สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ปี 2563 ‘หดตัว’ 6.4% ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่หดตัวน้อยลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2563 ที่หดตัว 12.1% และเมื่อปรับผลของฤดูกาลแล้ว เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ปี 2563 เพิ่มขึ้น 6.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ส่งผลให้ช่วง 9 เดือนแรกปี 2563 เศรษฐกิจไทย ‘ลดลง’ ราว 6.7%
ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช. กล่าวว่า ตัวเลขที่ออกมาถือว่าดีกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ ขณะที่เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจหลายตัวมีสัญญาณดีขึ้นมาก โดยเฉพาะการบริโภคภาครัฐ และสาขาการก่อสร้างที่กลับมาขยายตัว 10.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
นอกจากนี้สาขาการเงินก็ปรับตัวดีขึ้นโดยขยายตัว 1.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนเครื่องชี้วัดตัวอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนรวม และการบริโภคภาคเอกชน ก็หดตัวน้อยลง
ดนุชา กล่าวว่า ในส่วนของการบริโภคภาคเอกชน หดตัวน้อยลงเหลือติดลบ 0.6% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัว 6.8% สาเหตุจากการผ่อนคลายมาตรการปิดสถานที่และยกเลิกการจำกัดการเดินทางในประเทศ ขณะเดียวกันยังมีมาตรการช่วยเหลือ ฟื้นฟู และเยียวยาต่างๆ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการใช้จ่ายภายในประเทศฟื้นตัวตามลำดับ
ส่วนการลงทุนภาคเอกชนยังหดตัว 10.7% แต่เป็นการหดตัวที่น้อยลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัว 15% ซึ่งเป็นไปตามการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรที่ลดลง ขณะที่การลงทุนในสิ่งก่อสร้างกลับมาขยายตัว 0.3%
ด้านการลงทุนภาครัฐขยายตัว 18.5% เป็นผลจากการลงทุนของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้น 29.5% ขณะที่การลงทุนรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้น 0.9% ส่วนการบริโภคภาครัฐ ขยายตัว 3.4% ตามการขยายตัวของการโอนเพื่อสวัสดิการทางสังคมที่ไม่เป็นตัวเงิน
สำหรับการส่งออก ในไตรมาส 3 ปี 2563 หดตัว 8.2% ซึ่งเป็นการหดตัวที่น้อยลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2563 ที่หดตัว 17.8% สาเหตุจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าเริ่มฟื้นตัว และการขยายตัวของสินค้าส่งออกบางรายการที่ได้ประโยชน์จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ส่วนการนำเข้าสินค้าในไตรมาส 3 ปี 2563 หดตัว 17.8% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัว 23.4% ซึ่งสอดคล้องกับระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจตที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน
ดนุชา กล่าวว่า ด้วยตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3 ปี 2563 ที่หดตัวน้อยกว่าคาด ทำให้ สศช. ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ใหม่ เป็นหดตัวน้อยลงเหลือ 6% จากเดิมคาดว่าจะหดตัวประมาณ 7.5%
โดยที่การส่งออกในปีนี้คาดว่าจะหดตัวราว 7.5% ส่วนการบริโภคภาคเอกชนจะหดตัวราว 0.9% การลงทุนรวม คาดหดตัว 3.2% ขณะที่เงินเฟ้อทั่วไปอาจหดตัวราว 0.9% และดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงเกินดุล 2.8% ของ GDP
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปีหน้า คาดว่าจะกลับมาขยายตัวที่ประมาณ 3.5-4.5% โดยได้แรงหนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก แรงขับเคลื่อนจากภาครัฐ จากการเบิกจ่ายภายใต้กรอบงบประมาณและมาตรการทางเศรษฐกิจ และฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในปี 2563
ทั้งนี้คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัว 4.2% การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว 2.4% การลงทุนรวม คาดว่าจะขยายตัวได้ราว 6.6% ส่วนเงินเฟ้อทั่วไปจะขยายตัวได้ประมาณ 0.7-1.7% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลในะดับ 2.6% ของ GDP
สำหรับประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจช่วงที่เหลือของปีนี้ต่อเนื่องถึงปีหน้า สศช. แนะนำว่าควรให้ความสำคัญกับการป้องกันการกลับมาระบาดระลอกที่สองในประเทศ รวมทั้งต้องดูแลภาคเศรษฐกิจที่มีข้อจำกัดในการฟื้นตัว ผ่านการเร่งรัดติดตามมาตรการที่ได้ดำเนินการไปแล้วให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ และต้องให้การช่วยเหลือดูแลแรงงาน ตลอดจนรณรงค์ให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น
นอกจากนี้ต้องขับเคลื่อนการใช้จ่ายภาครัฐ โดยเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ให้ได้ไม่น้อยกว่า 94.4% และเร่งรัดงบลงทุนรัฐวิสาหกิจให้ได้ไม่น้อยกว่า 70% รวมทั้งการเร่งเบิกจ่ายโครงการตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทให้ได้ไม่น้อยกว่า 70%
ขณะเดียวกันรัฐบาลควรต้องเร่งการขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการผลิตและการลงทุนภาคเอกชน รวมไปถึงการส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน และการดูแลราคาสินค้าเกษตรในบางพื้นที่ในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาด การรักษาบรรยกาศทางการเมือง และการเตรียมการรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนทางเศรษฐกิจและการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า