สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีน เป็นผู้นำคนล่าสุดที่ส่งสารแสดงความยินดีกับ โจ ไบเดน ที่ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ หลังสงวนท่าทีนานกว่า 2 สัปดาห์ เนื่องจากกระบวนการนับคะแนนและประกาศผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในหลายรัฐยังไม่เสร็จสิ้น
“การส่งเสริมการพัฒนาความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ที่ดีและมั่นคงไม่เพียงแต่เป็นผลประโยชน์พื้นฐานของประชาชนทั้งสองประเทศเท่านั้น แต่ยังสอดคล้องกับความคาดหวังร่วมกันของประชาคมโลกด้วย” สำนักข่าว Xinhua รายงานอ้างคำกล่าวของ สีจิ้นผิง เมื่อวานนี้ (25 พฤศจิกายน)
“ผมหวังจะได้เห็นสองฝ่ายรักษาเจตนารมณ์ของการไม่ขัดแย้ง ไม่เผชิญหน้า เคารพซึ่งกันและกัน และร่วมมือกันแบบวิน-วิน ตลอดจนมุ่งเน้นความร่วมมือ ในขณะเดียวกันก็จัดการและควบคุมปัญหาพิพาทไปด้วย” ผู้นำจีนกล่าวเสริม
แม้ สีจิ้นผิง จะส่งสารแสดงความยินดีช้ากว่าผู้นำคนอื่นๆ แต่เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนได้แถลงข้อความแสดงความยินดีกับไบเดนสั้นๆ ไปแล้ว โดยระบุว่า เคารพการตัดสินใจของประชาชนอเมริกัน ซึ่งถ้อยแถลงดังกล่าวไม่ได้ออกในนามผู้นำจีนหรือไม่ได้เอ่ยถึง สีจิ้นผิง โดยโฆษกระบุในเวลานั้นว่า ผลการเลือกตั้งจะต้องได้รับการรับรองตามกฎหมายและขั้นตอนต่างๆ ของสหรัฐฯ เสียก่อน
แต่นอกจากผู้นำจีนแล้ว ยังมีผู้นำชาติมหาอำนาจอีกคนอย่างประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ที่ยังไม่แสดงความยินดีกับไบเดน โดยผู้นำเครมลินให้เหตุผลว่า ต้องรอให้ทางการสหรัฐฯ ประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการตามกฎหมาย หรือจนกว่าพรรครีพับลิกันจะยอมรับความพ่ายแพ้เสียก่อน
นอกจากประธานาธิบดีจีนแล้ว หวังฉีซาน รองประธานาธิบดีจีน ก็ส่งสารแสดงความยินดีกับ คามาลา แฮร์ริส ว่าที่รองประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสหรัฐฯ เมื่อวานนี้ด้วยเช่นกัน
หลายฝ่ายคาดหวังว่าการก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของไบเดน จะช่วยให้บรรยากาศที่ตึงเครียดทุเลาลง และทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศมหาอำนาจที่มีเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น หลังจากที่ร้าวฉานกันมานานจากสงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี และประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์อื่นๆ ที่ถูกโหมกระพือในยุคของ โดนัลด์ ทรัมป์
นักวิชาการจีนหลายคนมองว่า การที่ไบเดนเสนอชื่อ แอนโทนี บลินเคน เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ ถือเป็นทางเลือกที่เหมาะสม โดยเขาอาจมีบทบาทสำคัญในการซ่อมแซมความสัมพันธ์ระดับทวิภาคี และเป็นสะพานเชื่อมความร่วมมือระหว่างสองฝ่ายในมิติต่างๆ ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางส่วนมองในทางกลับกันว่า นโยบายที่แข็งกร้าวต่อจีนอาจไม่ต่างจากยุคสมัยทรัมป์มากนัก โดยก่อนหน้านี้พรรคเดโมแครตได้แสดงจุดยืนในช่วงการหาเสียงแล้วว่า พวกเขาจะยืนหยัดต้านทานการกระทำที่อาจเป็นภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจ ความมั่นคง และสิทธิมนุษยชนอย่างแข็งกร้าวต่อไป
ภาพ: Getty แฟ้มภาพปี 2012 โจ ไบเดน (รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้น) ต้อนรับ สีจิ้นผิง ที่ทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในระหว่างที่ผู้นำจีนเดินทางเยือนสหรัฐฯ
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: