การระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย กลับมารุนแรงขึ้นอย่างไม่คาดคิดมาก่อน หลังมีรายงานพบผู้ติดเชื้อในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งมีประวัติการทำงานที่ตลาดกลางกุ้ง ซึ่งหลังจากเหตุการณ์นี้ทำให้กระทรวงสาธารณสุขได้เข้าตรวจเชิงรุก โดยเฉพาะแฟลตตลาดกลางกุ้ง ซึ่งพบผู้ติดเชื้อที่เป็นแรงงานต่างด้าว 516 ราย ข้อมูล ณ วันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม 2563 โดยในวันนั้นมีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่รวมทั้งสิ้น 576 รายซึ่งทำสถิติสูงสุดนับจากวันที่ 28 มีนาคม 2563 ซึ่งอยู่ที่ 188 ราย ขณะที่วันนี้ (21 ธันวาคม 2563) พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เป็นแรงงานต่างด้าว 360 ราย ติดเชื้อในประเทศ 14 ราย และจากสถานกักกันที่รัฐจัดให้ 8 ราย รวมทั้งสิ้น 382 ราย
โดยเช้าวันนี้ตลาดหุ้นไทย (SET Index) ปรับตัวลงทำจุดต่ำสุดระหว่างวันที่ 1,427.82 จุด จากวันก่อนหน้าที่ระดับ 1,482.38 จุด และปิดช่วงเช้าที่ระดับ 1,437.01 จุด ลดลง 45.37 จุด หรือลดลง 3.06%DoD
มุมมองต่อตลาดหุ้นไทย:
SCBS คาดว่า ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่จะกระทบต่อ Sentiment การลงทุนจนกว่าจะสามารถควบคุมการระบาดได้ ขณะที่ด้าน Downside ของการลงทุนจะขึ้นอยู่กับมาตรการควบคุม หากไม่เข้มงวดมาก ผลกระทบต่อการลงทุนก็จะไม่สูงมาก
นอกจากนี้หุ้นที่มีความคาดหวังสูงจากการเปิดประเทศและกิจกรรมเศรษฐกิจของไทยจะได้รับผลกระทบสูง อาทิ กลุ่มโรงแรม ศูนย์การค้า กลุ่มค้าปลีก กลุ่มสายการบิน กลุ่มขนส่งทางบกและทางราง รวมถึงกลุ่มธนาคาร ทั้งนี้ หากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ยังคงดำเนินต่อ หุ้นที่จะได้รับผลกระทบอย่างจำกัดได้แก่ กลุ่มพลังงาน (PTTEP, TOP) กลุ่มบรรจุภัณฑ์ (SCGP, PTL) กลุ่มผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์การแพทย์ (IP, STGT) กลุ่มเครื่องดื่ม (CBG)
ทั้งนี้ SCBS ได้ศึกษาพฤติกรรมของตลาดหุ้นต่างประเทศที่มีการระบาดรอบที่ 2 อย่างเช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา พบว่าสัปดาห์ให้หลังจากการระบาดรอบที่ 2 ตลาดหุ้นมีการปรับตัวลงเฉลี่ย 2.4% และจะฟื้นตัวอย่างจำกัด โดยขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ป่วยรายใหม่และความสามารถในการควบคุมการแพร่ระบาด โดยในสัปดาห์ที่ 4 หลังจากเกิดการระบาด ตลาดหุ้นทั้งสามสามารถปรับตัวขึ้นมาสูงกว่าก่อนระดับการระบาดได้ (ซึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นและความคืบหน้าวัคซีนต้านโควิด-19)
มุมมองต่อเศรษฐกิจไทย:
SCBS มองว่า ผลกระทบของประเด็นนี้จะมาจาก 2 เรื่อง ได้แก่ 1. ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังตัวเอง ซึ่งจะมีผลกระทบในวงกว้าง และ 2. มาตรการควบคุมของทางการ ซึ่งผลกระทบจะขึ้นกับขอบเขตพื้นที่ควบคุมและระดับความเข้มข้นของมาตรการ
แต่อย่างไรก็ตามผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในครั้งนี้จะไม่รุนแรงมากนักเมื่อเทียบกับการระบาดรอบแรก เนื่องจากภาคเอกชนได้เตรียมรับมือมาแล้วในระดับหนึ่งจากการแพร่ระบาดรอบแรก ขณะที่ภาคประชาชนจะมีความตระหนักและให้ความร่วมมือกับรัฐบาลมากขึ้น ทั้งนี้ หากรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ที่เข้มงวดใกล้เคียงกับครั้งที่แล้ว ภาครัฐน่าจะมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพื่อบรรเทาผลกระทบและจะทำให้ทิศทางเศรษฐกิจใน 4Q63 ถึง 1Q64 ไม่หดตัวมากนัก
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล