×

แสวงแจง ข้าราชการการเมือง ส.ส. ส.ว. เจ้าหน้าอื่นของรัฐ ช่วยหาเสียง อบจ. ผิด ม.34 เอาผิดอาญาได้ อาจพ่วงผิดวินัย วางตัวไม่เป็นกลาง

โดย THE STANDARD TEAM
04.11.2020
  • LOADING...
แสวง บุญมี

วันนี้ (4 พฤศจิกายน) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต. กล่าวในระหว่างร่วมพบปะสื่อมวลชนในกิจกรรมประชุมชี้แจงการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดว่า การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ครั้งนี้มีผู้สมัครค่อนข้างคึกคัก เนื่องจากว่างเว้นจากการเลือกตั้งมาถึง 8 ปี และเป็นการเลือกตั้งตามกฎหมายใหม่ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างจัดการเลือกตั้งรวมทั้งกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น หากไม่มีการร้องเรียน กกต. ก็จะประกาศผลภายใน 30 วัน แต่ถ้ามีเรื่องร้องเรียนก็จะประกาศภายใน 60 วัน โดยไม่ตัดสิทธิ กกต. ในการพิจารณาเรื่องทุจริตที่มีอยู่    

 

ส่วนในเรื่องของการหาเสียง กกต. ได้มีมติห้ามข้าราชการการเมือง ส.ส. ส.ว. เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ไม่สามารถหาเสียงเลือกตั้งช่วยผู้สมัครได้ ซึ่งถ้ามีผู้ฝ่าฝืน แม้กฎหมายจะกำหนดให้ผู้อำนวยการ กกต. จังหวัดเพียงสั่งระงับการกระทำนั้น แต่ในเชิงผลของคดีอาญา ทาง กกต. เห็นว่าสามารถใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญในการดำเนินการสืบสวนไต่สวนเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งในทางคดีอาญา บทบัญญัติของมาตรา 34 กฎหมายท้องถิ่น ถูกเขียนไว้ในระเบียบการหาเสียงท้องถิ่น ข้อ 18 ที่ออกตามมาตรา 66 ผู้ฝ่าฝืนจะต้องได้รับโทษตามมาตรา 129 คือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน    

 

ซึ่งตำแหน่งของเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ทาง กกต. จะยึดตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่วางบรรทัดฐานไว้ว่า

1. ต้องได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย 
2. มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และปฏิบัติงานประจำ
3. อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐ
4. มีเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทนตามกฎหมาย

ซึ่งจะต้องมีองค์ประกอบครบทั้ง 4 ข้อ หากมีไม่ครบจะไม่ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ แต่ผู้ช่วย ส.ส. ถือว่าเข้าองค์ประกอบทั้งหมด จึงไม่สามารถที่จะไปช่วยหาเสียงหรือลงสมัครได้ 

 

ส่วนถ้าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หากใช้เวลาราชการไปช่วยหาเสียงจะมีความผิดฐานละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการ หรือมีความผิดฐานไม่เป็นกลางตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งทั้งสองอย่างจะถือเป็นความผิดทางวินัย แต่ถ้าเป็นการใช้ตำแหน่งหน้าที่ไปช่วยก็จะผิดมาตรา 69 ของพระราชบัญญัติเลือกตั้งท้องถิ่น

 

“อย่างเช่น นายอำเภอมีน้องชายลงสมัครรับเลือกตั้ง นายอำเภอเรียกประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้าน แล้วบอกให้กำนันผู้ใหญ่บ้านไปเลือกน้องชาย อย่างนี้ถือเป็นการใช้ตำแหน่งหน้าที่ เพราะเป็นคนที่มีอำนาจเรียกประชุม แต่ถ้านายอำเภอไปกินก๋วยเตี๋ยว แล้วเจอชาวบ้านก็บอกให้ไปเลือกน้องชาย อย่างนี้ไม่ใช่เป็นการใช้ตำแหน่งหน้าที่ แต่วางตัวไม่เป็นกลาง ซึ่งเราคิดว่าผู้สมัครเคยสมัครกันมาหลายครั้ง คงจะเข้าใจเรื่องเหล่านี้พอสมควร แต่เมื่อกฎหมายมีการเปลี่ยนแปลงก็ควรศึกษาเพื่อให้เกิดความเข้าใจและปฏิบัติให้ถูกต้อง” แสวงกล่าว

 

ส่วนพรรคการเมือง กฎหมายไม่ได้ห้ามที่จะสนับสนุนหรือส่งผู้สมัคร โดยมาตรา 87 ของพระราชบัญญัติพรรคการเมืองกำหนดให้พรรคสามารถใช้จ่ายเพื่อการหาเสียงเลือกตั้งของสมาชิกพรรคได้ ถ้าหากพรรคส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งท้องถิ่นก็สามารถที่จะออกเงินค่าใช้จ่ายให้ได้ รวมทั้งผู้สมัครสามารถใช้โลโก้พรรคหาเสียงได้ ส่วนผู้สมัครบางคนที่เคยเป็นอดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีสามารถนำตำแหน่งดังกล่าวไปหาเสียงได้ ดังนั้นหากพรรคการเมืองจะสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องทำให้ถูกทั้งกฎหมายเลือกตั้งและกฎหมายพรรคการเมืองด้วย  

 

“ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งจะต้องได้คะแนนโหวตสูงสุด และต้องได้มากกว่าคะแนนของผู้ไม่ประสงค์เลือกผู้สมัครใด หากได้คะแนนน้อยกว่าต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ ทั้งนี้ในกรณีมีผู้สมัครน้อยกว่าหรือเท่ากับจำนวนสมาชิกสภาท้องถิ่นพึงมี ผู้ชนะต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่า 10% ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น และมากกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใด” แสวงกล่าว

 

แสวงกล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องของการให้ทรัพย์สินหรือเงินซองงานบุญต่างๆ กกต. ยึดหลักเพื่อการปฏิรูปทางการเมืองมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ว่าไม่ว่าจะให้กี่บาท แก่ตัวคน มูลนิธิ วัด หรือให้ตามประเพณีปกตินิยมก็ถือว่ามีความผิด ส่งศาลดำเนินคดีทุกราย และยังคงยึดมาตรฐานนี้ไม่ว่าศาลจะพิจารณาอย่างไรก็ตาม  

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X