ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ‘บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS)’ ซึ่งหลายคนน่าจะรู้จักกันในฐานะผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS ได้ขยายการลงทุนในหลายๆ ด้าน ส่วนหนึ่งคือการขยายธุรกิจที่ต่อยอดออกจากระบบรถไฟฟ้าอย่างสื่อโฆษณา, ระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงอสังหาริมทรัพย์
ในขณะเดียวกัน BTS ยังได้กระจายการลงทุนไปยังบริษัทอื่นๆ เพิ่มเติม ผ่านการเข้าซื้อหุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์อีกหลายราย ซึ่งหากดูจากข้อมูลการถือหุ้นที่เปิดเผยล่าสุด จะเห็นว่า BTS ยังมีการถือหุ้นในบริษัทอื่นๆ อีก 10 บริษัท คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 3.2 พันล้านบาท
ที่ผ่านมา เมื่อ BTS ขยับเงินลงทุนเข้าไปถือหุ้นในธุรกิจอื่นๆ มักจะมีการตั้งคำถามถึงวัตถุประสงค์ในเชิงธุรกิจที่ BTS และบริษัทนั้นๆ อาจจะมีร่วมกัน อย่างในปี 2562 ซึ่ง BTS เข้าซื้อหุ้น Big Lot จากผู้บริหารของ คอมเซเว่น (COM7) คิดเป็นมูลค่าถึง 1.1 พันล้านบาท ก็มีการตั้งข้อสังเกตกันว่าเราจะได้เห็นการ Synergy กันอย่างไรจากทั้งสองบริษัทนี้
แต่เมื่อลองดูข้อมูลการถือหุ้นของ BTS ล่าสุด ประกอบกับพัฒนาการความร่วมมือในช่วงที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าการเข้าถือหุ้นในหลายๆ บริษัท โดย BTS ในช่วงที่ผ่านมา อาจจะไม่ได้มีวัตถุประสงค์อื่นใดมากไปกว่าแค่ ‘การเก็งกำไร’
จากข้อมูลช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา นอกจาก COM7 แล้ว BTS ยังเคยเข้าซื้อหุ้นแบบ Big Lot จากบริษัทอื่นๆ อย่าง เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) ในจำนวน 28 ล้านหุ้น ที่ราคาเฉลี่ย 19.40 บาท เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563
ล่าสุดคือ การเข้าซื้อหุ้น อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN) จำนวน 249.97 ล้านหุ้น ที่ราคาเฉลี่ย 1.33 บาท โดยในปัจจุบัน หุ้นหลายตัวที่ BTS เคยเข้าซื้อแบบ Big Lot กลับไม่ปรากฏชื่อของ BTS เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่อีกแล้ว
ตั้งแต่ปีก่อน 4 หุ้นที่ BTS ขายออกไปจนเกลี้ยงพอร์ต ได้แก่ COM7, JMT, JMART และ SINGER ส่วนหุ้น ANAN ที่เพิ่งเข้าซื้อล่าสุด จริงๆ แล้ว BTS เคยถืออยู่ 34 ล้านหุ้น ก่อนจะขายออกไปและกลับเข้ามาซื้อใหม่ ขณะที่หุ้นอื่นๆ ในพอร์ต อย่าง BEC, RS, NOBLE และ HUMAN ก็ถูกขายลดสัดส่วนการถือหุ้นลงมาจากเดิม
ปริญญ์ กิจจาทรพิทักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เคจีไอ เปิดเผยว่า การเข้าลงทุนในหุ้นของบริษัทต่างๆ โดยส่วนตัวไม่ได้มองเป็นการ Synergy หรือทำโปรเจกต์ใหญ่ๆ ร่วมกันแต่อย่างใด ซึ่งการเข้าซื้อหุ้นบางครั้งเป็นการถือลงทุน แต่ในบางครั้งก็เป็นการเก็งกำไร และต้องยอมรับว่า BTS ค่อนข้างเก่งในเรื่องของการบริหารจัดการเงินทุน
“การขยับพอร์ตลงทุนของ BTS ในแต่ละครั้ง ทำให้เกิดมุมมองที่ว่าอาจจะเห็น Synergy ทางธุรกิจ ส่วนตัวมองว่ามักจะเป็นข่าวลือ และจากการคุยกับบริษัทก่อนหน้านี้ บริษัทให้คำตอบว่าการลงทุนเหล่านี้เป็นการลงทุนธรรมดา สามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอด”
ด้าน ปฏิภาค นวาวัตน์ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงศรี มองไปในทิศทางที่คล้ายกันว่า พอร์ตการลงทุนของ BTS เป็นลักษณะของ Treasury Management หรือการบริหารสภาพคล่องของบริษัทในช่วงสั้นๆ ลักษณะเหมือนเป็นนักลงทุนคนหนึ่ง หากบริษัทไหนมีแนวโน้มกำไรดี ก็ตัดสินใจเข้าลงทุน และหากจำเป็นต้องใช้เงินสด ก็ขายหุ้นออกไป
“จะเห็นว่าการลงทุนของ BTS ในหุ้นส่วนใหญ่ไม่ได้เกิน 10% ซึ่งคงจะไม่ได้เป็น Strategic Move แน่ๆ หากจะคาดหวังถึงการ Synergy ระหว่างธุรกิจ สัดส่วนการถือหุ้นควรจะเกิน 10% หรืออาจจะต้อง 20% ขึ้นไป เพราะการถือในสัดส่วนน้อย BTS แทบจะไม่ได้ผลประโยชน์ใดๆ เลยจากการทำธุรกิจร่วมกัน ซึ่งที่ผ่านมาบริหารก็เคยพูดชัดว่าเป็นการลงทุนทั่วไป”
โดยภาพรวมแล้ว ดูเหมือนว่าการขยับพอร์ตลงทุนของ BTS ในแต่ละครั้ง อาจจะไม่ได้มีความหมายในเชิงธุรกิจมากนัก ยิ่งเป็นการเข้าถือหุ้นที่ BTS ไม่ได้มีแผนธุรกิจร่วมกันออกมาชัดเจน สุดท้ายก็อาจจะไม่ได้เห็นความร่วมมือทางธุรกิจใดๆ เหมือนกับหลายๆ กรณีที่ผ่านมา
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล