“เราเคารพการตัดสินใจของชาวอเมริกัน และขอแสดงความยินดีต่อไบเดนและแฮร์ริส” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงการณ์เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน แสดงความยินดีต่อชัยชนะการเลือกตั้งเหนือ โดนัลด์ ทรัมป์ ของพรรครีพับลิกัน
แม้จะล่าช้าไปบ้าง และเป็นเพียงถ้อยความสั้นๆ แต่เปี่ยมด้วยนัยสำคัญว่าจีนยอมรับแล้วว่า โจ ไบเดน จะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 46 และจีนกำลังเตรียมแผนรับมือความเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ภายหลังไบเดนสาบานตนรับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม 2021
แล้วว่าที่ประธานาธิบดีคนต่อไปพร้อมแล้วหรือยังที่จะรับมือกับจีน
ตอนนี้ไบเดนกำลังปวดหัวกับการเปลี่ยนผ่านอำนาจจากทรัมป์ที่ CNN ใช้คำว่า ‘น่าเกลียดและท้าทายมาก’ เพราะจนถึงตอนนี้ทรัมป์ยังไม่ยอมรับความพ่ายแพ้อย่างเป็นทางการ แม้จะเริ่มออมชอมให้ทยอยเปิดทางสู่การเปลี่ยนถ่ายอำนาจแล้วก็ตาม
นโยบายต่างประเทศเป็นสิ่งที่ชาติพันธมิตรและอริศัตรูของสหรัฐฯ จับตามากที่สุด โดยเฉพาะนโยบายต่อจีน ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างพญาอินทรีกับพญามังกรกำลังเป็นแผลฉกรรจ์จากนโยบาย ‘อเมริกาต้องมาก่อน’ ของทรัมป์ ที่เปิดศึกทางการค้ากับจีนและถือข้างไต้หวันอย่างเปิดเผย
ไบเดนเป็นประธานาธิบดีแล้ว ความสัมพันธ์กับจีนจะดีขึ้นจริงหรือ นั่นคงเป็นสิ่งที่นักลงทุนคาดหวัง แต่สำนักข่าวระดับโลกและผู้สังเกตการณ์หลายคนคาดการณ์แล้วว่า ‘รัฐบาลไบเดนจะแข็งกร้าวกับจีนต่อไป’
THE STANDARD จะพาไปเจาะลึกว่าทำไมชัยชนะของไบเดนจึงไม่ได้เป็นใบเบิกทางสู่เส้นทางแห่งไมตรีจิตกับจีนอย่างที่หลายคนคาดหวัง
จาก ‘เพื่อนเก่าแก่’ สู่ ‘อันธพาล’
ในช่วงปี 2009-2017 ที่ไบเดนเป็นรองประธานาธิบดีให้ บารัก โอบามา นานถึง 8 ปี เขาเดินทางเยือนจีนบ่อยครั้งมาก เพราะสำหรับโอบามาแล้ว ความสัมพันธ์กับจีนเป็นสิ่งสำคัญ หลังกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก
แม้จีนกลายเป็นศัตรูทางเศรษฐกิจ แต่จุดยืนของ ‘โอบามา-ไบเดน’ มุ่งสร้างความร่วมมือ ไม่ใช่ประจันหน้า เพราะโอบามาเคยกล่าวไว้ว่าความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ และจีนจะเป็นตัวกำหนดทิศทางโลกในศตวรรษที่ 21 นี้ แน่นอนว่าความบาดหมางยังคงมีอยู่ แต่จำกัดอยู่ในประเด็นความมั่นคง เช่น การสร้างฐานทัพของจีนในทะเลจีนใต้ และการจารกรรมไซเบอร์
ไบเดนเดินทางเยือนจีนบ่อยครั้งในช่วงรัฐบาลโอบามา
สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ขานเรียกไบเดนว่า ‘เพื่อนเก่าของจีน’ ระหว่างการเดินทางเยือนจีนของไบเดนเมื่อปี 2013 ก่อนจะร่วมพูดคุยแบบส่วนตัวนานถึง 2 ชั่วโมง ไบเดนเองยอมรับในภายหลังว่า “หากดำเนินความสัมพันธ์กับจีนอย่างถูกต้อง จะนำมาสู่รูปแบบความสัมพันธ์ใหม่ที่สร้างความเป็นไปได้อย่างไม่สิ้นสุด”
ทรัมป์เองเคยวิจารณ์ไบเดนในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งว่าเขาใกล้ชิดกับจีนมากเกินไป เพราะอันที่จริงในช่วงที่ไบเดนเป็นวุฒิสมาชิก เขามีส่วนช่วยให้จีนเข้าร่วมองค์การการค้าโลกได้สำเร็จในปี 2001 ด้วย
แต่เวลาผ่านไป ใจคนย่อมเปลี่ยนผัน และไบเดนเองก็เป็นมนุษย์ เขาอาจไม่ใช่ ‘เพื่อนเก่าแก่’ ของจีนอีกต่อไปแล้ว เพราะในการประชุมใหญ่พรรคเดโมแครตเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ไบเดนเรียกสีจิ้นผิงว่า ‘อันธพาล’ (Thug) กดดันจีนว่า ‘ต้องเล่นตามกติกา’ และในเดือนมิถุนายนยังชี้ว่าทรัมป์ ‘ถูกจีนปั่นหัว’
จุดยืนพรรคเดโมแครตประจำปี 2020 ระบุว่า “เดโมแครตจะชัดเจน แข็งกร้าว และยืนหยัดต้านทานการกระทำของจีนที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ความมั่นคง และข้อกังวลด้านสิทธิมนุษยชน”
จุดยืนไบเดน (ใหม่) ต่อจีน
การค้า: รัฐบาลทรัมป์ตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากจีนรวมเป็นเงินหลายพันล้านดอลลาห์สหรัฐเพื่อลดการขาดดุลทางการค้า และกดดันจีนให้เปิดประเทศให้สหรัฐฯ เข้าไปลงทุน แต่ไบเดนเชื่อว่ากำแพงภาษีเป็นดาบสองคมที่หันมาทำร้ายเศรษฐกิจสหรัฐฯ เช่นกัน ดังนั้นจึงคาดการณ์ได้ว่าสหรัฐฯ จะผ่อนปรนภาวะตึงเครียดทางการค้า และเปลี่ยนไปใช้แรงกดดันจากชาติพันธมิตรเพื่อกดดันจีนให้ ‘เล่นตามกฎ’ แทน ทั้งนี้ CNN ทำนายว่าไบเดนจะยังคงจุดยืนเดิมของทรัมป์บางข้อ เช่น การผลักดันให้พันธมิตรปฏิเสธเทคโนโลยี 5G ของจีน ขจัดอิทธิพลของจีนในบริษัทสัญชาติอเมริกัน และขัดขวางแอปพลิเคชันยอดนิยมจากจีน รวมถึง TikTok ที่ ‘เข้าถึงข้อมูลคนหนุ่มสาวกว่า 100 ล้านคนในสหรัฐฯ’
ทะเลจีนใต้: รัฐบาลโอบามาและทรัมป์ล้วนคัดค้านการอ้างอธิปไตยเหนือทะเลจีนใต้ของจีน โอบามาส่งเรือรบลาดตระเวนใกล้เกาะเทียมและแนวปะการังที่จีนสร้าง ส่วนทรัมป์ยกระดับสูงขึ้น โดยประกาศให้คำกล่าวอ้างของจีน ‘ผิดกฎหมาย’ ส่วนไบเดนแม้จะยังไม่ประกาศจุดยืนในเรื่องนี้อย่างมีนัยสำคัญ แต่ CNN เชื่อว่าเขาจะไม่น้อยหน้ากว่าประธานาธิบดีสองคนก่อนหน้า เพราะไบเดนมักชูจุดขายว่าเขา ‘กล้า’ พูดตรงๆ กับผู้นำจีน เช่น ในบทสนทนากับประธานาธิบดีจีนเมื่อปี 2013 ที่ไบเดนกล่าวถึงระหว่างการดีเบตกับทรัมป์ “(สีจิ้นผิง) บอกว่าคุณบินผ่านเขตแสดงตนเพื่อความปลอดภัยทางอากาศ (ADIZ) ของเราไม่ได้นะ แต่ผมตอบไปว่าเราจะบินฝ่ามันเข้าไป… เราไม่สนใจ”
เกาะและแนวปะการังเทียมที่จีนสร้างในทะเลจีนใต้
ไต้หวัน: จีนยืนกรานมาตลอดว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนนับแต่สิ้นสุดสงครามกลางเมืองปี 1949 และแยกส่วนบริหารกัน ส่งผลให้ไต้หวันเป็นประเด็นอ่อนไหวมาก ทว่าภายใต้รัฐบาลทรัมป์ สหรัฐฯ กระชับความสัมพันธ์กับไต้หวันแน่นแฟ้นมากขึ้น ทั้งการอนุมัติจำหน่ายอาวุธรวมมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายคนไปเยือน รวมถึงนายพลระดับ ‘2 ดาว’ เมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งสำนักข่าว Reuters ระบุว่าเป็นผู้ควบคุมดูแลข่าวกรองทางทหารของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ขณะที่ไบเดนเองมีท่าทีสนับสนุนประชาธิปไตยของไต้หวันเช่นกัน เขาได้ทวีตข้อความแสดงความยินดีถึงประธานาธิบดีไช่อิงเหวินที่เธอชนะเลือกตั้งอีกสมัยได้สำเร็จเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ไม่เพียงเท่านั้น ในเอกสาร ‘จุดยืนพรรคเดโมแครต’ ไม่มีการพูดถึงนโยบาย ‘จีนเดียว’ หรือข้อตกลงว่าสหรัฐฯ ยอมรับว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน ดังนั้นจึงคาดการณ์ได้ว่าไบเดนจะคงท่าทีหรือเพิ่มการสนับสนุนไต้หวันของทรัมป์ต่อไป
ซินเจียงและฮ่องกง: ช่วงปี 2017 มีรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลจีนต่อชาวมุสลิมกว่า 2 ล้านคนในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ทั้งการ ‘ปรับทัศนคติ’ ล่วงละเมิด และทำหมัน ส่งผลให้รัฐบาลทรัมป์ใช้มาตรการลงโทษจีนหลายอย่าง รวมถึงคว่ำบาตรสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ และห้ามนำเข้าสินค้าที่เชื่อว่ามาจาก ‘แรงงานทาสชาวอุยกูร์’ ด้านไบเดนได้แถลงการณ์คัดค้านและเรียกการกระทำของรัฐบาลจีนต่อชาวอุยกูร์ว่าเป็น ‘การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ ทั้งนี้ ผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ได้บอกกับ CNN ว่าไม่ไว้ใจว่าไบเดนจะแข็งกร้าวกับจีนมากพอ อันที่จริงแม้แต่นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในฮ่องกงเองยังคาดหวังว่าทรัมป์จะชนะการเลือกตั้งอีกสมัย เพราะเกรงว่าไบเดนจะอ่อนข้อให้กับจีน ทำให้ยังต้องจับตาดูว่าไบเดนจะทำได้เหมือนที่เคยแถลงการณ์ว่าเขาจะ ‘ชัดเจน แข็งกร้าว และไม่ลดละ เมื่อต้องรับมือกับจีน’ หรือไม่
จีนกำลังล้างสมองชาวอุยกูร์?
การคาดการณ์เชิงนโยบายเหล่านี้สอดคล้องกับรายงานของ The Economist Intelligence Unit หรือ EIU หน่วยวิเคราะห์เศรษฐกิจของสำนักข่าว The Economist ที่กล่าวในรายงานพิเศษ ซึ่ง THE STANDARD ได้รับอนุญาตให้นำข้อมูลมาอ้างอิงได้
“ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีนจะไม่ดีขึ้นมากนักภายใต้ประธานาธิบดีไบเดน แต่ความสนใจและยุทธศาสตร์ที่สหรัฐฯ ใช้จะเปลี่ยนไป” ประโยคหนึ่งในรายงานฉบับนี้ EIU ชี้ว่าไบเดนสืบทอดอำนาจในขณะที่ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนอยู่ในสถานภาพที่ ‘มืดมน’ การค้าระหว่างสองชาติอยู่ในจุดต่ำสุดในรอบหลายปี ซ้ำเติมด้วยการระบาดของโควิด-19 แต่สถานการณ์ฟากฝั่งจีนเริ่มดีขึ้น
GDP จีนจะแซงหน้าสหรัฐฯ ในช่วงปี 2030
ภาพ: The Economist Intelligence Unit
‘โทนเสียง’ และ ‘ยุทธศาสตร์’ เป็นสิ่งที่น่าจะเปลี่ยนไปมากที่สุดในสมัยของไบเดน แต่ ‘เป้าหมาย’ จะไม่เปลี่ยนไปจากยุคทรัมป์สักเท่าไร คือรัฐบาลมุ่งเอาผิดจีนต่อประเด็นความมั่นคงและสิทธิมนุษยชนต่อไป ส่วนการผ่อนคลายกำแพงภาษีจะทำก็เพื่อประโยชน์ของบริษัทอเมริกันเป็นสำคัญ
การส่งออกไปสหรัฐฯ ของจีนกระทบหนักจากกำแพงภาษีและโควิด-19
ภาพ: The Economist Intelligence Unit
ปัญหาในบ้านสำคัญกว่าจีน…ในช่วงแรก
EIU มองว่าแม้การรับมืออำนาจที่เติบใหญ่ของจีนจะเป็นสิ่งสำคัญของรัฐบาลไบเดน แต่ก็ยังเป็นรองวิกฤตในประเทศที่ค้างคาจากปีการบริหารสุดท้ายของทรัมป์ล่วงไปถึงปีแรกหลังรับตำแหน่งของไบเดน นั่นคือการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ไม่เพียงแค่ต้องลดจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อ ผู้เสียชีวิต และทดสอบวัคซีนให้สำเร็จเท่านั้น แต่รวมถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่ตามมาด้วย ถือเป็นภารกิจแรกที่ไบเดนต้องรับมือ และมีความสำคัญเหนือการปรับทิศทางนโยบายต่างประเทศ
แต่หากมรสุมในบ้านผ่านพ้นไป EIU เชื่อว่าสหรัฐฯ จะเริ่มเสริมบทบาทด้านความมั่นคงในภูมิภาค รวมถึงกรณีพิพาททะเลจีนใต้ด้วยการจับมือกับชาติพันธมิตรที่มีจุดยืนเดียวกันเพื่อกดดันจีน
ภายในเส้นประสีแดง 9 เส้นคือพื้นที่ที่จีนอ้างอธิปไตย
ภาพ: The Economist Intelligence Unit
ทั้งนี้ อย่างมากสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ก็จะกลับไปสู่รูปแบบที่รัฐบาลโอบามาเคยใช้ คือเน้นการกดดันทางการทูตและเพิ่มบทบาทในเอเชีย เพราะ EIU วิเคราะห์ว่าข้อพิพาททะเลจีนใต้มีมานานแล้ว และจะยังมีต่อไปในสมัยของไบเดน เพราะมีอุปสรรคมากมายที่แม้สหรัฐฯ จะเปลี่ยนจุดยืนและปรับยุทธศาสตร์รับมือก็ยังไม่เพียงพอจะทำให้จีนยอมประนีประนอม
โฉมหน้าทีมต่างประเทศของไบเดน
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่าที่ประธานาธิบดีไบเดนทยอยเผยโฉมหน้าคณะรัฐมนตรีของเขา รวมถึงตัวว่าที่รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ด้วย ซึ่งล้วนแต่เป็นคนใกล้ชิดและเคยทำงานกับไบเดนมาแล้ว
ไบเดนเลือก แอนโทนี บลินเคน วัย 58 ปี นั่งเก้าอี้เจ้ากระทรวงการต่างประเทศ เขามีประวัติทำงานกับไบเดนย้อนไปนานถึง 20 ปี ตั้งแต่สมัยที่ไบเดนอยู่ในคณะกรรมาธิการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของวุฒิสภา
แอนโทนี บลินเคน (ขวา) เคยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
BBC มองว่า ‘ความคุ้นเคยใกล้ชิด’ จะช่วยให้การดำเนินนโยบายต่างประเทศไร้ซึ่งอุปสรรค แต่ข้อเสียคือความเห็นที่คล้อยตามกันเกินไป ขาดซึ่งการเห็นต่างและแนวคิดใหม่ๆ
ส่วน ลินดา โทมัส-กรีนฟิลด์ หนึ่งในนักการทูตหญิงผิวดำคนสำคัญ ได้รับการเสนอชื่อเป็นทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ (UN)
ว่าที่ทูตประจำ UN คนใหม่ของสหรัฐฯ
สำหรับตำแหน่งที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติตกเป็นของ เจค ซัลลิแวน อดีตพนักงานกระทรวงการต่างประเทศและที่ปรึกษาคนสนิทของ ฮิลลารี คลินตัน มีบทบาทสำคัญในการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านเมื่อปี 2015 โดยซัลลิแวนเคยรับตำแหน่งเดียวกันมาแล้วในช่วงที่ไบเดนเป็นรองประธานาธิบดี
พีเจ โครว์ลีย์ อดีตรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศสหรัฐฯ ชี้ว่า “นี่ไม่ใช่ทีมของคู่อริที่คิดต่าง ทัศนคติเชิงนโยบายจะคล้ายคลึงกัน เสนอผ่านประสบการณ์รับมือความขัดแย้งระดับโลกอย่างโชกโชน… เรียกว่าเป็นนักปฏิบัติมากกว่าพวกมากอุดมการณ์”
ชาร์ลส์ คุลชาน อดีตสมาชิกสภาความมั่นคงแห่งชาติทำเนียบขาว เชื่อว่า ‘สามขุนพลต่างประเทศ’ ของไบเดนจะช่วยฟื้นขวัญกำลังใจให้กระทรวงการต่างประเทศ เพราะ “สมัยของทรัมป์ เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศเปรียบเหมือนแค่ทหารเลวของแนวคิดสากลนิยมเชิงเสรีที่ทรัมป์มองเป็นศัตรู ทำให้ขวัญกำลังใจในกระทรวงการต่างประเทศตอนนี้ต่ำมาก”
ผู้เชี่ยวชาญอีกหลายคนเห็นตรงกันว่า ‘ทีมต่างประเทศ’ ของไบเดนมีประสบการณ์มากกว่าทีมงานในสมัยทรัมป์ที่นำคนจากภาคธุรกิจมากุมบังเหียน อย่าง เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน อดีตเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทน้ำมัน Exxon Mobil ที่รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนแรก ส่วนคนที่มาแทนที่อย่าง ไมค์ ปอมเปโอ ก็ทำให้นักการทูตมากฝีมือหลายคนหมดไฟ ขอเกษียณก่อนกำหนดไปหลายคน
“พวกเขาเป็นผู้ยึดมั่นในภาวะผู้นำของสหรัฐฯ และหลักพันธมิตรสากล” พีเจ โครว์ลีย์ กล่าวถึงทีม ‘บลินเคน-กรีนฟิลด์-ซัลลิแวน’
ไบเดนจะยังเป็น ‘เพื่อนเก่าแก่’ ของจีนอยู่หรือไม่
“พวกเขาทั้งสามที่ต่างเคยทำงานในกระทรวงการต่างประเทศจะนำคุณค่าแห่งการทูตสากลและหลักความร่วมมือมาแก้ปัญหาที่ท้าทาย ตั้งแต่การระบาดของไวรัสร้าย ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง และความท้าทายจากจีน”
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- A report by The Economist Intelligence Unit (EIU): US-China relations under a Biden presidency (EIU, 2020)
- https://edition.cnn.com/2020/11/15/asia/biden-china-policy-trump-us-intl-hnk/index.html
- https://www.nbcnews.com/think/opinion/china-not-biden-picks-antony-blinken-jake-sullivan-will-dictate-ncna1248683
- https://www.bbc.com/news/election-us-2020-55048975
- https://www.theguardian.com/us-news/2020/nov/23/trumps-us-investment-ban-aims-to-cement-tough-on-china-legacy
- https://foreignpolicy.com/2020/11/06/biden-china-trump-election/
- https://www.bbc.com/news/election-us-2020-54871890