×

เตรียมคนสู่อนาคต ถอดสูตรลับ 3 เจ้าของรางวัลโนเบล

20.11.2020
  • LOADING...

‘อยากรู้อยากเห็น’ ‘สะเปะสะปะ’ และ ‘พากเพียร’

 

นี่คือสามคำที่ผมได้จากการฟังเจ้าของรางวัลโนเบล 3 ท่านที่มาพูดเรื่อง ‘เคล็ดลับการเรียนรู้’ ในงาน World Economic Forum ที่เมืองดาวอส เมื่อตอนต้นปี

 

รายการนี้สำหรับผมโดยส่วนตัวเป็นไฮไลต์ที่สุดของการประชุมดาวอส เพราะอาจารย์แต่ละท่านไม่ได้มาพูดเรื่องวิชาเศรษฐศาสตร์หรือฟิสิกส์ที่ตนเองถนัด แต่มาเล่าเบื้องหลังของกระบวนการเรียนรู้ และการก้าวข้ามความล้มเหลวของตนเองที่ทำให้เป็นเขาอยู่ทุกวันนี้ 

 

ที่สำคัญ ข้อคิดที่ได้กลายเป็นความสำคัญยิ่งกว่าเดิมในยุคหลังโควิด-19 ที่คลื่นแห่งอนาคตถูกเร่งให้มาถึงเร็วยิ่งกว่าเดิม

 

โดยทั้ง 3 ท่านคือ

 

คนแรก ศาสตราจารย์โจเซฟ สติกลิตซ์ (Joseph Stiglitz) รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ (และจริงๆ แอบมีเบิล ได้สาขาสันติภาพจากรายงานเรื่องโลกร้อนในปี 2007ด้วย) ท่านเป็นประธานที่ปรึกษาทีมเศรษฐกิจของประธานาธิบดีคลินตัน และผู้เขียนหนังสือ The New York Times Best Seller 

 

ที่สำคัญ ท่านเป็นอาจารย์ผมที่สร้างแรงบันดาลใจเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีพตั้งแต่ 15 ปีมาแล้ว ก่อนที่คำว่า Life Long Learning จะเป็นที่นิยม จนผมเขียนถึงท่านหนึ่งบทในหนังสือ Futuration

 

คนที่สองคือ ศาสตราจารย์โรเบิร์ต ชิลเลอร์ (Robert Shiller) สาขาเศรษฐศาสตร์เช่นกัน ปรมาจารย์การเงินที่วงการการเงินการลงทุนไม่มีใครไม่รู้จัก ผู้เขียนหนังสือเล่มดัง Irrational Exuberance

 

คนที่สาม ไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ แต่เป็นเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ไบรอัน ชมิด (Brian Schmidt) เป็นเจ้าพ่อดาราศาสตร์ที่พบหลักฐานว่าจักรวาลขยายตัวในอัตราเร็วขึ้นเรื่อยๆ และโดยส่วนตัวผมว่าเป็นคนที่พูดสนุกที่สุดในคืนนั้น

 

‘อยากรู้’-การตั้งคำถาม

 

อาจารย์สติกลิตซ์เริ่มพูดด้วยการตอบคำถามที่ผมมีในใจมา 15 ปี แต่ไม่เคยกล้าถามว่า ทำไมแกถึงมีความอยากรู้อยากเห็นมากมายขนาดนั้น ขนาดเป็นปรมาจารย์ระดับนี้ 

 

แกเล่าว่าในสมัยที่แกยังเป็นเด็กอเมริกัน โดยเฉพาะในรัฐอินเดียนา มีปัญหาเรื่องความทัดเทียมเรื่องเพศหนักกว่าสมัยนี้มาก ผู้หญิงเก่งๆ มากมายไม่สามารถได้งานดีๆ จึงต้องมาเป็นครู ซึ่งตอนนั้นจัดว่าไม่ใช่งานที่คนอยากเป็นกันมากนัก

 

ในความอาภัพของสหรัฐฯ เลยกลายเป็นโชคดีของแกที่ได้ครูเก่งๆ มาสอน โดยสิ่งที่แกจำได้ดีคือ อาจารย์สอนแกตั้งแต่เด็กว่า ‘การตั้งคำถาม’ นั้นสำคัญกว่าคำตอบมากมายนัก และฝึกหัดให้นักเรียนรู้จักตั้งคำถามหล่อเลี้ยงความอยากรู้ (Curiosity) อยู่เสมอ

 

ความกระหายต่อการเรียนรู้นี้เป็นเสมือน ‘โรคติดต่อ’ (แบบที่ดี) เพราะเมื่อคนหนึ่งจุดประกายแล้ว สามารถแพร่ความสงสัยไปสู่คนอื่นได้ เสมือนที่เราเห็นบ่อยๆ ในห้องเรียนหรือสัมมนา ที่คำถามแรกจากคนฟังจะมายากที่สุด แต่พอเริ่มแล้วหลายคนจะถามกันต่อจนผู้ดำเนินรายการต้องตัดบท หลายคนกลับบ้านไปยังไปคิดต่ออีกไม่จบ

 

แนวทางการสอนแบบนี้แตกต่างจากการเรียนรู้แบบดั้งเดิมที่ ‘คำตอบสำคัญกว่าคำถาม’ อาจารย์รู้คำตอบดีที่สุด และควรเชื่อฟังผู้ใหญ่ อย่าสงสัย ในวันที่การเรียนรู้ส่วนใหญ่ของชีวิตเกิดขึ้นหลังเรียนจบ โจทย์สำคัญคือ ทำอย่างไรให้ความสงสัยอยากรู้ไม่มอดหายไป แม้ว่าจะมีประสบการณ์มากแค่ไหนก็ตาม

 

‘อยากเห็น’- สังเกตการณ์

 

ผมแยกคำว่าอยากเห็นออกจาก ‘อยากรู้อยากเห็น’ เพราะการคุยกันวันนั้นชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการ ‘อยากเห็น’ หรือการสังเกตการณ์จากความเป็นจริงอย่างใกล้ชิด และไม่มีความลำเอียงส่วนตัวเจือปน

 

อาจารย์สติกลิตซ์เล่าให้ฟังว่า แกเคยอยากเรียนวิชาฟิสิกส์ เหมือนอาจารย์ชมิดที่นั่งอยู่ในห้อง แต่เนื่องจากโตมาในรัฐอินเดียนาที่เศรษฐกิจตกต่ำจากการที่โรงงานย้ายออกไป แกจึงเห็นความลำบากของคนแถวบ้านทุกวัน จึงเกิดแรงบันดาลใจ อยากเรียนวิชาที่สามารถกลับมาใช้พัฒนาเศรษฐกิจ ช่วยปัญหาความยากจนได้

 

แต่แล้วก็ผิดหวัง เพราะพอเรียนเศรษฐศาสตร์จริง พบว่าวิชาเศรษฐศาสตร์ตอนนั้น คนส่วนใหญ่เชื่อแต่กลไกตลาดอย่างไม่ลืมหูลืมตา ไม่ดูความจริงว่า กลไกตลาดที่ไร้กติกาดีๆ นั้นสามารถล้มเหลวได้โดยสิ้นเชิง และสร้างปัญหาสังคมมหาศาล แกบอกว่าหลายมหาวิทยาลัยชั้นนำ จริงๆ ก็ถูกล้อมด้วยถิ่นชุมชนรายได้น้อย หากเพียงเดินออกมาไม่กี่ก้าวแล้วลืมตาดู ก็จะเห็นว่าสิ่งที่อยู่ในตำรามันไม่ถูกเสมอไป

 

ความผิดหวังนี้ไม่ได้ทำให้แกท้อถอยกับวิชาเศรษฐศาสตร์ แต่กลับจุดไฟให้หาแนวคิดและทฤษฎีใหม่เพื่อ ‘ปฏิรูป’ วิชาเศรษฐศาสตร์ ซึ่งสุดท้ายนำมาสู่การทฤษฎีด้าน Information Economics ที่ทำให้แกได้รางวัลโนเบล

 

หากตอนนั้นแกไม่รู้จักสังเกตสังคมที่อยู่รอบตัว ไม่พูดคุยกับคนที่อยู่นอกวงเศรษฐศาสตร์ตอนนั้น หรือมีความลำเอียงที่ทำให้เชื่อแต่ความคิดของตน ไม่เห็นความจริงที่อยู่ตรงหน้า วันนี้เราอาจไม่มีวิชา Information Economics ที่ลึกซึ้งขนาดนี้

 

บทเรียนนี้ชี้ให้เห็นว่า ความอยากรู้อย่างเดียวบางครั้งอาจไม่พอ ความ ‘อยากเห็น’ ช่างสังเกตการณ์โดยไร้ความลำเอียงเป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน โดยเฉพาะในโลกปัจจุบัน ที่บางครั้งโซเชียลมีเดียทำให้เราเกิด ‘ห้องสะท้อนเสียงตนเอง’ (Echo Chamber) ที่อัลกอริทึมเลือกเฉพาะให้เราเห็นในสิ่งที่เราอยากเห็น มีแต่เสียงชม ไม่เห็นความคิดที่ต่าง

 

‘สะเปะสะปะ’-บางครั้งการหลงทางทำให้เราค้นพบทางใหม่

 

อาจารย์ชมิดบอกทุกคนว่า คนเรามักเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ 2 ข้อ

 

  1. เรามักถูกสอนว่า ในทางวิทยาศาสตร์การทดลองต้องเริ่มจากตั้งสมมติฐาน เก็บข้อมูล ทำการทดลอง วัดผล และเทียบกับสมมติฐาน เสมือนมีถนนไปข้างหน้าชัดเจน 

 

แต่ในความเป็นจริงนั้น ขั้นตอนการทดลองและเรียนรู้ ‘สะเปะสะปะ’ กว่านั้นมาก และนั่นไม่ใช่เรื่องแย่

 

แกเป็นคนหนึ่งที่ชอบทดลองโน่นนี่เล่นๆ เหมือนไร้ทิศทางไม่มีกรอบชัดเจน แต่บางครั้งการลองอย่างไร้ทิศทางนี่แหละ เป็นการทำให้สามารถก้าวข้ามขีดจำกัดและกรอบหลายๆ อย่างที่ถูกตีไว้จำกัดการเรียนรู้เรา บางครั้งการหลงทางมันทำให้พบทางใหม่

 

เราคุยกันว่า มันช่างตรงกันข้ามกับการเรียนในระบบการศึกษาในปัจจุบันในหลายประเทศ ที่มักจะบีบให้เราต้องเลือกเรียนในสิ่งที่เราถนัดเท่านั้นตั้งแต่เด็กๆ เพื่อสอบได้คะแนนดีๆ ไม่ได้เปิดพื้นที่และเวลาให้สามารถเรียนรู้ ค้นคว้าแบบสะเปะสะปะ

 

ผมเองเป็นคนหนึ่งที่เชื่อในการสอนแบบให้ ‘เข็มทิศ’ แต่ไม่ให้ ‘แผนที่’ กับคน คือ ช่วยแนะทิศทาง โดยเฉพาะในเรื่องของคุณธรรม ความรับผิดชอบ จรรยาบรรณ จิตวิญญาณ แต่ไม่ขีดเขียนแผนที่ให้ว่าจะไปจุดหมายนั้นๆ อย่างไร 

 

ด้วยความเชื่อว่าโลกนี้แผนที่มันเปลี่ยนตลอด คนรุ่นต่อไปสามารถหาหนทางใหม่ๆ ที่ดีกว่าคนรุ่นก่อนๆ ได้เสมอ และแม้หลงทางบ้าง ก็เป็นการเรียนรู้ แค่อย่าให้ ‘หลงทิศ’

 

เพราะไม่เชี่ยวชาญจึงสร้างสรรค์

 

  1. เรามักจะคิดว่าต้องเป็นผู้ความเชี่ยวชาญด้านนั้นๆ ถึงจะคิดสร้างสรรค์ต่อยอดไอเดียต่างๆ ได้ ทำให้บางครั้งคนไม่เชี่ยวชาญไม่กล้าพูด และคนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นกูรูก็ไม่ฟังใคร 

 

แต่ในความเป็นจริงแล้ว การที่เราไม่เชี่ยวชาญนี่แหละอาจทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเกิดขึ้น เพราะเคล็ด (ไม่) ลับของ Creativity คือ การมองปัญหาเดิมจากมุมมองใหม่ ซึ่งบางครั้งผู้เชี่ยวชาญวิชานั้นๆ ทำได้ยาก เพราะชินกับ ‘แว่นตา’ ที่ตัวเองใส่มองปัญหามาตลอดชีวิต 

 

โดยอาจารย์ชมิดเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ตอนหนุ่มๆ ที่แม้แกจะถนัดทางฟิสิกส์ แต่ไม่ได้เป็น ‘สายดำ’ ทางชีววิทยา แต่เพราะเหตุนั้นจึงทำให้แกสามารถคิดนอกกรอบ และพบวิธีแก้ไขปรับโครโมโซมแบบใหม่อย่างที่ผู้เชี่ยวชาญทางชีววิทยาไม่คิดถึง

 

การให้คนเดิน ‘สะเปะสะปะ’ ไปลองทำในสิ่งที่ตัวเองไม่คุ้นไม่เชี่ยวชาญ บางครั้งจึงอาจเป็นเรื่องจำเป็น 

 

นอกจากนี้ สำหรับผู้บริหาร การสร้างทีม องค์กร และสังคมที่มีความหลากหลายทางความคิด วิชา วัฒนธรรม และประสบการณ์ ให้อยู่ด้วยกันและทำงานร่วมกันได้ เพราะความหลากหลายของมุมมองจะทำให้นวัตกรรมและการเรียนรู้เบิกบาน

 

‘พากเพียร’-ยอมรับล้มเหลวแต่ไม่ยอมแพ้ 

 

อาจารย์ทั้งสามพูดถึงคำคมที่ว่า 

 

‘Science advances at one funeral at a time’ 

 

หรือ ‘วิทยาศาสตร์ก้าวหน้าได้ทีละงานศพ’ ซึ่งแปลว่า การสร้างองค์ความรู้ใช้เวลานานมากจนอาจข้ามช่วงชีวิตหลายคน จึงต้องใช้ความพากเพียรลองผิดลองถูก ล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่านับครั้งไม่ถ้วน กว่าจะสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ขึ้นมาได้ 

 

แล้วอาจต้องใช้เวลานาน กว่าที่วงการวิชาการและสังคมจะยอมรับกับแนวคิดใหม่ที่ไม่คุ้นเคยอีก โดยไม่แปลกเลยหากเจ้าของไอเดียใหม่อาจถูกมองเป็นคนบ้า

 

การลงทุนสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมจึงต้องอาศัยการมองระยะยาวและความอดทนอย่างมาก ไม่ใช่แค่ความอดทนของตัวนวัตกรเท่านั้น แต่ความอดทนต่อของสปอนเซอร์ องค์กร และสังคมด้วย หากบางองค์กรหรือสังคมมองแต่ผลประโยชน์ระยะสั้น และไม่มีความอดทนต่อความล้มเหลวไอเดียและนวัตกรรมดีๆ ก็เป็นเสมือนอาจไม่มีรันเวย์ยาวพอให้ ‘บินขึ้น’ (Take off)

 

พอฟังจบแล้ว ผมอดคิดไม่ได้ว่า ข้อคิดที่ได้ในวันนั้นมีค่า ไม่ใช่เพราะมันมาจากเจ้าของรางวัลโนเบลทั้ง 3 ท่าน

 

แต่เพราะมันเป็นบทเรียนที่กลั่นมาจากประสบการณ์ของนักสู้ 3 คนที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรค ใช้ความอดทนมานับครั้งไม่ถ้วน 

 

มันเป็นวิถีชีวิตของคนที่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่เก่งในการหาคำตอบ แต่เก่งยิ่งกว่าในการค้นหาคำถาม 

 

มันเป็นเคล็ด (ไม่) ลับแห่งการเรียนรู้ ที่ทุกคนสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ไม่ว่าจะเป็นใคร เพื่อหารางวัล ‘โนเบล’ ของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน

 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X