ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งนี้ ทั้ง โดนัลด์ ทรัมป์ ของพรรครีพับลิกัน และ โจ ไบเดน ของพรรคเดโมแครตต่างลงพื้นที่ในมลรัฐที่เป็นสนามต่อสู้หรือ Battleground State เพื่อช่วงชิงคะแนนเสียงในนาทีสุดท้ายกันอย่างเข้มข้น
หนึ่งในสนามเลือกตั้งที่ทั้งคู่ต่างใช้เวลาและทรัพยากรเพื่อจัดแรลลีในช่วงโค้งสุดท้ายคือมลรัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งไบเดนได้ใช้เวลาบ่ายวันอาทิตย์ทั้งบ่าย (1 พฤศจิกายน) จัดงานแรลลีถึงสองงานในเมืองฟิลาเดลเฟีย ซึ่งเป็นเมืองเอกของมลรัฐ เพื่อกระตุ้นให้คนผิวสีในเมืองซึ่งเป็นฐานเสียงที่สำคัญของพรรคออกไปใช้สิทธิ์ และเขายังมีแผนจัดงานแรลลีในเมืองพิตต์สเบิร์กซึ่งเป็นอีกหนึ่งเมืองเอกในวันที่ 2 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง (3 พฤศจิกายน)
ในส่วนของทรัมป์นั้น เขาก็เพิ่งใช้เวลาวันเสาร์ทั้งวันจัดแรลลีถึง 4 งานในมลรัฐดังกล่าว ทั้งในชานเมืองของพิตต์สเบิร์ก, ชานเมืองของฟิลาเดลเฟีย, เมืองเรดดิ้ง และเมืองวิลเลียมส์พอร์ต และเขามีแผนที่จัดงานหาเสียงอีก 1 งานที่เมืองสแครนตันในวันที่ 2 พฤศจิกายน เช่นเดียวกัน
ซึ่งสาเหตุที่ทั้งสองพรรคได้ทุ่มเททรัพยากรและเวลาของผู้สมัครเพื่อหาเสียงที่เพนซิลเวเนียมากขนาดนี้ เป็นเพราะว่าทั้งคู่มองตรงกันว่าถ้าไบเดนชนะที่เพนซิลเวเนียได้ มันน่าจะหมายถึง ‘เกมโอเวอร์’ สำหรับทรัมป์
เพนซิลเวเนียคือมลรัฐที่จะทำให้ไบเดนได้ถึง 270 เสียง
ในปี 2016 ฮิลลารี คลินตัน พ่ายแพ้การเลือกตั้งต่อทรัมป์ เพราะเธอไปแพ้ทรัมป์อย่างเฉียดฉิวใน 3 มลรัฐในภูมิภาคมิดเวสต์อย่าง มิชิแกน วิสคอนซิน และเพนซิลเวเนีย ทำให้ทรัมป์ได้คะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College หรือ EC) มากกว่าเธอ ทั้งๆ ที่เธอเป็นฝ่ายชนะคะแนนดิบ หรือ ‘ป๊อปปูลาร์โหวต’ (Popular Votes) ทั่วประเทศ
ไบเดนทราบดีตั้งแต่เริ่มหาเสียงว่าการทวงคืน 3 มลรัฐในภูมิภาคมิดเวสต์นี้จะต้องเป็นยุทธศาสตร์หลักในการหาเสียงของเขา และการหาเสียงของเขาก็เป็นไปได้ด้วยดีทั้งในมิชิแกนและวิสคอนซิน เขามีคะแนนนำทรัมป์โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 8-9% และมีคะแนนนำในทุกๆ โพล (ที่ไม่ใช่โพลที่จัดทำเองโดยพรรครีพับลิกัน) ตั้งแต่เริ่มมีการหาเสียงมาในช่วงต้นปีที่ผ่านมา
แต่อย่างไรก็ดีการพลิกกลับมาชนะที่มิชิแกนและวิสคอนซินจะทำให้ไบเดนมี EC ที่ 258 เสียง (ถ้าเขารักษามลรัฐเดิมที่คลินตันชนะไว้ได้หมด) ซึ่งก็ยังไม่ถึง 270 เสียงที่จะทำให้เขาได้เป็นประธานาธิบดีอยู่ดี เขายังจำเป็นที่จะต้องชนะที่เพนซิลเวเนียให้ได้อีก 1 มลรัฐ
สถานการณ์ที่เพนซิลเวเนียยังคงคู่คี่
ไม่เหมือนกับที่มิชิแกนและวิสคอนซิน สถานการณ์ที่เพนซิลเวเนียของไบเดนไม่ได้สดใสขนาดที่เขาจะวางใจได้ คะแนนของเขานำทรัมป์แค่ประมาณ 4% ซึ่งเป็นคะแนนนำในระดับที่โพลอาจผิดพลาดได้ (Margin of Error) พอดี อันที่จริง คลินตันก็เคยมีคะแนนนำในโพลในระดับนี้ ก่อนที่คะแนนโหวตจริงๆ ของเธอจะออกมาแพ้ทรัมป์อย่างฉิวเฉียด และนั่นก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ไบเดนและพรรคเดโมแครตต้องทุ่มเทสรรพกำลังในช่วงสุดสัปดาห์สุดท้ายเพื่อปิดดีลที่เพนซิลเวเนียให้ได้
แล้วทำไมไบเดนถึงมีคะแนนนำห่างที่มิชิแกนและวิสคอนซิน แต่คะแนนของเขากลับคู่คี่กับทรัมป์ที่เพนซิลวาเนีย ทั้งๆ ที่ 3 มลรัฐนี้เป็นมลรัฐในเขตมิดเวสต์เหมือนกัน?
คำตอบน่าจะมาจากสองอย่างคือการระบาดของโควิด-19 และนโยบายด้านการพลังงาน
ทรัมป์ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในการรับมือกับวิกฤตโควิด-19 รัฐบาลของเขาถูกวิจารณ์อย่างมากว่าไม่เอาจริงเอาจังกับการระบาดของโควิด-19 แต่แรกและพยายามปกปิดข้อมูลไม่ให้คนอเมริกันได้ทราบถึงความรุนแรงของปัญหา
ผลสำรวจของโพลทุกสำนักชี้ตรงกันว่า คนอเมริกันให้ทรัมป์สอบตกกับการรับมือกับการระบาดนี้ ดังนั้นจึงอาจเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจที่คะแนนนิยมของเขาจะตกต่ำอย่างหนักในมลรัฐที่มีการระบาดอย่างหนักของโควิด-19 อย่างมิชิแกนและวิสคอนซิน แต่คะแนนนิยมของเขายังพอสู้ไหวในมลรัฐที่การระบาดนั้นไม่รุนแรงอย่างเพนซิลเวเนีย
อีกหนึ่งความแตกต่างคือ มลรัฐเพนซิลเวเนียเป็นมลรัฐที่ยังพึ่งพาอุตสาหกรรมคาร์บอน โดยเฉพาะทางตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐและทางตอนกลางของรัฐ ที่ยังมีการทำเหมืองถ่านหินและการขุดเจาะน้ำมันโดยอาศัยเทคโนโลยีที่เรียกว่า Fracking ซึ่งนโยบายสิ่งแวดล้อมหลายอย่างของเดโมแครต โดยเฉพาะ Green New Deal ถูกชาวเพนซิลเวเนียมองว่าไม่เป็นมิตรกับอุตสาหกรรมคาร์บอนของพวกเขา และการมีรัฐบาลเป็นเดโมแครตอาจจะหมายถึงการแบนการทำเหมืองและ Fracking อันจะนำไปสู่การตกงานของพวกเขา ทำให้พวกเขากังวลที่จะเลือกประธานาธิบดีที่เป็นเดโมแครต ซึ่งไบเดนไม่เจอกับปัญหานี้ที่มิชิแกนและวิสคอนซิน เพราะสองมลรัฐนี้พึ่งพิงการเกษตรและอุตสาหกรรมหนักเป็นหลัก ไม่ได้พึ่งพาอุตสาหกรรมคาร์บอน
ภูมิศาสตร์การเมืองของเพนซิลวาเนีย
มลรัฐเพนซิลเวเนียมีเมืองใหญ่อยู่สองเมือง คือฟิลาเดลเฟียทางตะวันออกและพิตต์สเบิร์กทางตะวันตก ซึ่งสองเมืองใหญ่นี้คือฐานเสียงที่สำคัญของพรรคเดโมแครต ในขณะที่เขตชนบทที่อยู่ระหว่างสองเมืองนี้เป็นที่อาศัยของชนชั้นแรงงานผิวขาว และพวกเขาคือฐานเสียงของพรรครีพับลิกัน ส่วนเขตชานเมืองของทั้งสองเมืองคือสนามต่อสู้ที่สำคัญที่คะแนนโอนเอนไปมาระหว่างสองพรรค
อันที่จริงในการเลือกตั้งปี 2016 คลินตันสามารถเอาชนะทรัมป์ที่เขตชานเมือง โดยเฉพาะที่ชานเมืองของฟิลาเดลเฟีย แต่คลินตันกลับมีปัญหากับฐานเสียงของตัวเองโดยเฉพาะกับคนผิวสีในเมืองฟิลาเดลเฟียที่ออกมาใช้สิทธิ์น้อยเกินคาด ในขณะที่ฐานเสียงของพรรครีพับลิกันตื่นเต้นกับผู้สมัครหน้าใหม่อย่างทรัมป์ และออกมาใช้สิทธิ์กันอย่างถล่มทลาย ทำให้สุดท้ายแล้วทรัมป์ชนะคลินตันไปได้กว่า 4 หมื่นเสียง
การหาเสียงในปีนี้ก็เป็นไปตามภูมิศาสตร์การเมืองของมลรัฐ กล่าวคือทรัมป์พยายามจะกระตุ้นให้ฐานเสียงของเขาออกมาใช้สิทธิ์กันถล่มทลายเหมือนปี 2016 ด้วยการจัดงานแรลลีตามเมืองขนาดกลางและเล็กในเขตตอนกลางของมลรัฐ พร้อมทั้งพยายามโจมตีไบเดนว่า ไบเดนและพรรคเดโมแครตจะมาทำลายอุตสาหกรรมคาร์บอนอันเป็นเส้นเลือดหลักของเศรษฐกิจของชนชั้นแรงงานผิวขาวที่นี่
ในขณะที่ไบเดนก็พยายามจะไม่ผิดพลาดซ้ำรอยคลินตันอีก เขาจัดงานแรลลีที่เมืองฟิลาเดลเฟียและพิตต์สเบิร์กเพื่อกระตุ้นให้ฐานเสียงของเขา (โดยเฉพาะคนผิวสี) ออกมาใช้สิทธิ์ให้มากกว่าสมัยปี 2016 ในขณะเดียวกัน เขาก็แข็งกร้าวในการตอบโต้ข้อกล่าวหาของทรัมป์มาโดยตลอดว่าเขาไม่เคยสนับสนุนนโยบาย Green New Deal และไม่มีแนวคิดที่จะแบนการทำ Fracking โดยหวังว่าภาพลักษณ์การเป็นนักการเมืองสายกลางของเขาจะทำให้เขาแพ้ที่ชนบทของเพนซิลวาเนียน้อยกว่าคลินตัน
แผนสองของไบเดน
อย่างไรก็ตาม ไบเดนไม่จำเป็นที่จะต้องชนะที่เพนซิลเวเนีย ไบเดนยังมีแผนสองที่จะทำให้เขาได้คะแนน EC ถึง 270 เสียงได้โดยการชนะที่มลรัฐอื่น (ในกรณีที่เขาชนะที่มิชิแกนและวิสคอนซินได้อย่างที่โพลระบุ)
ทางเลือกของไบเดนอาจจะเป็นการชนะที่ Battleground State ทางภาคใต้อย่างนอร์ทแคโรไลนา, จอร์เจีย หรือฟลอริดาอย่างน้อยหนึ่งรัฐแทน ซึ่งที่นอร์ทแคโรไลนากับจอร์เจีย ไบเดนมีโอกาสพลิกเอาชนะได้ด้วยเสียงของคนผิวดำและคนขาวที่มีแนวคิดแบบเสรีนิยมที่เพิ่มขึ้นอย่างมากตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจของมหานครของสองมลรัฐนี้ (ในกรณีของจอร์เจียคือการเติบโตของเมืองแอตแลนตาที่เป็นศูนย์กลางการเงิน การธนาคาร การศึกษา และการแพทย์ของภาคใต้ ส่วนในกรณีของนอร์ทแคโรไลนานั้นเกิดจากการเติบโตของเมืองชาร์ลอตต์, ราลี และเดอร์แฮม) โดยที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยเสียงของชนชั้นแรงงานผิวขาวอย่างกรณีของเพนซิลเวเนีย
ในขณะที่มลรัฐฟลอริดา ไบเดนมีโอกาสชนะจากเสียงชาวฮิสแปนิกที่ไม่พอใจนโยบายกีดกันการอพยพของทรัมป์ รวมทั้งเสียงของผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการบริหารจัดการโควิด-19 ที่ล้มเหลวของทรัมป์ ซึ่งเสียงของผู้สูงอายุมีความสำคัญมากในฟลอริดา เพราะมลรัฐนี้มีชาวอเมริกันจากทางเหนืออพยพลงมาเกษียณอายุเป็นจำนวนมาก
อีกทางเลือกหนึ่งของไบเดนคือไปชนะที่มลรัฐทางภาคตะวันตกเฉียงใต้อย่างแอริโซนา ที่มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่เป็นผู้สูงอายุและชาวฮิสแปนิกเป็นจำนวนมากคล้ายกับฟลอริดา แต่แอริโซนาเป็นมลรัฐที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก ลำพังแค่เสียงจากแอริโซนาจะทำให้คะแนน EC ของไบเดนขึ้นไปที่ 269 เสียง เขายังต้องการคะแนน EC อีก 1 เสียง ซึ่งเขาอาจจะหาได้จากการชนะที่เขตการเลือกตั้งที่ 2 ของมลรัฐเนแบรสกา ซึ่งเป็นเขตที่มีคนผิวขาวที่มีการศึกษา (และไม่ชอบอุปนิสัยหลายอย่างของทรัมป์) อยู่เป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ดีโพลระบุว่าคะแนนของไบเดนนำที่แอริโซนาและนอร์ทแคโรไลนาไม่มาก และคะแนนของเขาสูสีกับทรัมป์มากที่ฟลอริดาและจอร์เจีย ดังนั้นทางที่น่าจะปลอดภัยที่สุดในการไปให้ถึง 270 เสียงของเขาจึงอยู่ที่การชนะที่เพนซิลเวเนียนั่นเอง
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์