×

แบงก์พาณิชย์ควรจ่ายเงินปันผลท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 หรือไม่?

13.11.2020
  • LOADING...
ธนาคาร

HIGHLIGHTS

3 mins. read
  • วิกฤตโควิด-19 กระทบต่อประชาชนและเศรษฐกิจไทย ดังนั้นธนาคารที่เป็นส่วนเชื่อมโยงกับทุกฝ่ายผ่านสินเชื่อ จึงต้องเตรียมรับแรงกระแทกนี้ไปให้ได้ 
  • เสถียรภาพแบงก์ดูได้ทั้งจากเงินทุนสำรองและการบ้านที่ธนาคารแห่งประเทศไทยให้ธนาคารทำคือ แบบทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) เพื่อประเมินและเป็นแผนรองรับสถาบันการเงิน
  • ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องออกนโยบายที่เหมาะสมคือ ไม่ผ่อนปรนเกินไป เช่น ให้ธนาคารพาณิชย์จ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นได้เหมือนในภาวะปกติจนไม่มีกันชน แต่ต้องไม่เข้มงวดเกินไปอย่างการห้ามจ่ายปันผล เพราะจะกระทบต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง (เช่น ผู้ถือหุ้น) และเสถียรภาพ ความมั่นคงระบบการเงิน

การระบาดของโควิด-19 ที่เริ่มมาตั้งแต่ต้นปี 2563 เศรษฐกิจไทยทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบรุนแรง ทั้งภาคธุรกิจและครัวเรือน เกิดการปิดกิจการและเลิกจ้าง ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีความแน่ชัดว่าสถานการณ์และผลกระทบจะสิ้นสุดเมื่อไร แล้วภาคธุรกิจธนาคารเจอผลกระทบอย่างไรบ้าง

THE STANDARD สรุปบทความของธนาคารแห่งประเทศไทยในเรื่องการกำหนดนโยบายการจ่ายเงินปันผลมาให้อ่านกัน

 

ธนาคารเตรียมรับหนี้เสีย-ปรับแผนปันผล

ในวิกฤตโควิด-19 ธนาคารพาณิชย์ได้รับผลกระทบ เพราะมีการให้สินเชื่อกับภาคธุรกิจและครัวเรือน โดยในภาวะปกติ เมื่อธนาคารพาณิชย์ทำกำไรได้ มักจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นธนาคารพาณิชย์นั้นๆ ในฐานะผู้ลงทุนผ่าน ‘การจ่ายเงินปันผล’

 

แต่ในช่วงที่ยังมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ธนาคารกลางและหน่วยงานกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ของหลายประเทศมีนโยบายห้ามธนาคารพาณิชย์จ่ายเงินปันผล หรือให้จ่ายเงินปันผลได้เพียงบางส่วนเท่านั้น เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์มีเงินเก็บไว้อยู่ในระดับสูงได้ต่อเนื่อง เพื่อเป็นกันชนไว้รองรับความไม่แน่นอนในอนาคต เช่น หากเกิดการระบาดรอบสอง เป็นสภาพคล่องในการให้สินเชื่อกับผู้ที่เดือดร้อน ฯลฯ

 

ผู้กำกับฯ ทั่วโลกมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลแบบไหน? 

ขณะนี้มีแนวทางนโยบาย 2 แบบ ได้แก่ ประเทศที่มีนโยบายห้ามธนาคารพาณิชย์จ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้น ได้แก่ อังกฤษ ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป และนิวซีแลนด์ และประเทศที่มีนโยบายให้ธนาคารพาณิชย์จ่ายเงินปันผลบางส่วนให้ผู้ถือหุ้น ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ ซึ่งมีการกำหนดอัตราสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์จ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นได้ แต่ยังให้ธนาคารฯ ตัดสินใจเองว่าจะจ่ายเงินปันผลเท่าใด 

 

ขณะที่บางประเทศที่ไม่กำหนดนโยบายจำกัดการจ่ายเงินปันผล ได้แก่ มาเลเซีย และเกาหลีใต้ 

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย

 

ปัจจัยในการกำหนดนโยบายเงินปันผลคืออะไร 

ในการกำหนดทางเลือกของนโยบาย ประเทศไทยจำเป็นต้องพิจารณาทางเลือก 3 ด้าน ได้แก่

 

  1. เสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินและความมั่นคงของสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นแหล่งจัดสรรให้ผู้กู้ในภาคส่วนต่างๆ ของระบบเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ สามารถประเมินเสถียรภาพและความมั่นคงของสถาบันการเงินผ่านจากการพิจารณาผลการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) ของสถาบันการเงิน ซึ่งทดสอบว่าหากเศรษฐกิจชะลอตัวลง จะส่งผลกระทบมากน้อยเพียงใดต่อสถาบันการเงิน ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งจะมีเงินกองทุนและสภาพคล่องเพียงพอหรือไม่

 

  1. การพิจารณาถึงผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ให้รอบด้าน ทั้งผู้ฝากเงิน ลูกหนี้ ผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุน ผู้ใช้งบทางการเงินต่างๆ เช่น นักวิเคราะห์ สถาบันจัดอันดับเครดิต (Credit Rating Agency) ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการกำหนดแนวนโยบายในการจ่ายเงินปันผลได้ เช่น หากห้ามธนาคารพาณิชย์จ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุนที่พึ่งพิงรายได้จากเงินปันผลเป็นหลักก็จะเดือดร้อนทันที

 

  1. ความสอดคล้องระหว่างนโยบายการจ่ายเงินปันผลของไทยและต่างประเทศ หากไทยถูกมองว่า ดำเนินนโยบายที่เข้มงวดกว่าประเทศอื่นๆ อาจทำให้เกิดข้อสงสัยถึงเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินและความมั่นคงของสถาบันการเงินไทยได้ และกระทบต่อความเชื่อมั่นของระบบสถาบันการเงินโดยรวม จนอาจนำไปสู่วิกฤตการณ์ที่ผู้ฝากเงินแห่ถอนเงินจากธนาคาร (Bank Run) ได้

 

ตู้ ATM

 

แบงก์ไทยแข็งแกร่งแค่ไหน​?

ความแข็งแกร่งของสถาบันการเงินไทยต้องดูมากกว่านโยบายการจ่ายเงินปันผล โดยต้องพิจารณาหลายส่วน เช่น อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ซึ่งปัจจุบัน (ข้อมูล ณ ไตรมาส 3 ปี 2563) ยังคงอยู่ในระดับสูง (ร้อยละ 19.8) การมีสภาพคล่องส่วนเกินในระบบสถาบันการเงินไทย ที่ปัจจุบันยังเหลืออยู่สูงเช่นกัน (LCR ของระบบธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ร้อยละ 184.9) รวมถึงนโยบายหรือประวัติการจ่ายเงินปันผลของแต่ละธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมีความแตกต่างกัน เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม ไทยต้องไม่ประมาท โดยไม่ดำเนินนโยบายที่ผ่อนปรนมากเกินไป อย่างการให้ธนาคารพาณิชย์จ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นได้เหมือนในภาวะปกติ จนไม่มีกันชน แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ดำเนินนโยบายที่เข้มงวดจนเกินไปนั่นคือ การห้ามธนาคารพาณิชย์ไม่ให้จ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นเลย ดังนั้นการตัดสินใจในเรื่องนโยบายการจ่ายเงินปันผลจึงต้องตั้งอยู่ในจุดที่มีความสมดุลพอดี ไม่เอียงไปในด้านใดด้านหนึ่งมากจนเกินไป

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X