×

“ไม่มียาวิเศษใดที่จะทำให้เราเดินออกจากวิกฤตโดยไม่มีผลข้างเคียง แต่จะทำอย่างไรให้ผลตรงนี้มีน้อยที่สุด” ผ่าหลักคิด แก้วิกฤตกับ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. คนล่าสุด

14.12.2020
  • LOADING...
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

HIGHLIGHTS

  • วิกฤตเศรษฐกิจรอบนี้ถือว่าหนักและใช้เวลาฟื้นตัวนาน การแก้ปัญหาต้องใช้วิธี ‘ซื้อเวลา’ ผ่านการยืดเวลาชำระหนี้ และหามาตรการบรรเทาภาระหนี้ 
  • ผู้ว่า ธปท. ย้ำว่า เราต้องไม่เดินออกจากวิกฤตโดยที่ประชาชนมีภาระหนี้สินมากจนเกินไป แล้วเป็นตัวถ่วงเศรษฐกิจในระยะยาว
  • การออกจากวิกฤตรอบนี้อาจทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้น นโยบายการเงินปฏิเสธไม่พ้นต้องเข้ามาช่วยดูแลและลดผลกระทบในเรื่องนี้ 
  • นโยบายการเงินแบบ ‘นอกตำรา’ เช่นการทำ QE ไม่เหมาะกับเมืองไทย เพราะเราไม่ได้มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง การช่วยให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินกู้ผ่านการค้ำประกันสินเชื่อตรงจุดกว่า
  • การทำหน้าที่ ‘กองหลัง’ ของ ธปท. ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ออกแรงใดๆ แต่ต้องสร้างสภาพแวดล้อมให้กองหน้า เช่น หน่วยงานรัฐสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่

เป็นเวลากว่า 2 เดือนเต็มแล้วที่ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ เข้ามารับบทบาท สวมหน้าที่ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ‘แบงก์ชาติ’ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายฝั่งการเงิน

 

…แน่นอนว่าโจทย์ใหญ่ในวันนี้ซึ่งถือเป็นภารกิจแรกที่เศรษฐพุฒิต้องดูแลคือ การพาประเทศ ‘ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ’ จากพิษโควิด-19 โดยเจ้าตัวยอมรับกับ THE STANDARD ว่า บางเรื่องหนักกว่าที่คิด

 

เศรษฐพุฒิ บอกว่า วันนี้แม้เรากำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นวิกฤตที่ ‘ยาก’ กว่าทุกครั้ง แต่ท้ายที่สุดแล้วเราจะเดินออกจากวิกฤตได้อย่างแน่นอน เพียงแต่โจทย์สำคัญคือ เราจะเดินออกมาอย่างไรโดยที่เกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุด หรือไม่ทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มมากจนเกินไป

 

“เรารู้ว่าโรคมันหนัก ใช้เวลารักษานาน แต่มีวิธีรักษาแน่ๆ เพียงแค่ใช้เวลานานหน่อย และไม่มียาวิเศษใดที่ทำให้เราเดินออกจากวิกฤตโดยไม่มีผลข้างเคียง เราไม่อยากออกจากวิกฤตโดยที่ทุกคนมีภาระหนี้มหาศาลแล้วถ่วงทุกอย่างไปอีกยาว”

 

เขายอมรับว่าสิ่งที่กังวลในเวลานี้คือ มีหลายปัจจัยที่บ่งชี้ว่ามีโอกาสสูงที่เราจะเดินออกมาในรูปแบบที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้น สาเหตุเพราะโควิด-19 ทำให้เกิด ‘เทอร์โบชาร์จ’ ในบางเรื่อง ซึ่งจะยิ่งเพิ่มปัญหาความเหลื่อมล้ำ

 

ยกตัวอย่าง เช่น เรื่องเครื่องจักรกล (ออโตเมชัน) เดิมก่อนโควิด-19 ภาคธุรกิจได้หันมาใช้ออโตเมชันในการผลิตมากอยู่แล้ว และเป็นตัวที่ทำให้ค่าจ้างแรงงานในประเทศเติบโตช้า โดยช่วงหลายปีที่ผ่านมาค่าแรงในประเทศขยายตัวเฉลี่ยเพียงแค่ 1% ต่อปีเท่านั้น ยิ่งหลังโควิด-19 กระแสการใช้ Automotion ถือว่าไปเร็วมาก จึงเป็นตัวที่เข้ามาบั่นทอนปัญหาความเหลื่อมล้ำให้หนักขึ้น

 

นอกจากนี้กระแสออนไลน์ หรืออีคอมเมิร์ซที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนว่าเรื่องนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ฝั่งของข้อเสียก็ไปกดดันผู้ประกอบการรายย่อย (รีเทล) ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่จ้างงานมากที่สุด พอโดนผลกระทบก็ส่งผลต่อความต้องการในการจ้างงาน กระทบไปยังค่าจ้างแรงงานในท้ายที่สุด

 

ขณะเดียวกันโควิด-19 ยังทำให้เกิดแผลเป็นทางเศรษฐกิจมากมาย โดยเฉพาะในฝั่งของการท่องเที่ยว ซึ่งเดิมเราเคยมีนักท่องเที่ยวเข้ามาถึงปีละ 40 ล้านคน แต่หลังจากนี้คงใช้เวลาอีกนานกว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาเท่าเดิม แน่นอนว่าย่อมกระทบไปสู่การจ้างงานของคนในอุตสาหกรรม โดยภาคการท่องเที่ยวมีส่วนต่อการจ้างงานสูงถึง 20% ของการจ้างงานทั้งระบบ

 

“ปัจจัยทั้งหมดนี้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องออโตเมชัน อีคอมเมิร์ซ และภาคการท่องเที่ยว ล้วนส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน อาจทำให้ค่าแรงในระยะข้างหน้าเติบโตได้ไม่ถึง 1% ในขณะที่หนี้สินของคนเหล่านี้ยังมีค่อนข้างสูง”

 

สำหรับกลุ่มคนที่มั่งคั่ง วิกฤตครั้งนี้แทบไม่ได้รับผลกระทบใดๆ ยกเว้นคนที่อยู่ในภาคการท่องเที่ยว …จากการศึกษาของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่า ราว 36% ของมูลค่าตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ของตลาดหุ้นไทย ถูกถือครองโดยกลุ่มคนเพียงแค่ 500 คน อีกทั้งวิกฤตในคราวนี้ยังถือเป็นโอกาสของคนในกลุ่มนี้ด้วย เพราะสามารถเข้าไปซื้อสินทรัพย์หรือธุรกิจที่กำลังมีปัญหาในราคาไม่แพง ซึ่งเป็นสิ่งที่ ธปท. ไม่อยากเห็น จึงต้องหาเครื่องมือมาดูแล

 

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

อ้างอิง: BOT พระสยาม Magazine

 

เศรษฐพุฒิบอกด้วยว่า แม้วิกฤตคราวนี้จะเป็นโอกาสของภาคธุรกิจใหญ่ๆ ที่เข้ามาไล่ซื้อสินทรัพย์จากกลุ่ม SMEs ทำให้เกิดการควบรวมกิจการกันมากขึ้น แต่การควบรวมกิจการไม่ได้สร้างผลเชิงบวกต่อระบบเศรษฐกิจมากนัก สิ่งที่ ธปท. อยากเห็นมากกว่าคือการลงทุน เพราะการลงทุนเป็นสิ่งที่เราขาดมานานมากๆ

 

“เราอยากเห็นการลงทุน เพราะทำให้เกิดการจ้างงาน ทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ซึ่งการควบรวมกิจการไม่ได้ช่วยให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากนัก แถมยังต้องลดการจ้างงานลงด้วย เป็นเพียงแค่การเปลี่ยนมือของผู้ถือหุ้น จึงเป็นสิ่งที่เรากังวล”

 

สำหรับบทบาทของ ธปท. เพื่อช่วยดูแลความเหลื่อมล้ำนั้น เศรษฐพุฒิบอกว่า หากถามเรื่องนี้กับธนาคารกลางเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ทุกคนจะบอกตรงกันว่าไม่ได้เป็นหน้าที่ของธนาคารกลาง แต่เป็นหน้าที่ของผู้เล่น ‘กองหน้า’ อย่างหน่วยงานรัฐ เช่น กระทรวงการคลังที่ดูแลเรื่องภาษี ดูแลเรื่องสวัสดิการในด้านต่างๆ แต่ปัจจุบันต้องยอมรับว่าธนาคารกลางควรต้องมีบทบาทในการดูแลเรื่องนี้ เพียงแค่ต้องแยกบทบาทการดูแลให้ดี

 

เศรษฐพุฒิย้ำว่า เรื่องนโยบายการเงินอาจไม่สามารถดูแลได้โดยตรง แต่ก็ทำได้ผ่านการสร้างสภาพแวดล้อมการเงินให้เอื้อต่อการเติบโต ต้องเข้ามามีบทบาทไม่สร้างอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ดูแลสภาพคล่องในระบบการเงินให้มีเพียงพอ สิ่งเหล่านี้จะเข้ามาช่วยดูแลปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ในระดับหนึ่ง

 

“การดูแลต้นทุนหรือส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างผู้ประกอบการรายใหญ่กับรายเล็ก จะช่วยบรรเทาปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ ขณะเดียวกันยังต้องดูว่าสภาพคล่องที่มีไหลไปอยู่ตรงไหน ไปอยู่ในที่ที่เหมาะสมหรือไม่ พวกนี้ถือเป็นหน้าที่ของนโยบายการเงินที่ต้องไม่ไปซ้ำเติมปัญหาของความเหลื่อมล้ำ”

 

นอกจากนี้การพัฒนาระบบชำระเงินที่ดี ก็มีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้เช่นกัน เพราะจะช่วยให้คนทั่วไปเข้าถึงบริการทางการเงินได้สะดวกรวดเร็วขึ้น 

 

เศรษฐพุฒิยังกล่าวถึงข้อเสนอจากนักเศรษฐศาสตร์ที่แนะนำให้ ธปท. ดำเนินนโยบายการเงินแบบนอกตำรา หรือ Unconventional ด้วยว่า อะไรที่ทำแล้วสมเหตุสมผล ธปท. ก็พร้อมจะพิจารณา เพียงแต่การดำเนินนโยบายในลักษณะนี้ต้องคำนึงถึงบริบทของเมืองไทยและคำนึงถึงโจทย์ที่เราต้องการตอบด้วย

 

“เราคงไม่ทำเพราะคนอื่นทำ หรือทำเพียงแค่ยิงพลุโดยที่ไม่ดูความเหมาะสม ไม่ดูผลข้างเคียง” เศรษฐพุฒิกล่าวย้ำกับ THE STANDARD 

 

เขากล่าวด้วยว่า บริบทของเมืองไทยค่อนข้างแตกต่างกับเมืองนอก ซึ่งกรณีของเมืองนอกที่เขาทำมาตรการ QE โดยอัดฉีดเงินเข้าระบบ ประเด็นนี้ต้องกลับมาถามตัวเราเองว่า ระบบเศรษฐกิจเราขาดสภาพคล่องหรือไม่ ซึ่งชัดเจนว่า ‘ไม่’ โดยสะท้อนผ่านตัวเลขสินเชื่อต่อเงินฝากที่อยู่ระดับต่ำ ปริมาณเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ก็เพิ่มขึ้นชัดเจน และที่สำคัญผลตอบแทนในตลาดพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) รุ่นอายุ 10 ปีอยู่ระดับต่ำเพียงแค่ 1.3% เท่านั้น ถ้าสภาพคล่องของไทยตึงตัวมาก อัตราดอกเบี้ยคงไม่อยู่ระดับต่ำเท่านี้ 

 

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

 

นอกจากนี้ระบบการเงินของไทยไม่ได้พึ่งพาตลาดพันธบัตรเหมือนต่างประเทศ ซึ่งในต่างประเทศบริษัทไม่ว่าขนาดเล็กหรือใหญ่สามารถระดมทุนผ่านตลาดบอนด์ได้ไม่ยาก แต่ของไทยธุรกิจขนาดเล็กยังพึ่งพาแหล่งเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก โจทย์ของเราจึงอยู่ที่จะทำอย่างไรให้สภาพคล่องที่มีอยู่วิ่งไปหาคนที่อยากได้และควรได้

 

“ถ้าดูสินเชื่อขนาดใหญ่และสินเชื่อรายย่อยของเราถือว่ายังโตอยู่ แต่สินเชื่อ SMEs ยังติดลบ ถามว่าทำไมถึงติดลบ ก็เพราะแบงก์มองว่ามีความเสี่ยงสูง เขาจึงไม่กล้าปล่อย ดังนั้นการที่เราอัดฉีดสภาพคล่องเข้าไปเพิ่มทั้งที่ในระบบมีเยอะอยู่แล้วก็ไม่ได้ช่วยอะไร”

 

เศรษฐพุฒิย้ำว่า สิ่งที่ ธปท. กำลังทำเพื่อช่วยเหลือกลุ่ม SMEs ให้ตรงจุด โดยร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ คือสร้างกลไกการค้ำประกันสินเชื่อ ดึงบริษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาช่วยค้ำประกัน ซึ่งการช่วยเหลือลักษณะนี้น่าจะตอบโจทย์ประเทศไทยมากกว่าการทำ QE

 

นอกจากนี้เศรษฐพุฒิยังกล่าวย้ำว่า วิกฤตรอบนี้นอกจากจะหนักแล้วยังกินเวลายาวนานด้วย ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือ ‘ซื้อเวลา’ โดยการดูแลภาระหนี้ของลูกหนี้ให้ยืดออกไป 

 

“เราเห็นอยู่ว่าประชาชนแบกหนี้สูง สิ่งที่เราทำคือพยายามลดภาระหนี้และซื้อเวลาโดยการพักหนี้ สนับสนุนให้เกิดการมัดรวมหนี้ เพื่อลดภาระที่เขาต้องแบก พวกนี้ถือเป็นมาตรการที่ตรงจุดและตอบโจทย์ปัญหาได้ดีกว่า ไม่ได้เป็นแค่มาตรการยิงพลุแล้วจบไป”

 

เศรษฐพุฒิยังกล่าวถึงบทบาทของ ธปท. ในการเป็น ‘กองหลัง’ ของประเทศด้วยว่า เรื่องนี้คนเข้าใจผิดเยอะ คิดว่าการเป็นกองหลังแล้วไม่ต้องทำอะไร ซึ่งในความเป็นจริงแล้วหลายครั้งที่กองหลังอาจต้อง ‘ทำงานหนัก’ กว่ากองหน้าด้วย 

 

สิ่งที่เขาต้องการจะสื่อสารในบทบาทของผู้เล่นกองหลังคือการทำหน้าที่ดูแลสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการลงทุน การจ้างงาน หรือการกระตุ้นอุปสงค์ต่างๆ ซึ่งพวกนี้ถือเป็นบทบาทของหน่วยงานราชการที่เป็นกองหน้า หน้าที่ของกองหลังก็ต้องดูแลบรรยากาศต่างๆ ให้เอื้อต่อการเกิดสิ่งเหล่านี้ เช่น ดูแลให้สภาพคล่องมีเพียงพอ โดยที่ต้นทุนไม่สูงเกินไป และยังต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ 

 

“ถ้าเปรียบเทียบเป็นทีมฟุตบอล กองหน้าที่แข็งแรงก็จะทำประตูได้มากหน่อย ส่วนกองหลังแม้ไม่ทำให้คุณชนะ แต่กองหลังที่อ่อนแอทำให้คุณแพ้ได้แน่นอน จึงไม่ได้หมายความว่าการเป็นกองหลังแล้วไม่ต้องออกแรงอะไรเลย สิ่งที่อยากเคลียร์คือเราต้องทำงานร่วมกันเป็นทีมเวิร์กเพื่อให้ระบบต่างๆ เอื้อต่อการฟื้นตัว”

 

นอกจากนี้เศรษฐพุฒิยังกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า เมื่อเกิดวิกฤตขึ้นมาแล้วเราไม่ควรปล่อยให้โอกาสจากวิกฤตต้องเสียเปล่าไป อยากให้สังคมไทยได้เรียนรู้แล้วนำบทเรียนที่ได้จากวิกฤตมาปรับตัว 

 

สิ่งหนึ่งที่เศรษฐพุฒิบอกว่าเสียดายจากวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 คือ เราไม่ได้ปฏิรูปภาครัฐหรือปรับปรุงกระบวนการงบประมาณ ทั้งที่ช่วงเวลานั้นถือเป็นโอกาสดี ถ้ามองในต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เขาเคยเผชิญวิกฤตการคลังมาก่อน แต่เขาก็เรียนรู้ ปรับตัว และปฏิรูประบบราชการจนสำเร็จ 

 

อย่างไรก็ตามสิ่งที่เราได้เรียนรู้และปรับตัวได้ดีจากวิกฤตปี 2540 คือเรื่องของธรรมาภิบาล เรื่องของการสร้างความโปร่งใสอย่างมืออาชีพ ซึ่งถือว่าเราทำได้ดีกว่าช่วงก่อนปี 2540 มาก

 

ด้วยเหตุนี้เศรษฐพุฒิจึงตั้งความหวังว่า วิกฤตคราวนี้เราจะเรียนรู้และปฏิรูประบบราชการใหม่ ซึ่งต้องยอมรับว่า เมืองไทยไม่ได้ขาดคนเก่ง แต่ขาดการ Execution ไม่สามารถทำงานข้ามหน่วยงานได้อย่างคล่องตัว หากเราอาศัยโอกาสนี้ในการปฏิรูปก็จะช่วยปลดล็อกศักยภาพของประเทศได้ 

 

ขณะเดียวกันเรื่องสิ่งแวดล้อมยังเป็นเรื่องที่คนไทยตื่นรู้กันน้อยในปัจจุบัน เขาจึงคาดหวังว่าวิกฤตรอบนี้จะปลุกกระแสเรื่องดังกล่าวขึ้นมาทำให้คนในประเทศตระหนักกับเรื่องดังกล่าวมากยิ่งขึ้น

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X