×

‘ภูเก็ต’ พังสุด เมื่อ ‘ไทย’ ยังไร้นักท่องเที่ยวต่างชาติ

05.11.2020
  • LOADING...
ภูเก็ต

HIGHLIGHTS

  • ‘ภูเก็ต’ พึ่งพารายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 89% เมื่อเทียบกับรายได้จากนักท่องเที่ยวทั้งหมด
  • EIC ระบุ อัตราการเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรมในภูเก็ตยังอยู่ระดับต่ำ แม้ว่าจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยจะฟื้นตัวขึ้น
  • มาตรการรัฐผ่านโครงการ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ ยังมีผู้เข้าร่วมโครงการน้อย 
  • ภาครัฐปรับมาตรการ Soft Loan ขยายวงเงินช่วยผู้ประกอบการ SMEs ต่อรายเป็นไม่เกิน 100 ล้านบาท จากเดิม 20 ล้านบาท

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สร้างความเสียหายอย่างหนักกับเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักอย่างฉับพลัน จากมาตรการล็อกดาวน์ที่หลายประเทศทั่วโลกนำมาใช้ ที่สำคัญยังส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว เพราะแต่ละประเทศต้องเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว จึงยังปิดกั้นการเดินทางไปมาระหว่างประเทศ

 

‘ไทย’ ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากการที่ไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศได้ โดยรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติในแต่ละปีตกอยู่ที่ประมาณปีละ 2 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีราว 12%

 

แน่นอนว่าผลกระทบที่มีต่อแต่ละจังหวัดในประเทศไทยมีความแตกต่างกันไป ส่วนจังหวัดไหนที่โดนผลกระทบมากที่สุด THE STANDARD จะพาไปดู

 

จังหวัดที่พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ภูเก็ต พังงา และยะลา

 

ภูเก็ต พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 89% ของรายได้จากนักท่องเที่ยวทั้งหมด

 

พังงา พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 88% ของรายได้จากนักท่องเที่ยวทั้งหมด

 

ยะลา พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 84% ของรายได้จากนักท่องเที่ยวทั้งหมด

 

อ้างอิง: สศช.

 

เรียกได้ว่า 3 จังหวัดที่กล่าวมา มีรายได้จากนักท่องเที่ยวภายในประเทศไม่ถึง 20% ดังนั้นเมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่สามารถเดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยได้ เศรษฐกิจของทั้ง 3 จังหวัดนี้จึงซบเซาอย่างหนัก

 

แม้ที่ผ่านมาภาครัฐจะออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวผ่านโครงการ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ โดยรัฐบาลสนับสนุนค่าโรงแรม 40% ของราคาที่พักต่อห้องต่อคืน และให้สิทธิคนละไม่เกิน 10 คืน 

 

ขณะเดียวกัน ยังสนับสนุนคูปองอาหาร โดยผู้ร่วมโครงการชำระเพียง 60% ของค่าอาหาร ที่เหลืออีก 40% รัฐบาลเป็นผู้ออกใหม่ โดยมีมูลค่า 600-900 บาทต่อห้องต่อคืน และยังช่วยค่าตั๋วเครื่องบิน 2 สิทธิ ต่อ 1 ห้องพัก ในอัตรา 40% ของราคาตั๋วเครื่องบิน แต่ไม่เกิน 2,000 บาทต่อผู้โดยสาร 

 

อย่างไรก็ตามผู้เข้าร่วมโครงการดังกล่าวจนถึงปัจจุบันยังถือว่าน้อยมาก โดยตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อเดือนกรกฎาคมจนถึงสิ้นเดือนตุลาคม มีผู้เข้าร่วมและใช้สิทธิดังกล่าวไปไม่ถึง 40% ของมูลค่าโครงการ ซึ่งตั้งไว้ที่ 2.2 หมื่นล้านบาท 

 

นอกจากนี้ ผู้ใช้สิทธิจากโครงการดังกล่าว ส่วนใหญ่นิยมเดินทางไปเที่ยวในจังหวัดรอบบริเวณกรุงเทพมหานคร สะท้อนผ่านอัตราการเข้าพักโรงแรมที่อยู่ในกรอบ 300 กิโลเมตรจากกรุงเทพมหานคร เริ่มมีอัตราการเข้าพักที่สูงขึ้น แต่จังหวัดที่อยู่ห่างไกล เช่น ภูเก็ต อัตราการเข้าพักของนักท่องเที่ยวยังคงอยู่ในระดับต่ำ ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมของภูเก็ตในเวลานี้ยังชะลอตัวอย่างหนัก

 

โดยศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) รายงานว่า อัตราการเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรมในภูเก็ตยังอยู่ระดับต่ำ แม้ว่าจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยจะฟื้นตัวขึ้นหลังภาครัฐผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 โดยมีสาเหตุสำคัญจาก

 

  1. การพึ่งพาผู้เข้าพักชาวต่างชาติซึ่งมักเข้าพักในวันธรรมดาด้วย ต่างกับผู้เข้าพักชาวไทยที่มักเข้าพักเฉพาะช่วงสุดสัปดาห์และวันหยุดนักขัตฤกษ์
  2. การเดินทางไปภูเก็ตใช้ระยะเวลาในการเดินทางนาน หากเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล ​​ซึ่งมีประชากรหนาแน่น
  3. รายได้ของคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 
  4. ค่าตั๋วเครื่องบินที่สูงขึ้นในช่วงโควิด-19 
  5. ปัจจัยฤดูกาล

 

ล่าสุดในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรที่ภูเก็ต เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ปรับปรุงมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ยังคงได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผ่าน 4 มาตรการ 

 

  1. ขยายวงเงินสินเชื่อ Soft Loan จาก 20 ล้านบาทต่อราย เป็นไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อราย เพื่อช่วยผู้ประกอบการ SMEs ภาคการท่องเที่ยว และที่เกี่ยวเนื่องให้ครอบคลุมผู้ประกอบการรายย่อยทั่วไป พร้อมทั้งขยายระยะเวลาการขอสินเชื่อจากเดิมที่จะหมดในสิ้นปีนี้เป็นวันที่ 30 มิถุนายน 2564
  2. ปรับปรุงการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. หรือ Soft Loan Plus วงเงิน 5.7 หมื่นล้านบาท ให้ครอบคลุมคุณสมบัติ โดยให้ บสย. ค้ำประกันเข้าถึงสินเชื่อได้
  3. Soft Loan ออมสินฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย 5,000 ล้านบาท เช่น ร้านอาหาร สปา ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและที่เกี่ยวเนื่อง วงเงินต่อรายไม่เกิน 5 แสนบาท ดอกเบี้ย 3.99% ต่อปี ระยะเวลากู้ 5 ปี ผ่อนชำระเงินต้น 1 ปี
  4. ขยายเวลาขอสินเชื่อผู้ประกอบการสปา บริษัทนำเที่ยว วงเงิน 9,600 ล้านบาท ของ ธพว. หรือไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย จากวันที่ 30 ธันวาคม 2563 เป็นวันที่ 30 มิถุนายน 2564

 

อย่างไรก็ตามการปรับเกณฑ์ Soft Loan ของภาครัฐ ยังเป็นเพียงมาตรการ​ต่อลมหายใจให้กับผู้ประกอบการเหล่านี้เข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น แต่โจทย์ใหญ่หลังจากนี้อยู่ที่ว่า จะช่วยผู้ประกอบการกลุ่มนี้ให้ปรับตัวอย่างไร หากสถานการณ์โควิด-19 ยังลากยาว และการท่องเที่ยวหลังจากนี้อาจไม่กลับมาเป็นเหมือนเดิม!

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X