×

ห่วงโซ่มูลค่าโลกโฉมใหม่ หลังการระบาดใหญ่ของโควิด-19

04.11.2020
  • LOADING...
ห่วงโซ่มูลค่าโลกโฉมใหม่ หลังการระบาดใหญ่ของโควิด-19

โควิด-19 ยังคงสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง แม้เราจะพอเห็นภาพผลกระทบระยะสั้นได้บ้างแล้ว แต่ผลกระทบในระยะยาวต่อโครงสร้างการค้าโลกมักจะไม่ถูกพูดถึงกัน และสิ่งนั้นก็มีความสำคัญต่ออนาคตของเศรษฐกิจไทยไม่แพ้กัน ในบทความนี้ผมจะเล่าให้ทุกคนฟังว่าโควิด-19 จะเปลี่ยนโฉมหน้าของการค้าโลกไปอย่างไร และไทยจะยืนอยู่ตรงไหนบนโลกใหม่ที่กำลังจะมาถึงครับ


โควิด-19 จะเร่งให้กระบวนการเปลี่ยนแปลงภายใต้ Megatrend เกิดเร็วขึ้น
ก่อนการระบาดของโควิด-19 โครงสร้างเศรษฐกิจและการค้าโลกกำลังเปลี่ยนแปลงภายใต้ ‘ธีม’ ใหม่ที่เราเรียกกันว่า Megatrend ทางฝั่งดีมานด์สินค้าและบริการที่กำลังเกิดขึ้นในโลกจะมุ่งไปเพื่อสนองต่อความต้องการของผู้ซื้อจากประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่มากขึ้น เช่น จีน เกาหลีใต้ และเวียดนาม ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรก็กำลังส่งผลให้ผู้สูงอายุก้าวขึ้นมาเป็นผู้ซื้อที่มีบทบาทมากขึ้น ขณะที่ทางฝั่งซัพพลาย เทคโนโลยีจะมีบทบาทมากขึ้นในการผลิตเพื่อเพิ่มคุณภาพของสินค้า และเข้ามาทดแทนการขาดหายไปของกำลังแรงงานจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ นอกจากนี้เศรษฐกิจโลกยังตกอยู่ภายใต้กระแส Protectionism และการต่อสู้เพื่อรักษาขั้วอำนาจระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ซึ่งจะกำหนดทิศทางของการค้าโลกในอนาคต


เมื่อเกิดการแพร่ระบาด โควิด-19 กลายเป็นตัวเร่งให้กระบวนการเปลี่ยนแปลงภายใต้ Megatrend เกิดเร็วขึ้น
การเว้นระยะห่างทางสังคมส่งผลต่อข้อจำกัดในการทำงานที่ตามมา ทำให้ธุรกิจต้องมองหาเทคโนโลยีใหม่เข้าทดแทนและเพิ่มผลิตภาพในการทำงาน ขณะเดียวกันธุรกิจสามารถใช้โอกาสในช่วงที่เศรษฐกิจซบเซาเพื่อปรับแผนธุรกิจ ปรับโครงสร้างการผลิต ไปจนถึงการเปลี่ยนไปประกอบธุรกิจที่มีศักยภาพมากกว่า นอกจากนั้นการระบาดของโควิด-19 ทำให้ธุรกิจตระหนักถึงความเปราะบางของโลกในปัจจุบันที่มีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น ความเสี่ยงจากภัยพิบัติหรือโรคระบาดที่เกิดในอีกฟากหนึ่งของโลกอาจส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักของสายพานการผลิต (Supply Disruption) ได้เพียงชั่วข้ามคืน… และสิ่งนั้นจะไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราอีกต่อไปในอนาคต


ห่วงโซ่มูลค่าโลกจะ ‘สั้น กระจาย ภายในภูมิภาค และบริการนำ’
Megatrend จะมีผลต่อห่วงโซ่มูลค่าโลกอย่างไร รายงานจากวิจัยกรุงศรีชี้ให้เห็นว่าห่วงโซ่มูลค่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปใน 4 มิติ (รูปที่ 1)

 

 

มิติที่หนึ่ง: ห่วงโซ่มูลค่าจะหดสั้นลง โดยกระแสการกีดกันทางการค้าและการเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมืองโลกจะทำให้ผู้ผลิตพยายามลดความซับซ้อนของสายพานการผลิต และลดระยะห่างระหว่างแหล่งผลิตกับตลาดเป้าหมายลง โดยมีเทคโนโลยีการผลิตและเทคโนโลยีสารสนเทศเป็น Enabling Factor ที่สำคัญ


มิติที่สอง: แหล่งผลิตจะกระจายตัวออกไปยังประเทศต่างๆ มากขึ้น โควิด-19 ชี้ให้ธุรกิจตระหนักถึงผลกระทบของ Shock ขนาดใหญ่ซึ่งส่งให้สายพานการผลิตหยุดชะงัก ถ้าแหล่งผลิตกระจุกตัวอยู่ที่ใดที่หนึ่งมากเกินไปจะยิ่งส่งผลให้ Shock สร้างความเสียหายมากขึ้น ดังนั้นผู้ผลิตจะพยายามกระจายแหล่งผลิตและสร้างความยืดหยุ่นในการผลิตเพื่อรองรับ Shock และการเปลี่ยนแปลงในอนาคต


มิติที่สาม: ความเชื่อมโยงทางการค้าภายในภูมิภาคจะเพิ่มสูงขึ้น ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มประเทศ ASEAN+4 ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย ในอนาคตการเชื่อมโยงทางการค้าภายในภูมิภาค โดยเฉพาะในเอเชียจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นอีก เนื่องจากตลาดภายในประเทศกลุ่ม ASEAN+4 มีศักยภาพในการเติบโตสูง ขณะที่ผู้ผลิตก็ต้องการย้ายฐานการผลิตเข้ามาใกล้กับผู้บริโภคมากขึ้น


มิติที่สี่: ภาคบริการจะมีบทบาทบนห่วงโซ่มูลค่ามากขึ้นผ่านการมีส่วนร่วมในการผลิตภาคอุตสาหกรรม หรือที่เราเรียกว่า Servicification ภาคบริการมีส่วนร่วมในการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากลงไปดูในรายละเอียดจะพบว่าภาคบริการมีบทบาทเสมือนกับ ‘สินค้าขั้นกลาง’ ในกระบวนการผลิตมากขึ้น ต่างจากในอดีตที่จะมีบทบาทหลังจากผลิตเสร็จแล้ว โดยปัจจุบันภาคบริการปรากฏอยู่ในรูปแบบของนวัตกรรม ซึ่งช่วยเพิ่มคุณภาพสินค้าหรือเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต


ไทยสามารถก้าวขึ้นมามีบทบาทบนห่วงโซ่มูลค่าโลกมากขึ้นได้ หากธุรกิจไทยเรียนรู้และปรับตัว

ไทยจะอยู่ตรงไหนบนห่วงโซ่มูลค่าโลกโฉมใหม่? วิจัยกรุงศรีใช้ข้อมูลที่สะท้อนความเชื่อมโยงการผลิตบนห่วงโซ่มูลค่าโลกในปี 2025 และคาดว่าไทยจะมีส่วนร่วมในการผลิตบนห่วงโซ่มูลค่าโลกมากขึ้นจากอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยจะยังมีบทบาทในฐานะผู้ผลิตปลายน้ำอยู่เหมือนเดิม (รูปที่ 2)

 

 

นอกจากนี้การเติบโตทางเศรษฐกิจและการเชื่อมโยงที่เพิ่มขึ้นภายในภูมิภาคจะเป็นโอกาสของไทยทั้งในแง่ของการผลิต การค้า และการลงทุน เนื่องจากไทยมีตำแหน่งที่ตั้งใกล้เคียงกับตลาดสำคัญ เช่น จีน เวียดนาม และเกาหลีใต้ ขณะเดียวกันก็มีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและการให้บริการในหลากหลายกลุ่ม


ธุรกิจไทยมีโอกาสดีที่จะเติบโตบนห่วงโซ่มูลค่าโลกโฉมใหม่ หากเราเรียนรู้และปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง เราก็จะประสบความสำเร็จครับ

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising