×

รู้ทันตลาด…รู้ทันการลงทุน

24.11.2020
  • LOADING...

สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีนที่ออกมาอีกครั้ง โดยล่าสุดบริษัทยา Moderna เปิดเผยผลการทดสอบวัคซีนเบื้องต้นในระยะที่ 3 พบว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโควิด-19 ถึง 94.5% ใกล้เคียงกับวัคซีนของ Pfizer และ BioNTech ที่ 90% โดยทั้งสองบริษัทได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น และแคนาดา ทำให้ประเทศเหล่านี้มีสิทธิ์ได้รับวัคซีนก่อน ซึ่งทั้งสองบริษัทคาดว่าจะผลิตวัคซีนรวมกันได้ประมาณ 2,000 ล้านโดสในปีหน้า เพียงพอสำหรับประชากรที่ต้องได้รับวัคซีนในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจำนวน 660 ล้านคน คิดเป็น 1,300 ล้านโดส (2 โดสต่อคน) นับว่าเป็นข่าวดีอีกหนึ่งเรื่องที่ช่วยผลักดันให้ตลาดหุ้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมาค่อนข้าง Underperform ตลาดหุ้นประเทศอื่นๆ เนื่องจากมี Sector Rotation จากหุ้นกลุ่มหุ้นเติบโตเร็ว (Growth Stock) ไปยังหุ้นกลุ่มที่มีราคาหรือมูลค่าต่ำกว่าราคาที่เหมาะสม (Value Stock) ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่งผลให้จำนวนผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานปรับเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบเดือน และเป็นระดับที่สูงกว่าคาดการณ์ของตลาด อย่างไรก็ตาม ตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production) ในเดือนตุลาคมยังมีแนวโน้มการฟื้นตัว โดยมีการหดตัวลดน้อยลงอยู่ที่ -5.3%YoY จาก -6.7%YoY ในเดือนก่อนหน้า สำหรับด้านนโยบายการเงิน Fed ยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย โดยยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0-0.25%

ในส่วนของตลาดหุ้นจีน เนื่องจากนโยบายโดยรวมของไบเดนซึ่งชนะเลือกตั้งสหรัฐฯ มีแนวโน้มเป็นบวกต่อตลาดหุ้นในเอเชีย ประกอบกับธนาคารกลางจีนยังคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจจีนในช่วงเดือนที่ผ่านมาฟื้นตัวดีขึ้น โดยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 6.9%YoY เท่ากับเดือนก่อน และดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 6.7% จากอานิสงส์ของอุปสงค์ทั้งในและนอกประเทศที่ฟื้นตัวดีขึ้น ขณะที่ยอดค้าปลีกขยายตัว 4.3%YoY เพิ่มขึ้นจาก 3.3%YoY ในเดือนก่อนหน้า โดยยอดขายในกลุ่มร้านอาหารพลิกกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในปีนี้ รวมถึงยอดขายรถยนต์ที่ยังคงขยายตัวสูงต่อเนื่อง ทำให้ตลาดหุ้นจีนเป็นตลาดที่น่าสนใจลงทุนในช่วงนี้

สำหรับตลาดหุ้นยุโรป จากการที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังคงเข้าซื้อสินทรัพย์ผ่านมาตรการ PEPP (Pandemic Emergency Purchase Program) อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับปัจจัยบวกจากข่าวดีของการพัฒนาวัคซีนที่ประกาศออกมา ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing PMI) เดือนตุลาคมเพิ่มขึ้น 1.1 จุด เป็น 54.8 จุด นับว่าสูงที่สุดในรอบ 27 เดือน

อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสองยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องจับตา และการที่ยุโรปเพิ่มความเข้มงวดมาตรการล็อกดาวน์อาจส่งผลกระทบโดยตรงกับภาคบริการ ซึ่งสะท้อนได้จากตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ (Service PMI) เดือนตุลาคมที่ปรับตัวลดลง 1.1 จุด เป็น 46.9 จุด เป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ส่งผลให้กดดันดัชนีรวม Composite PMI ลดลง 0.4 จุด อยู่ที่ 50 จุด ต่ำสุดในรอบ 4 เดือน

นอกจากนี้ในตลาดหุ้นอินเดียช่วงต้นเดือนที่ผ่านมามีการปรับตัวสูงขึ้น หลังไบเดนได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มกลับมาใกล้เคียงสภาวะปกติ ประกอบกับตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนกันยายนพลิกตัวกลับมาเป็นบวกที่ระดับ 0.2% จากติดลบที่ระดับ -7.4% ในเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โควิด-19 ในอินเดียยังเป็นปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังจากสถานการณ์การระบาดระลอกสองในประเทศหลัก เช่น ยุโรป และสหรัฐฯ

ส่วนของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 หดตัวที่ -6.4%YoY ซึ่งออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ -8.8%YoY และดีกว่าไตรมาสก่อนหน้าที่ -12%YoY จากการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 ที่คืบหน้าเป็นอย่างมาก ทำให้ความกังวลในการแพร่ระบาดของโควิด-19 ลดลง รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ จากภาครัฐ เช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการช้อปดีมีคืน และแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบจำกัดจำนวน ซึ่งเหล่านี้ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในประเทศไทย และเป็นปัจจัยบวกหนุนต่อภาพการลงทุนในประเทศไทย

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising