สุธีร์ โล้วโสภณกุล รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ปี 2563 สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและหลายภาคส่วน โดยเงินฝากปีนี้คาดว่าจะทรงตัวที่ 0% จากปีก่อน และสินเชื่อของธนาคารช่วง 9 เดือนแรกปี 2563 ที่ติดลบ 5.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเพราะเศรษฐกิจชะลอตัวและระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อในช่วงโควิด-19
ทั้งนี้ ในด้านสินเชื่อปี 2563 ยังคาดว่ามีโอกาสพลิกทรงตัวหรือเติบโตได้ 5% ถ้าในช่วงที่เหลือของปีนี้สินเชื่อรายใหญ่มีการเบิกใช้วงเงิน หลังจากก่อนหน้านี้ธุรกิจรายใหญ่ชะลอการใช้สินเชื่อหลักพันล้านบาท โดยปัจจุบันสินเชื่อรายใหญ่มีอยู่ราว 7.5 หมื่นล้านบาท มีสัดส่วนราว 30% ของสินเชื่อรวม
ขณะที่สินเชื่อรายย่อยที่มีสัดส่วนหลักมากกว่า 50% หรือมียอดสินเช่ือราว 1 แสนล้านบาท ยังเป็นสินเชื่อหลักที่มีแนวโน้มการเติบโต โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มือสองที่สามารถแข่งขันได้ และจะส่งผลให้ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) มีโอกาสสูงขึ้นจากช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ที่อยู่ราว 3.2% (ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนที่อยู่ระดับ 3.5%)
อย่างไรก็ตาม มองว่าธนาคารสามารถบริหารความเสี่ยงลูกหนี้ทุกกลุ่มได้ ส่วนหนึ่งมาจากลูกหนี้ที่เข้าโครงการพักชำระหนี้กว่า 60-70% จะสามารถออกจากมาตรการพักหนี้ได้ ขณะเดียวกันเร็วๆ นี้ จะมีการขายหนี้เสียราว 3 พันล้านบาท และจะส่งผลให้หนี้เสีย (NPL) ของธนาคารช่วงสิ้นปี 2563 คาดว่าลดลงมาใกล้เคียงกับ 5% จากปัจจุบันที่อยู่ราว 5.9%
ทั้งนี้ ปี 2564 กลยุทธ์หลักของธนาคารจะมุ่งเน้นการเติบโตด้านดิจิทัล ผ่านจุดแข็งของธนาคารที่มีอยู่ ได้แก่
- ธุรกิจรายย่อย เช่น สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มือสอง รถจักรยานยนต์ ซึ่งจะเช่ือมโยงทั้งบริษัทในเครือและบริการของธนาคารผ่านทางดิจิทัลแบงกิ้ง รวมถึงการขยายที่ธุรกิจที่ปรึกษาการสร้างความมั่งคั่ง (Wealth) ไตรมาส 1/63 จะเปิดสาขา Wealth Center ที่เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว จากปัจจุบันที่มีอยู่ 5 สาขา
- ธุรกิจบริหารเงิน (Treasury) ผ่านผลิตภัณฑ์และช่องทางที่หลากหลาย ล่าสุด เปิดให้ลูกค้าสามารถซื้อขายตราสารหนี้ (ตลาดแรก) ผ่านแอปพลิเคชันของธนาคาร อนาคต เตรียมเพิ่มบริการซื้อขายหุ้นกู้ตลาดรอง อัตราแลกเปลี่ยน และบริการรับฝากทรัพย์สิน (Custody) บนแอปฯ
- ธุรกิจรายใหญ่จะมุ่งเน้นเครือข่ายในอาเซียนที่ธนาคารมีอยู่ เพื่อสนับสนุนลูกค้าในการทำธุรกรรมข้ามประเทศ โดยเฉพาะใน CLMV
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ธนาคารต้องมุ่งเน้นคือ ดิจิทัลแบงกิ้งที่มีการเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันจากฐานลูกค้าของ CIMBT ที่มีอยู่ 7 แสนราย โดยราว 30% ใช้แอปฯ โมบายล์แบงกิ้งเพื่อทำธุรกรรมทางการเงิน โดยหลังจากช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา พบว่าอัตราผู้ใช้งานอย่างสม่ำเสมอ (Active) สูงถึง 80% จากช่วงก่อนหน้าที่อยู่ราว 43% โดยทางธนาคารจะเพิ่มบริการบนแอปฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองต่อลูกค้า
ทั้งนี้ทางธนาคารมองว่า กลยุทธ์ของธนาคารในปี 2564- 2567 จะมุ่งเน้นการต่อยอดจุดแข็งของธนาคารกล่าวมาให้เติบโต และจะพาพันธมิตรเพื่อขยายการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันต้องลดต้นทุนต่างๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
อย่างไรก็ตามทางธนาคารจะคงสาขาที่ 63 สาขา โดยยังไม่ได้ระบุว่าปี 2564 จะมีการเพิ่มขึ้นหรือลดลง แต่จะมีการเพิ่มสาขา Wealth Center และมองว่ามีโอกาสที่จะเปิดสาขาในทำเลอื่นเพิ่มเติม
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล