อนเสียชีวิต

 

เรียกได้ว่าเป็นปีที่ความเศร้าถาโถมใส่หัวใจของคนที่รักเกมลูกหนังจนแทบอยากจะบอกว่า ‘เบาได้เบา’ กันเลยทีเดียว

 

และนี่คือบางส่วนของเรื่องราวในเกมฟุตบอลปี 2020 ซึ่งเป็นปีที่แทบไม่มีใครอยากจดจำ

 

เพียงแต่บางครั้ง ‘บทเรียน’ ที่มีค่ามากที่สุด ก็เกิดขึ้นจากช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดเช่นกัน 

 

มันจะช่วยทำให้เราได้กลับมาทบทวนทุกสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อที่จะมองหาความหวังสำหรับวันพรุ่งนี้ต่อไป

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X