วิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการอาวุโส นักกลยุทธ์การลงทุน บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า กรณีมาตรการคนละครึ่ง เฟส 2 ได้รับอนุมัติจาก ครม. เมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา จะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของกลุ่มประชาชนฐานรากได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์หลักของมาตรการดังกล่าว
ในส่วนของอานิสงส์ต่อหุ้นนั้นอาจไม่มีมาก และเป็นอานิสงส์ทางอ้อมมากกว่า เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่หรือบริษัทจดทะเบียนไม่ได้เข้าร่วมโครงการในฐานะร้านค้า
อย่างไรก็ตาม หากประเมินอานิสงส์ทางอ้อมพบว่า หุ้นค้าปลีกและผู้ผลิตและสินค้าอุปโภคบริโภคจะได้ประโยชน์ไปด้วย จากการที่ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งมาจับจ่ายใช้สอย เพื่อนำไปพัฒนาเป็นสินค้าและบริการสำหรับจำหน่ายในท้องตลาดต่อไป
โดยหุ้นที่ได้รับอานิสงส์โดยอ้อมและโดดเด่นสุดคือ MAKRO, BJC, CBG และ OSP
สรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า โครงการคนละครึ่งที่ได้รับการขยายเฟสที่ 2 และเพิ่มเงินสมทบการใช้จ่าย รวมถึงเพิ่มจำนวนผู้ใช้สิทธิ์นั้น จะส่งผลเชิงบวกต่อภาพรวมเศรษฐกิจมากกว่า ซึ่งก่อนหน้านี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐจะส่วนผลักดันให้ GDP ไทย ขยายตัวได้อีก 2.12% ในปีนี้ และปัจจุบันอยู่ระหว่างปรับประมาณการใหม่
ทั้งนี้ หุ้นที่จะได้รับอานิสงส์จากโครงการคนละครึ่งคือกลุ่มค้าปลีก แต่จะได้รับอานิสงส์ทางอ้อมมากกว่า เนื่องจากวัตถุประสงค์หลักของรัฐบาลที่ออกแบบโครงการคนละครึ่งก็เพื่อเน้นผลักดันเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจฐานรากกว่า
โดยหากประเมินหุ้นที่ได้รับอานิสงส์ทางอ้อมมากสุดคือ หุ้น MAKRO สะท้อนจาก SSSG (Same Store Sales Growth) ที่เริ่มเป็นบวกใน 1-2 เดือนที่ผ่านมา
ด้านฝ่ายวิจัย บล.ไทยพาณิชย์ คาดว่า TNP จะรายงานกำไรไตรมาส 4 ปี 2563 ทำสถิติกำไรรายไตรมาสสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพราะนอกจากเข้าสู่ฤดูจับจ่ายใช้สอยและรับรู้ยอดขายสาขาใหม่แล้ว ยอดขายสาขาเดิมยังได้ประโยชน์โดยตรงจากมาตรการเติมเงินสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มอีกเดือนละ 500 บาท (เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2563), มาตรการช้อปดีมีคืนไม่เกิน 30,000 บาท (23 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2563) และประโยชน์ทางอ้อมจากมาตรการคนละครึ่ง (ไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน ช่วงวันที่ 23 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2563) ซึ่งคาดว่าหนุนยอดขายจากลูกค้าโชห่วยเติบโตสดใส คาดส่งผลให้ปี 2563 TNP จะมีกำไรสุทธิ 128 ล้านบาท เติบโต 44.4% จากงวดเดียวกันปีที่แล้ว
ขณะที่ฝ่ายวิจัย บล.หยวนต้า ระบุว่า จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนพฤศจิกายนที่ปรับตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 9 เดือน สะท้อนว่ากำลังซื้อในประเทศเริ่มกลับมาขยายตัวอีกครั้ง นอกจากนี้ยังได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อที่ต่อเนื่องจากภาครัฐ เช่น โครงการคนละครึ่ง, เราเที่ยวด้วยกัน, ช้อปดีมีคืน ที่ซึ่งคาดว่าจะช่วยหนุนกำลังซื้อไปจนถึงไตรมาส 1 ปี 2564 ซึ่งจะเป็นบวกต่อ CRC, BJC และ CPALL
อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศว่าจะเพิ่มขึ้นจนต้องกลับมาล็อกดาวน์อีกครั้งหรือไม่ หากต้องกลับมาปิดเมืองอีกครั้งจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อ
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล