จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อโลกไม่มีกีฬา? เมื่อถึงสุดสัปดาห์และเรามองไปที่ปฏิทินออนไลน์หรือเว็บไซต์ข่าวสาร โดยที่เราไม่พบโปรแกรมการแข่งขันของกีฬาชนิดโปรดของเรา ไม่มีความเคลื่อนไหวจากผลของการแข่งขันที่เคยเกิดขึ้นทุกๆ สัปดาห์ ไม่มีวินาทีตัดสินชัยชนะในแต่ละสนามให้เราได้ติดตามรับชม
แต่ในปี 2020 เหมือนกับที่หลายอุตสาหกรรมพูดตรงกันว่า “อะไรที่ไม่เคยคิดว่าจะได้เห็นก็ได้เห็น” โดยเฉพาะกีฬาที่ทยอยปิดการแข่งขันในช่วงกลางปี หลังจากที่โควิด-19 แพร่กระจายไปทั่วโลก
กีฬาจึงพบเจอกับความท้าทายครั้งใหญ่ทั้งในด้านของคุณค่า ความหมาย และรายได้ จนถูกผลักจากวิกฤตสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
Patient Zero รูดี โกแบร์, มิเกล อาร์เตตา จุดเปลี่ยนที่ทำให้ลีกชั้นนำของโลกตัดสินใจเลื่อนแข่ง
So…here is Rudy touching all the mics following Mondays shoot around that has some people concerned… #TakeNote #utahjazz #CoronaVirus pic.twitter.com/dr4auECTr4
— Dave Fox (@Davefox2) March 12, 2020
รูดี โกแบร์ ตัดสินใจล้อเลียนมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดด้วยการเอามือลูบไมค์ของผู้สื่อข่าวทั้งหมด ก่อนที่เขาจะถูกตรวจพบเชื้อในวันต่อมา
แม้ว่า รูดี โกแบร์ จะไม่ใช่นักกีฬาคนแรกในโลกที่ติดโควิด-19 แต่ท่าทีของเขาที่มีต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นสิ่งที่ยังคงติดตาทุกคนที่ได้เห็นภาพ
เมื่อวันที่ 11 มีนาคม รูดี โกแบร์ นักบาสเกตบอล NBA ของทีมยูทาห์ แจ๊ส ผู้คว้ารางวัลผู้เล่นเกมรับยอดเยี่ยม หรือ 2019 Defensive Player of the Year ภายในช่วงเวลาที่ทุกฝ่ายกังวลต่อพฤติกรรมที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดจากสารคัดหลั่ง เขาตัดสินใจล้อเลียนความกังวลของหลายฝ่ายด้วยการเอามือจับไมโครโฟนของสื่อทุกสำนักที่เข้าร่วมการแถลงข่าว
ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานทางยูทาห์ แจ๊ส ก็ได้ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า มีนักกีฬาภายในทีมถูกตรวจพบโควิด-19 และมีรายงานออกมาภายหลังว่าคือ รูดี โกแบร์ จนนำไปสู่การเลื่อนการแข่งขันเกมระหว่างยูทาห์ แจ๊ส และโอกลาโฮมา ซิตี้ ทันเดอร์ และต่อจากนั้นแม้ว่า NBA จะตั้งใจเดินหน้าแข่งขันต่อโดยไม่มีแฟนกีฬาเข้าชมการแข่งขันเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด แต่หลังจากที่นักกีฬาถูกตรวจพบเชื้อ ก็มีโอกาสสูงที่การแข่งขันจะนำพามาสู่การติดเชื้อเพิ่มขึ้นของนักกีฬา จนสุดท้ายในวันที่ 12 มีนาคม NBA ก็ตัดสินใจระงับการแข่งขันในฤดูกาล 2020 ออกไปจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น
ข้ามทวีปมาในวันเดียวกัน ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษที่สถานการณ์โดยรอบเกิดการแพร่ระบาดขึ้นทั่วยุโรป และในอังกฤษที่มียอดผู้ติดเชื้อรายวันสูงขึ้นเรื่อยๆ ลีกฟุตบอลที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลกก็พบเจอกับผู้ติดเชื้อคนแรกในสนาม ซึ่งก็คือ มิเกล อาร์เตตา ผู้จัดการทีมอาร์เซนอล
ซึ่งจากรายงานของสื่อต่างประเทศคาดการณ์ว่า อาร์เตตาติดเชื้อจาก เอวานเจลอส มารินาคิส เจ้าของสโมสรโอลิมเปียกอส ที่มีรายงานว่าถูกตรวจพบโควิด-19 ก่อนหน้านั้น
ผลที่ตามมาคือสโมสรเชลซีได้ประกาศว่า คัลลัม ฮัดสัน-โอดอย ตัวทำเกมดาวรุ่งของทีมถูกตรวจพบเชื้อเช่นเดียวกัน และวันต่อมา (13 มีนาคม 2020) ทางพรีเมียร์ลีกได้เรียกประชุมด่วนเพื่อหาทางรับมือจากการติดเชื้อของนักเตะภายในลีก จนได้ข้อสรุปว่าต้องเลื่อนการแข่งขันออกไปถึงวันที่ 3 เมษายน
แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศกลับไม่ดีขึ้น เช่นเดียวกับสถานการณ์ทั่วโลก ส่งผลให้วันที่ 4 เมษายน หลังจากการประชุมทางไกล พรีเมียร์ลีกก็ตัดสินใจเลื่อนการแข่งขันออกไปอย่างไม่มีกำหนด จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น
NBA พรีเมียร์ลีก โอลิมปิก วันที่ทุกอย่างเข้าสู่ความท้าทายครั้งใหญ่
นับตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมเป็นต้นมา ลีกการแข่งขันกีฬาตั้งแต่ระดับเยาวชนถึงลีกอาชีพชั้นนำต่างก็ประกาศระงับหรือเลื่อนการแข่งขันออกไปอย่างไม่มีกำหนด เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ลุกลามไปทั่วทุกมุมโลก
โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 24 มีนาคม คณะกรรมการโอลิมปิกสากลร่วมกับรัฐบาลญี่ปุ่น แถลงร่วมกันตัดสินใจเลื่อนการแข่งขันออกไปเป็นเวลา 1 ปีอย่างเป็นทางการ
ส่งผลให้โอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียว กลายเป็นโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของการแข่งขันสมัยใหม่ที่ถูกเลื่อนออกไปเป็นเวลาหนึ่งปีอย่างเป็นทางการ
ผลกระทบของการเลื่อนแข่งขันโอลิมปิก 2020 ออกไปเป็นเวลา 1 ปี เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
ผลของสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ทำให้เกิดคำถามต่างๆ ก่อตัวขึ้นโดยรอบอุตสาหกรรมกีฬา โดยเฉพาะมหกรรมโอลิมปิกที่ต้องแช่แข็งความพร้อมไปอุ่นร้อนใหม่ให้พร้อมสำหรับจัดการแข่งขันในปี 2021
เบื้องต้นจากการรายงานของสื่อต่างประเทศเปิดเผยว่า กรุงโตเกียวได้ลงทุนงบประมาณจัดการแข่งขันไปแล้ว 1.2 หมื่นล้านดอลลาห์สหรัฐ สำหรับการแข่งขันในปี 2020 ซึ่งการตัดสินใจเลื่อนการแข่งขันส่งผลให้ทางเจ้าภาพอาจต้องลงทุนเพิ่มอีกเท่าตัว เพื่อขั้นตอนของการเลื่อนการแข่งขันเป็นครั้งแรก และจะทำให้โอลิมปิกฤดูร้อนที่กรุงโตเกียวกลายเป็นมหกรรมกีฬาที่ลงทุนสูงที่สุดในประวัติศาสตร์
นอกจากนี้ทางฝ่ายจัดการแข่งขันยังต้องปรับโปรแกรมตั้งแต่การควอลิฟายด์การแข่งขัน เปิดช่องทางสำหรับกำหนดการเรื่องอายุของนักกีฬาต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการเลื่อนออกไป 1 ปี
การขอคืนเงินค่าตั๋วเข้าชมการแข่งขันสำหรับแฟนกีฬาที่ตัดสินใจยกเลิกการเข้าร่วม รวมถึงการบริหารจัดการที่พัก ตั๋วเครื่องบิน และรายละเอียดต่างๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ในการตัดสินใจเลื่อนการแข่งขัน เป็นปัญหาที่ไม่มีใครคาดถึง นับเป็นการก้าวเข้าสู่พื้นที่ที่ไม่เคยมีใครเคยสำรวจหาแผนการรองรับมาก่อนในระยะเวลาอันสั้น
เช่นเดียวกับโอลิมปิก การแข่งขันลีกกีฬาตามฤดูกาลตั้งแต่ฟุตบอล เทนนิส บาสเกตบอล กอล์ฟ และกีฬาอีกหลากหลายชนิด พบเจอกับการแก้ไขปัญหาเรื่องของลิขสิทธิ์และสัญญาต่างๆ ที่สโมสรมีกับนักกีฬาในประเภททีม
เริ่มจากพรีเมียร์ลีกที่ต้องมีการประชุมกันหลายครั้งระหว่างสโมสร เพื่อหาทางกลับมาลงแข่งขันฤดูกาล 2019/20 ต่อให้จบ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องของลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด ซึ่งอาจเกิดค่าเสียหายมูลค่ามหาศาลเมื่อฤดูกาลต้องถูกยกเลิกหรือแข่งไม่จบครบตามสัญญา รวมถึงสัญญาของนักเตะกับสโมสรต้นสังกัดที่ต้องขยายช่วงเวลากันออกไป เพื่อให้นักเตะสามารถลงแข่งขันจนจบฤดูกาลได้
ฝั่งของเทนนิสต้องเกิดการปรับโปรแกรมการแข่งขันครั้งใหญ่ โดยเฉพาะรายการระดับแกรนด์สแลมที่ต้องย้ายศึกเฟรนช์โอเพนมาแข่งขันในช่วงปลายปี ขณะที่วิมเบิลดันได้ประกาศยกเลิกการแข่งขันอย่างเป็นทางการ โดยนับเป็นการประกาศยกเลิกการแข่งขันเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2
ขณะที่ศึกฟอร์มูลาวันต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อการแข่งขันที่ต้องเดินทางไปทั่วโลกตลอดทั้งปี และต้องเดินทางสัปดาห์ต่อสัปดาห์ไปยังทวีปต่างๆ ไม่สามารถทำได้ พวกเขาจึงต้องยกเลิกการแข่งขันรายการต่างๆ ทั่วโลก และกลับมาจัดการแข่งขันแบบปิด ไม่ให้แฟนกีฬาเข้าชมในทวีปยุโรปเพียงเท่านั้นในฤดูกาล 2020
สุดท้ายแม้ว่าอุตสาหกรรมกีฬาทั่วโลกจะพบเจอกับอุปสรรคมากมายในการพักหรือระงับการแข่งขัน แต่เสียงที่สะท้อนเหตุผลของการตัดสินใจยุติทุกการแข่งขันได้ดีที่สุดคือคำพูดของ เจอร์เกน คล็อปป์ กุนซือลิเวอร์พูล ซึ่งกำลังอยู่ในเส้นทางลุ้นแชมป์ลีกสูงสุดของอังกฤษเป็นสมัยแรกในรอบ 30 ปีว่า
“อย่างแรกเลยคือเราต้องทำทุกอย่างที่สามารถทำได้ เพื่อปกป้องกันและกันในสังคม นี่ควรเป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญตลอดเวลาในชีวิต ผมบอกแล้วว่าฟุตบอลคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในสิ่งที่สำคัญน้อยที่สุด แล้ววันนี้ฟุตบอลและการแข่งขันฟุตบอลไม่ใช่สิ่งที่สำคัญเลย
“แน่นอนเราไม่อยากเล่นฟุตบอลในสนามที่ว่างเปล่า และเราไม่อยากให้เกมหรือการแข่งขันถูกยกเลิก แต่ถ้าเป็นสิ่งที่เราต้องทำเพื่อช่วยให้ทุกคนมีสุขภาพที่แข็งแรง แม้ว่าจะช่วยได้เพียงคนเดียว เราจะทำมันโดยไม่ตั้งคำถามใดๆ”
เรียนรู้ ปรับตัว และสนับสนุนการก้าวต่อไปของสังคม
เมื่อการแข่งขันกีฬาชั้นนำของโลกหยุดการแข่งขันลง สิ่งที่หลงเหลืออยู่คือการพยายามรักษาความแข็งแรงของนักกีฬา และการหันหน้ามาช่วยเหลือสนับสนุนสังคมให้ก้าวต่อไปในการต่อสู้กับวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19
เริ่มต้นจากตัวของนักกีฬาทั่วทุกมุมโลก หลังจากที่เกิดวิกฤตการแพร่ระบาดขึ้น การแข่งขันต้องถูกเลื่อน และสนามกีฬาต้องถูกปิด ทำให้เกิดโครงการที่เรียกว่า Train from Home ขึ้นทั่วทุกมุมโลก เราได้เห็นนักกีฬาว่ายน้ำซ้อมจากสระขนาดเล็กจากบ้าน จนถึงการที่นักแข่งฟอร์มูลาวันต้องปรับมาแข่งขันในเกมออนไลน์แทน
ทั้งหมดนี้ก็เพื่อรักษาสมาธิและความฟิต เพื่อความพร้อมสำหรับวันที่สามารถกลับมาแข่งในสนามได้อีกครั้ง
แต่แน่นอนว่าความผิดพลาดสามารถเกิดขึ้นได้ เมื่อนักกีฬาต้องมาแข่งขันในโลกออนไลน์แทน
ขณะที่ เมอรินดา คาร์เฟร นักไตรกีฬาชาวออสเตรเลีย อดีตแชมป์โลกไตรกีฬา Ironman กำลังแข่งขัน Ironman VR Pro Challenge ประเภทหญิง ผ่านระบบออนไลน์ และ ทิม โอดอลเนล สามีและนักไตรกีฬา เดินเข้ามาอวดถ้วยรางวัลของเธอกับนักแข่งคนอื่นๆ ก่อนจะพลาดเตะปลั๊กจักรยานที่เชื่อมต่อกับระบบออนไลน์หลุด จนพลาดโอกาสทำผลงานที่ดีไปอย่างน่าเสียดาย
พลาดแชมป์! นักแข่งไตรกีฬาถูกตัดออกจากการแข่งขัน VR หลังสามีเตะปลั๊กหลุด
ขณะที่นักกีฬาบางส่วนก็ปรับตัวมาหารายได้เสริมจากวันที่กีฬาหยุดแข่งขัน เช่น เรียว มิยาเกะ นักฟันดาบโอลิมปิกชาวญี่ปุ่น เจ้าของเหรียญเงินโอลิมปิก ปี 2012 ที่กรุงลอนดอน ได้ตัดสินใจปรับตัวมาหารายได้เพิ่มในช่วงที่การแข่งขันโอลิมปิกถูกเลื่อนออกไป ด้วยการขี่จักรยานส่ง Uber Eats
เรียว มิยาเกะ นักฟันดาบโอลิมปิกญี่ปุ่น ผันตัวสร้างรายได้ปั่นจักรยานส่ง Uber Eats
นอกจากการปรับตัวเพื่อฟิตซ้อมและหารายได้มาทดแทนแล้ว นักกีฬาหลายคนยังรวมตัวกันหันมาสนับสนุนภาคส่วนต่างๆ ของสังคม เริ่มตั้งแต่นักเตะในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ที่รวมตัวกันกว่า 150 คน สร้างกลุ่ม Player Together ระดมทุนช่วยเหลือระบบบริการสาธารณสุขแห่งชาติของอังกฤษ (NHS) ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการต่อสู้และป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศ
สโมสรชื่อดังทั้งลิเวอร์พูลและแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ต่างก็เปิดสนามกีฬาและศูนย์ฝึกต่างๆ เป็นพื้นที่สำหรับการแจกจ่ายอาหาร รวมถึงให้การสนับสนุนธนาคารอาหารภายในประเทศ
นอกจากนี้นักแข่งฟอร์มูลาวันชื่อดังอย่าง ชาร์ลส์ เลอแคลร์ นักขับทีมเฟอร์รารี ใช้ทักษะการขับอาสาขับรถส่งอาหารและข้าวของเครื่องใช้ให้กับสภากาชาดของโมนาโก
ส่วนฝั่งของเมอร์เซเดส, เรดบูลล์, รีนอลต์, วิลเลียมส์, แมคลอเรน, เรซซิงพอยต์ และฮาส ทีมฟอร์มูลาวันต่างๆ ในประเทศอังกฤษ ได้รวมตัวกันนำเอานวัตกรรม เทคโนโลยี และความรู้ของทีมวิศวกร ที่ต้องพัฒนาปรับตัวอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงสำหรับการแข่งขันมาปรับใช้เพื่อผลิตเครื่องช่วยหายใจให้กับผู้ป่วยโควิด-19 ภายใต้ Project Pitlane
เผยโฉมเครื่องช่วยหายใจของ Project Pitlane ภารกิจต่อลมหายใจผู้ป่วยโควิด-19 จากความร่วมมือของฟอร์มูลาวันและรัฐบาลอังกฤษ
ในส่วนของประเทศไทย โครงการหนึ่งที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในช่วงวิกฤตโควิด-19 คือโปรเจกต์จากสมาคมกีฬาเพาะกายแห่งประเทศไทย ซึ่งเปิด Facebook Group ที่มีชื่อว่า Six Pack Challenge
โดยโครงการนี้ได้รับความนิยมจากประชาชนทั่วไป ด้วยไอเดียที่สมาคมอยากให้ทุกคนสร้างความฟิตด้วยการออกกำลังกายจากที่บ้าน ในโปรแกรมที่ออกแบบและสอนโดยนักกีฬาเพาะกายที่ทีมชาติไทย โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ในการออกกำลังกายและ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมโครงการ ซึ่งสุดท้ายแล้วมีผู้เข้าร่วมโครงการหลายพันคน
ในช่วงเวลานี้จึงเป็นภาพสะท้อนว่าเมื่อวันที่ไม่มีกีฬาแข่งนักกีฬา แต่อุตสาหกรรมกีฬาก็ยังสามารถถอยหลังกลับมาเป็นแรงสนับสนุนให้ภาคส่วนต่างๆ ของสังคมเดินหน้าต่อสู้วิกฤตร่วมกันไปได้
กีฬากับการกลับมาแบบ New Normal
“ช่วงเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา เหมือนทุกคนผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 ปีในสถานการณ์ปกติ ให้สามารถนำมาใช้งานในอุตสาหกรรมกีฬาอย่างรวดเร็ว” คือส่วนหนึ่งของคำพูดจาก เทย์เลอร์ บลูม CEO & Co-founder ของเว็บไซต์ Sportechie ในการเสวนาร่วมหาทางให้วงการกีฬากลับมาแข่งขันในสนามที่มีแฟนกีฬาเข้าชมแบบ New Normal หลังวิกฤตโควิด-19
เป็นประโยคที่สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นเพื่อรับมือการวิกฤตการแพร่ระบาด เนื่องจากที่ผ่านมาเป้าหมายสำคัญของกีฬาคือการรวมตัวของผู้คนเพื่อร่วมกันสนับสนุนทีมหรือนักกีฬา แต่เมื่อเป้าหมายนั้นกลายเป็นเรื่องอันตรายท่ามกลางการแพร่ระบาด การปรับตัวเพื่อความอยู่รอดจึงเริ่มต้นขึ้น
หลังจากที่ช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน กีฬาชั้นนำของโลกต่างทยอยเลื่อนจนไปถึงยกเลิกการแข่งขันในฤดูกาลปกติ
บางประเทศที่สามารถรับมือกับวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงได้เริ่มต้นหาทางกลับมาแข่งขันแบบ New Normal
‘แฟนกีฬากระดาษ’ ทางเลือกใหม่ในการกลับมาของลีกเบสบอลเกาหลีใต้ในช่วงโควิด-19
เริ่มต้นจากฝั่งของไต้หวัน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ที่เริ่มต้นแข่งขันกีฬาเบสบอลลีกภายในประเทศแบบปิด โดยไม่ให้แฟนกีฬาเข้าชม ซึ่งมีการเปิดโมเดลต่างๆ ทั้งการตรวจเชื้อนักกีฬาก่อนเข้าแข่งขัน จนถึงการให้สวมใส่หน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างของนักกีฬา จนสุดท้ายได้เริ่มต้นเปิดให้แฟนกีฬาเข้าได้บางส่วน แต่ยังคงต้องเว้นระยะห่างระหว่างการรับชมในสนาม
ซึ่งโมเดลนี้ถือว่าเป็นต้นแบบสำคัญที่หลายชนิดกีฬาเลือกใช้ โดยทางบุนเดสลีกา เยอรมัน ได้ศึกษาโมเดลต่างๆ ก่อนจะนำมาปรับใช้ และทำให้พวกเขากลายเป็นลีกฟุตบอลชั้นนำของยุโรปลีกแรกที่กลับมาลงแข่งขันแบบปิดไม่ให้แฟนกีฬาเข้าชมได้ ตามด้วยลีกต่างๆ ในยุโรปเริ่มหันมาใช้โมเดลเดียวกัน จนสุดท้ายสามารถแข่งขันจนจบฤดูกาลได้สำเร็จ
ลิเวอร์พูลคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2019/20 ยุติการรอคอยแชมป์ลีกสูงสุดที่ยาวนานถึง 30 ปี
แต่นอกจากการปิดอัฒจันทร์ไม่ให้แฟนกีฬาเข้าชม สหรัฐฯ ประเทศซึ่งพบเจอกับวิกฤตการแพร่ระบาดครั้งใหญ่จนแซงหน้าประเทศจีนในยอดผู้ติดเชื้อสะสม ทำให้กีฬาในประเทศพบเจอกับความท้าทายครั้งใหญ่
โดยกีฬาที่กำลังแข่งขันฤดูกาลปกติของปี 2020 คือ NBA ซึ่งหลังจากที่พบนักกีฬาติดเชื้อ ทางลีกได้หาหนทางกลับมาลงแข่งขันในรูปแบบต่างๆ อีกครั้ง
โดย ดร.แอนโทนี เฟาซี หนึ่งในบุคคลสำคัญของทีมเฉพาะกิจในการควบคุมโควิด-19 ของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้โยนโจทย์การจัดการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมกีฬาว่า หากอยากกลับมาลงแข่งขัน ต้องดำเนินการดังนี้
- ต้องตรวจเชื้อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องทั้งก่อนและหลังแข่ง
- สังเวียนที่ใช้แข่งขันต้องเป็นสถานที่ปิด แยกห่างออกจากชุมชน
- ที่พักนักกีฬาและผู้เกี่ยวข้องต้องแยกไปพักโรมแรมใกล้เคียงกับสนามแข่งขัน และต้องเป็นโรงแรมที่มีมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาด
- การแข่งขันต้องเป็นแบบปิด ไม่ให้แฟนกีฬาเข้าชม
ซึ่งหลังจากที่ข้อเสนอของเฟาซีได้ถูกรายงานออกไป ก็มีไอเดียต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย และแล้ววันหนึ่งผู้สื่อข่าวของ Bleacher Report ก็ได้รายงานว่า NBA ได้พูดคุยและเจรจากับทาง Disney World ว่าจะแข่งขันฤดูกาลที่เหลือในสวนสนุกที่รัฐฟลอริดา เนื่องจากสวนสนุกดังกล่าวมีสนามกีฬาพร้อมระบบถ่ายทอดสดของ ESPN มีโรงแรมที่พักภายใน มีร้านอาหาร และที่สำคัญเป็นของเอกชนที่สามารถปิดตัวแยกออกจากสังคมภายนอกได้
สุดท้าย NBA ใน Disney World ก็จับมือกันพร้อมกับมาตรการที่เข้มงวด แต่ผลกระทบที่ตามมาคือนักกีฬาหลายคนพบเจอกับปัญหาด้านสุขภาพจิตที่ต้องแข่งขันอยู่ภายในพื้นที่ที่กำหนด และไม่สามารถเดินทางออกไปพบสังคมภายนอกได้
แต่สุดท้ายการแข่งขันก็จบลงพร้อมกับแชมป์ที่ตกเป็นของแอลเอ เลเกอร์ส ที่คว้าแชมป์ NBA Finals เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี และยังนับเป็นการยกแชมป์ให้กับ โคบี ไบรอันต์ ตำนานของทีมที่เสียชีวิตไปเมื่อต้นปี 2020 อีกด้วย
ส่วนสาเหตุสำคัญที่กีฬาต้องกลับมาลงแข่งขัน นอกเหนือจากเรื่องของลิขสิทธิ์ที่พัวพันกับอุตสาหกรรมกีฬาแล้ว หัวใจสำคัญของการกลับมาลงแข่งขันกีฬายังอยู่ที่การสร้างความหวังให้สังคมในแต่ละประเทศได้พบเห็นว่าสถานการณ์ที่คล้ายกับช่วงเวลาปกติก่อนวิกฤตการแพร่ระบาดกำลังจะกลับมาแล้วบางส่วน
ซึ่งในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา กีฬาเคยถูกใช้เป็นเครื่องมือของความหวังในการกลับคืนสู่สถานการณ์ปกติมาแล้ว ทั้งในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของไข้หวัดสเปนที่สหรัฐฯ หรือแม้กระทั่งการยืนยันแข่งขันต่อของเบสบอลเมเจอร์ลีกในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จากการตัดสินใจของ แฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาคนที่ 32 ที่ให้สัมภาษณ์ถึงเบสบอลในปีนั้นว่า
“ผมเชื่อว่าเบสบอลจะเป็นสิ่งที่ดีต่อประชาชนในช่วงสงคราม”
กีฬาคือความหวัง กีฬาคือการเมือง กีฬาคือแรงผลักดันที่ดีของสังคม
เมื่อไฟในสนามกีฬาที่มีชื่อเสียงและมีประวัติศาสตร์ยาวนานต้องดับลงเป็นครั้งแรก และนักกีฬาไม่สามารถทำในสิ่งที่ยึดถือเป็นอาชีพได้
สถานการณ์ในตอนนั้นเองที่ทำให้หลายคนเริ่มพบเจอกับภัยคุกคามความอยู่รอดของตน (Existential Threat) ด้วยคำถามที่ท้าทายว่า นักกีฬาในวันที่ไม่มีการแข่งขันจะอยู่ต่อไปอย่างไร และพวกเขามีหน้าที่อย่างไรในสังคม
คำถามนี้เริ่มได้คำตอบมากขึ้น เมื่อเหล่านักกีฬาตัดสินใจรวมตัวกันเพื่อหันมาสนับสนุนสังคมในการเดินหน้าฝ่าฟันวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน
ตัวอย่างที่ใหญ่ที่สุดคงหนีไม่พ้น มาร์คัส แรชฟอร์ด ศูนย์หน้าแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษสนับสนุนคูปองอาหารฟรีให้กับนักเรียนต่อ หลังรัฐบาลเตรียมยกเลิกโครงการ Free School Meals ที่ช่วยเหลือครอบครัวยากไร้ในช่วงล็อกดาวน์ ซึ่งมีผู้ขอรับสิทธิ์สูงถึง 1.3 ล้านคน
โดยเบื้องต้นรัฐบาลอังกฤษวางแผนใช้โครงการนี้ทั้งหมด 6 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม แต่หลังจากที่สถานการณ์ภายในประเทศเริ่มดีขึ้น และแต่ละภาคส่วนของสังคมเริ่มกลับออกมาจากล็อกดาวน์ได้ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน รัฐบาลอังกฤษมีแผนที่จะตัดงบประมาณในโครงการ Free School Meals
ซึ่งแรชฟอร์ดได้ส่งจดหมายถึงสมาชิกรัฐสภาอังกฤษ พร้อมกับใช้แพลตฟอร์มนักกีฬาอาชีพของเขาผลักดันให้รัฐบาลอังกฤษกลับมาสนับสนุน Free School Meals ต่อ จนสุดท้ายข้อเรียกร้องของเขาก็ประสบผลสำเร็จ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ต่อสายถึงแรชฟอร์ด และยืนยันการช่วยเหลือคูปองอาหารนักเรียนต่อไปอีกเป็นเวลา 6 สัปดาห์
“นี่คือสิ่งที่เราทำได้เมื่อเราช่วยกัน” มาร์คัส แรชฟอร์ด นักเตะผู้ผลักดันความเปลี่ยนแปลงนอกสนาม
ความสำเร็จครั้งนี้ทำให้เขาได้รับการยกย่องในฐานะนักกีฬาที่ตัดสินใจลุกขึ้นยืนบนแพลตฟอร์มของตนเอง เพื่อผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ดีทางสังคม และ เป็นการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ออกมาไกลกว่าในสนามแข่งขัน
เช่นเดียวกับแรชฟอร์ด ในพรีเมียร์ลีกอังกฤษได้มีการรณรงค์สนับสนุนการบริการทางด้านสุขภาพในอังกฤษ NHS ด้วยโครงการ Player Together ที่นักฟุตบอลพรีเมียร์ลีกร่วมกับการบริการทางด้านสุขภาพในอังกฤษ NHS ระดมทุนเพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ทางการแพยท์ที่ทำงานอย่างหนักในฐานะด่านหน้าของการต่อสู้กับวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19
ฝั่งของสหรัฐฯ หลังจากที่ภาพการเสียชีวิตของ จอร์จ ฟลอยด์ ได้สร้างการลุกขึ้นประท้วงครั้งใหญ่ต่อความรุนแรงของตำรวจทั่วสหรัฐฯ และนำไปสู่การลุกขึ้นประท้วงความไม่ยุติธรรมทางสังคมทั่วโลก
นิตยสาร Time ยกตำแหน่งนักกีฬาแห่งปี 2020 ให้แก่ เลอบรอน เจมส์ ยอดนักบาสเกตบอลผู้ไม่เพียงแต่จะทำผลงานได้อย่างสุดยอดในสนาม แต่ยังใช้เสียงของตัวเองในการต่อสู้เพื่อแก้ไขปัญหาใหญ่ของสังคมอย่างจริงจังด้วย
นักกีฬาอเมริกันเกมตั้งแต่บาสเกตอบอล NBA, อเมริกันฟุตบอล NFL และฟุตบอลหญิง ได้ร่วมกันคุกเข่าและสวมเสื้อ Black Lives Matter เพื่อสนับสนุนการต่อต้านการเหยียดสีผิวทุกรูปแบบ ซึ่งการกระทำนี้เป็นสิ่งที่ครั้งหนึ่งเคยทำให้นักกีฬาที่มีชื่อว่า โคลิน แคเปอร์นิก สูญเสียเส้นทางอาชีพนักกีฬาของเขา เมื่อเขาตัดสินใจคุกเข่าระหว่างการเคารพเพลงชาติสหรัฐฯ เมื่อปี 2016 เพื่อเรียกร้องความเท่าเทียม จนถึงปัจจุบันนี้เขายังไม่มีทีมใดที่รับเขากลับเข้าสู่การเป็นนักกีฬาอเมริกันฟุตบอลอาชีพ
โดยปรากฏการณ์ของการออกมาเรียกร้องความเท่าเทียมทางสังคมตั้งแต่ เลบรอน เจมส์, มาร์คัส แรชฟอร์ด จนถึง ลูอิส แฮมิลตัน จากฟอร์มูลาวัน นับเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมกีฬา
ฟิล เดอ ปิคเชตโต ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัท Octagon บริษัทเอเจนซีของนักกีฬา ได้เปิดเผยกับ Financial Times ว่า
“บาลานซ์ของอิทธิพลนักกีฬาได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมากในทุกพื้นที่และทุกชนิดกีฬา คุณค่าของแบรนด์นักกีฬาสูงกว่าทุกช่วงเวลาที่ผ่านมา
“ตอนนี้นักกีฬาต้องระมัดระวังท่าทีต่างๆ พอๆ กับแบรนด์ขนาดใหญ่ ในการเลือกที่จะสนับสนุนสิ่งใดก็ตาม”
ความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนที่สุดคือเมื่อ 4 ปีก่อน โคลิน แคเปอร์นิก ถูกกั้นออกจาก NFL จากการตัดสินใจคุกเข่าเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม แต่วันนี้ทั่วทั้ง NBA, NFL รวมถึงฟุตบอลหญิง ได้อนุญาตให้แสดงสัญลักษณ์ทางการเมือง ไปจนถึง โรเจอร์ กูเดล ประธาน NFL ต้องออกมาขอโทษ โคลิน แคเปอร์นิก ที่ไม่ให้การสนับสนุนในตอนนั้น
ที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ของข้อถกเถียงว่ากีฬาและการเมืองควรเป็นเรื่องเดียวกันหรือไม่ และการแสดงออกทางการเมืองในพื้นที่กีฬาสามารถทำได้หรือไม่ เนื่องจากหลายฝ่ายที่ไม่สนับสนุนมองว่ากีฬาคือความบันเทิงที่ผู้รับชมมักจะอยากผ่อนคลายและสนุกไปกับการแข่งขันหลังเจอเรื่องที่ทำให้เครียดในชีวิตประจำวัน
รวมถึงในอดีตที่ผ่านมา นักกีฬาที่เป็น Athlete Activisim มักจะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการตัดสินใจลุกขึ้นยืนเพื่อสิ่งที่ตัวเองเชื่อมั่นนอกสนามแข่งขัน
ตั้งแต่การตัดสินใจไม่เข้าร่วมสงครามเวียดนามของ มูฮัมหมัด อาลี หรือ แคสเชียนส์ เคลย์ เมื่อปี 1967 เนื่องจากคนเวียดนามไม่เคยประสงค์ร้ายต่อเขาหรือคนผิวสี แต่เขากลับมองว่า เป็นคนในสหรัฐฯ เองที่ไม่ให้ความเท่าเทียมกับตัวเขา
สุดท้ายเขาก็ถูกริบแชมป์โลกรุ่นเฮฟวีเวทและถูกยึดใบอนุญาตชกมวยสากลอาชีพในสหรัฐฯ พร้อมคำพิพากษาศาลให้จำคุก 5 ปี และปรับเงิน 10,000 ดอลลาร์ ด้วยข้อหาขัดขืนหมายเรียกทหาร
แต่ในทางกลับกัน ปี 2020 เราได้เห็นนักกีฬาตัดสินใจยืนหยัดเพื่อสิ่งที่ตัวเองเชื่อมากขึ้น โดยเฉพาะการตัดสินคุกเข่าร่วมกันเพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านความไม่ยุติธรรมในสังคมนอกสนาม ซึ่งนอกจากพวกเขาจะไม่โดนยึดตำแหน่งแชมป์หรือใบอนุญาตแล้ว สนามกีฬาหรือลีกต่างก็ให้การสนับสนุนข้อเรียกอย่างเต็มที่
ซึ่งหลักคิดสำคัญที่เปลี่ยนแปลงไปในปี 2020 สำหรับวงการกีฬาคือ หากพวกเขาตัดสินใจปิดกั้นตนเองจากปัญหาทางสังคมภายนอก และมองกีฬาเป็นความบันเทิงที่ไม่ได้ให้แง่คิดอะไรกับสังคม สุดท้ายมันก็ไม่ต่างอะไรกับการหันหลังให้กับแฟนกีฬา ซึ่งเป็นผู้คนรอบข้างที่ให้การสนับสนุนพวกเขา
ดังนั้นภาพสะท้อนความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นชัดที่สุดในปี 2020 คือกีฬาเป็นความหวัง กีฬาคือการเมือง กีฬาคือแรงผลักดันที่ดีของสังคม โดยส่วนหนึ่งอาจเกิดขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลให้ประตูของสนามกีฬาต้องปิดลง แต่สิ่งที่เปิดกว้างขึ้นคือ การสื่อสารระหว่างนักกีฬากับแฟนๆ ผ่านทางช่องทางโซเชียลมีเดียที่พวกเขาทำหน้าที่ทั้งเป็นกำลังใจและแรงบันดาลใจให้กับผู้คนในช่วงเวลาที่ยากลำบากในปีนี้
แต่หากกีฬาจะสามารถทำหน้าที่ตรงจุดนี้ได้ เราก็ต้องการนักกีฬาชั้นนำที่เป็นต้นแบบให้กับทุกคน ด้วยการเป็นผู้เริ่มต้นผลักดันความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ผ่านแพลตฟอร์มที่พวกเขายืนอยู่ และนำพาสังคมไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน
ลูอิส แฮมิลตัน ตำนานนักแข่งศึกฟอร์มูลาวัน ที่อยากให้คุณเชื่อมั่นในตัวเอง
เหมือนกับชัยชนะต่างๆ ที่ผ่านมาของ มูฮัมหมัด อาลี ที่หลายคนที่ได้ศึกษาจะยืนยันว่า ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเขาไม่ได้เกิดขึ้นบนสังเวียนผืนผ้าใบสี่เหลี่ยมอย่างที่หลายคนเข้าใจจากสถานะแชมป์โลก
แต่เป็นการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมและการยึดมั่นในสิ่งที่เขาเชื่อว่าเป็นความถูกต้อง แม้ว่าเขาจะต้องเสียสละบางสิ่งบางอย่างไป เพื่อโอกาสให้คนอื่นได้มีชีวิตที่ดีขึ้น
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง:
https://www.ft.com/content/5b004c93-2e8d-48d5-bbea-e3cff1d79ea8