สภาผู้บริโภคฮ่องกง หรือ Hong Kong Consumer Council ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบและคุ้มครองผู้บริโภคชาวฮ่องกง ได้ตรวจพบว่า 83% ของผลิตภัณฑ์กันแดด 25 รายการ จากทั้งหมด 30 รายการที่มีจำหน่ายในท้องตลาด โดยนำมาสุ่มตรวจสอบค่า SPF (Sun Protection Fector) หรือค่าป้องกันแสงแดดที่ระบุระดับการปกป้องผิวจากรังสี UVB และค่า PA (Protection Grade of UVA) หรือค่าที่วัดการป้องกันรังสี UVA ซึ่งเป็นรังสีที่มีความยาวคลื่นมากกว่า UVB นั้นพบผลลัพธ์ที่น่าตกใจว่าค่า SPF ของ 25 ผลิตภัณฑ์กันแดดนั้นต่ำกว่าที่ระบุไว้บนฉลาก โดยมีครีมกันแดดเพียง 7 ผลิตภัณฑ์ จาก 30 รายการเท่านั้นที่ผ่านการตรวจสอบ
เจ้าหน้าที่ของสภาผู้บริโภคฮ่องกงเปิดเผยอีกว่า ผลิตภัณฑ์กันแดดที่มีผลการตรวจสอบไม่ตรงกับฉลากที่ระบุนั้น จากแบรนด์ Fancl ของประเทศญี่ปุ่น มีตัวเลขค่า SPF ซึ่งเป็นค่าการป้องกันแสงแดดจากรังสี UVB หนักที่สุด เพราะตรวจพบว่าค่า SPF จริงที่ได้จากการตรวจสอบต่ำกว่า SPF 15 ทั้งที่ฉลากระบุว่า เป็น SPF 50 ก็ตาม นอกจาก Fancl ก็ยังมีหลายแบรนด์ที่สภาฮ่องกงเผยว่า สลากที่ระบุกับค่าป้องกัน SPF ที่ตรวจสอบได้ไม่ตรงกัน
แต่ทั้งนี้ บริษัท Fantastic Natural Cosmetics Limited ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์กันแดดก็ออกมายืนกรานในคุณภาพของผลิตภัณฑ์กันแดดของตัวเองว่าได้รับการทดสอบและมีผลการตรวจที่ตรงตามข้อกำหนดของตลาดทุกประการ และยังตั้งข้อสังเกตุว่าการตรวจสอบครั้งนี้ของสภาผู้บริโภคฮ่องกงนั้นมีการว่าจ้างให้บริษัทภายนอกอย่าง Eurofins เป็นผู้ตรวจสอบให้ ซึ่งเป็นการใช้ห้องปฏิบัติการในออสเตรเลียที่ยังใช้วิธีทดสอบปัจจัยค่า PA ในหลอดทดลองเพียงอย่างเดียว แทนที่จะใช้ทดสอบกับผิวหนังของมนุษย์จริงๆ แถมยังใช้กรอบการวัดของสหภาพยุโรป ซึ่งบริษัทครีมกันแดดเองมองว่า ยังไม่มาตรฐานด้านกฎระเบียบสำหรับการวัดประสิทธิภาพของค่า SPF และค่า PA ด้วยซ้ำ
โดย Michelle Ma Chan Mok-lan ผู้ร่วมก่อตั้ง และกรรมการบริหารบริษัท Fantastic Natural Cosmetics Limited หรือ Fancl ออกมาโต้แย้งอีกว่า ผลิตภัณฑ์ที่ตรวจวัดค่า SPF เจอแบบต่ำมากๆ อย่าง Fancl ที่มีค่า SPF เพียง 14.3 และมีค่า PA เพียงสองบวก จากสี่บวก (PA++++) นั้นเมื่อเทียบผลรายงานการตรวจสอบ 2 รอบ ทั้งจากสหรัฐอเมริกาที่ตรวจสอบโดย Cantor Research Laboratories และตรวจอีกรอบที่ประเทศจีนโดยโรงพยาบาลแพทย์แผนจีน Chongqing ซึ่งทดสอบกับผิวหนังของมนุษย์โดยตรง ทั้งสองรายงานพบว่า ครีมกันแดดมีค่า SPF สูงกว่า 50 และมี PA ++++ อย่างถูกต้อง ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่าผลการตรวจสอบของสภาผู้บริโภคฮ่องกงนั้นใช้วิธีการที่ล้าสมัย เพราะแม้จะมีการตรวจสอบในปี 2020 แต่สภาผู้บริโภคฮ่องกงยังใช้วิธีการตรวจสอบของปี 2010 และเป็นการตรวจสอบเพียงด้านเดียวเท่านั้น
ทางด้าน Henry Tong Hoi-yee รองศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์จากภาควิชาเภสัชวิทยาและเภสัชศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮ่องกง ก็ออกมากล่าวว่า ผลการตรวจสอบครีมกันแดดของสภาผู้บริโภคฮ่องกงที่ได้รายงานจากการตรวจสอบเพียงครั้งเดียวนั้นไม่ควรนำมาใช้เป็นข้อสรุป เพราะวิธีการที่ใช้ในการตรวจสอบนั้นมีความแตกต่างในวิธีการ และห้องปฏิบัติการของ Eurofins ก็อาจไม่ถูกต้องตามมาตรฐานการตรวจสอบทั้งหมด ซึ่งผลการตรวจสอบครั้งนี้ก็อาจสร้างความไม่เป็นธรรมให้กับแบรนด์ผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดที่ได้รับผลกระทบเรื่องความน่าเชื่อถือจากผู้บริโภคไปด้วย
ภาพ: shutterstock
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง:
- https://www.scmp.com/news/hong-kong/health-environment/article/3105616/industry-backlash-against-hong-kong-consumer
- https://www.consumer.org.hk/ws_en/news/press/528/sunscreen-test.html