รัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา ประเทศมหาอำนาจเพียงชาติเดียวในโลกที่ยื่นแสดงความจำนงต้องการออกจากความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งเป็นความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ที่กำหนดมาตรการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตั้งแต่ปี 2015 ล่าสุดสหรัฐฯ ออกจากความตกลงปารีสอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
โดยประธานาธิบดีทรัมป์ชี้ว่าความตกลงปารีสกำหนดเงื่อนไขที่ไม่ยุติธรรมต่อสหรัฐฯ ความพยายามที่จะให้สหรัฐฯ เพิ่มการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจาก 26% เป็น 28% ภายในปี 2025 นั้นอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานของสหรัฐฯ ครั้งใหญ่และกัดกร่อนอำนาจอธิปไตยของคนอเมริกัน ขณะที่อินเดียและจีนซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับต้นๆ ของโลกเช่นกัน แต่ยังคงสามารถใช้พลังงานฟอสซิลได้อย่างอิสระ
หลายฝ่ายมองว่านี่เป็นครั้งที่สองในประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐฯ ที่ก้าวถอยออกจากการสนับสนุนข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมโลก โดยสหรัฐฯ ไม่เคยให้สัตยาบันพิธีสารเกียวโตที่มีผลผูกพันตั้งแต่ปี 2005 ก่อนที่จะออกจากความตกลงปารีสอย่างเป็นทางการในปี 2020 นี้
แต่อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ อาจแสดงความจำนงขอกลับเข้าร่วมความตกลงนี้อีกครั้ง โดยก่อนหน้านี้ โจ ไบเดน ผู้สมัครชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครต แสดงจุดยืนที่จะนำพาสหรัฐฯ กลับเข้าร่วมความตกลงปารีสหากเขาได้รับเลือกให้นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วง 4 ปีนับจากนี้ โดยสหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป และสหประชาชาติ เตรียมจัดงานครบรอบ 5 ปีเพื่อทบทวนข้อสรุปจากความตกลงปารีสในวันที่ 12 ธันวาคมนี้ ซึ่งตามกฎแล้วสหรัฐฯ จะไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานดังกล่าว แม้หลังจากนี้จะมีการแสดงความจำนงกลับเข้าร่วมความตกลงก็ตาม
ภาพ: Win McNamee / Getty Images
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: