×

หุ้นแบงก์ร่วงเกือบยกแผง ผลดำเนินงานยังไม่พ้นจุดต่ำสุด

12.11.2020
  • LOADING...
หุ้นแบงก์ร่วงเกือบยกแผง ผลดำเนินงานยังไม่พ้นจุดต่ำสุด

10 เดือนแรกของปีนี้ ‘หุ้นแบงก์ (BANK)’ ถือเป็นหมวดธุรกิจที่ราคาหุ้นอ่อนแอที่สุดในบรรดา 28 หมวดในตลาดหลักทรัพย์ฯ ดัชนีลดลงถึง 43.9% ขณะที่ดัชนี SET ลดลง 24.4% แต่หลังจากเข้าสู่เดือนพฤศจิกายน 2563 ดัชนีหุ้นแบงก์กลับมาเพิ่มขึ้นได้ 17.6% มากกว่า SET ที่เพิ่มขึ้น 12.6% 

 

อย่างไรก็ตาม ช่วงครึ่งวันแรกของวันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 ราคาหุ้นในกลุ่มแบงก์เริ่มกลับมาถูกกดดันอีกครั้ง โดยราคาหุ้นของ 9 จาก 11 ธนาคาร ต่างปรับตัวลงทั้งสิ้น ยกเว้นธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) และ บมจ. แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป (LHFG) ที่ยังยืนอยู่ในแดนบวก 

 

ธนภัทร ฉัตรเสถียร ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. ทรีนีตี้ มองว่า ปัจจัยพื้นฐานของหุ้นแบงก์ ณ ขณะนี้ยังไม่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมนัก ซึ่งแนวโน้มในไตรมาส 4 ปี 2563 ยังมีประเด็นที่ต้องติดตามใน 2 ส่วนหลัก คือ 

 

  1. คุณภาพหนี้ หลังจากหมดโครงการพักชำระหนี้ 6 เดือนไปแล้ว
  2. ค่าใช้จ่ายการดำเนินงาน ซึ่งปกติมักจะสูงขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของแต่ละปี 

 

“ช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ปรับขึ้นได้แรงกว่าตลาด เพราะราคาหุ้นที่ Underperform มาต่อเนื่อง แต่เมื่อตลาดเริ่มพักฐาน ขณะที่นักลงทุนเริ่มกลับมาพิจารณาความเป็นจริงมากขึ้น เช่น วัคซีน (ป้องกันโควิด-19) อาจจะไม่ได้ส่งผลบวกเร็วขนาดนั้น ทำให้หุ้นกลุ่มแบงก์เริ่มย่อตัวลงมา และที่สำคัญคือ กำไรของกลุ่มแบงก์อาจจะยังไม่ผ่านจุดต่ำ หากการตั้งสำรองเร่งตัวขึ้นมาอีก หลังจากหมดโครงการพักชำระหนี้แล้ว”

 

ส่วนประเด็นการทดสอบความเสี่ยงจากภาวะวิกฤต (Stress Test) ของกลุ่มแบงก์ ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังไม่ได้รายงานผลออกมา ซึ่งประเด็นนี้จะส่งผลต่อการกลับมาจ่ายเงินปันผลของหุ้นกลุ่มแบงก์ 

 

ธนภัทรกล่าวต่อว่า หากหุ้นกลุ่มแบงก์สามารถกลับมาจ่ายเงินปันผลได้จริง จะเป็นปัจจัยหนุนราคาหุ้น จากการที่นักลงทุนจะมั่นใจได้ว่าเงินทุนสำรองของแบงก์เพียงพอ และเงินปันผลก็เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่นักลงทุนให้ความสนใจสำหรับการลงทุนในหุ้นแบงก์ แต่หากไม่สามารถจ่ายปันผลได้ ก็จะเป็นปัจจัยกดดันต่อราคาหุ้น ซึ่งประเมินว่าอาจจะมีความเสี่ยงราว 3-5% 

 

“ส่วนตัวยังเชื่อว่าแบงก์จะกลับมาจ่ายปันผลได้ในปีนี้ ด้วยระดับเงินทุนสำรองของแบงก์ที่ยังค่อนข้างสูง คาดเงินปันผลเฉลี่ย 5-6% จากราคาปัจจุบัน”

 

ด้าน บล. ทิสโก้ ระบุว่า จากผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2563 ของกลุ่มธนาคาร ประเด็นที่น่าสนใจคือ สินเชื่อรายย่อยที่ออกจากมาตรการช่วยเหลือของ ธปท. มีความแข็งแกร่งมากกว่าที่คาด ในขณะที่คุณภาพสินเชื่อของ SMEs ยังคงน่าเป็นห่วงหลังมาตรการพักหนี้หมดลง ในด้านของต้นทุนความเสี่ยงของสินเชื่อ (Credit Cost) ธนาคารที่มีการตั้งสำรองล่วงหน้าในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา จะลดการตั้งสำรองลงได้ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2563 

 

และด้วยเศรษฐกิจในระยะสั้นที่ฟื้นตัวดีขึ้น ทำให้กลุ่มธนาคารเชื่อว่าจะผ่าน Stress Test ของ ธปท. เนื่องจากคุณภาพของสินเชื่อที่ไม่แย่อย่างที่คิด ทำให้ธนาคารไม่เห็นด้วยกับการตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์แห่งชาติ ขณะเดียวกันธนาคารบางแห่งมีปริมาณสินเชื่อและรายได้ค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้น แต่ยังต้องมีการติดตาม NPL อย่างใกล้ชิด และการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ทางการเงินจะเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบอัตรากำไรขั้นต้น และธนาคารจะยังคงแผนในการลดต้นทุน

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X