วันนี้ (2 พฤศจิกายน) พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่าการสัมมนา ‘สร้างการรับรู้เพื่อรู้เท่าทันและรับมือกับข่าวปลอม ครั้งที่ 3’ ที่จังหวัดพังงาครั้งนี้ จัดภายใต้โครงการศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม มีกลุ่มเป้าหมายที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ภาคใต้ บุคลากรด้านสาธารณสุข ภาคสังคม สื่อมวลชน และภาคประชาชน เพื่อให้เกิดความเข้าใจในกระบวนการตรวจสอบข่าวปลอมได้ด้วยตนเอง วิธีเช็กแหล่งที่มา วิธีสังเกตพาดหัวข่าว และได้ทราบถึงการแจ้งเบาะแสให้กับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม
สำหรับผลการดำเนินงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมตั้งแต่วันจัดตั้งจนถึงช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา (1 พฤศจิกายน 2562 ถึง 28 ตุลาคม 2563) จากการรวบรวมข้อมูลทั้งจากที่มีผู้แจ้งเบาะแสเข้ามาและระบบติดตามการสนทนาทางโซเชียล (Social Listening) พบว่ามีจำนวนข้อความข่าวที่ต้องคัดกรองทั้งหมด 25,835,350 ข้อความ ข้อความข่าวที่เข้าเกณฑ์ดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 19,466 ข้อความ โดยมีจำนวนเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 6,826 เรื่อง ในจำนวนนี้ 56% เป็นข่าวในหมวดสุขภาพ ตามมาด้วยหมวดนโยบายรัฐ 2,620 เรื่อง (38%) หมวดเศรษฐกิจ 251 เรื่อง (4%) และหมวดภัยพิบัติ 143 เรื่อง (2%)
ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ มุ่งมั่นที่จะเดินหน้าการทำงานเชิงรุกเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาข่าวปลอมผ่านกลไกการทำงาน ทั้งการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทำให้เกิดแนวทางแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรม และให้ข้อมูลที่ถูกต้องเข้าถึงประชาชนในวงกว้างมากยิ่งขึ้น
“จริงๆ แล้วผมเป็นคนแรกที่คิดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เนื่องจากพบว่าในต่างประเทศมีการจัดตั้งแล้ว แต่ในไทยยังไม่มี จึงเริ่มให้เกิดขึ้นเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ประชาชนรับรู้ ไม่สร้างความตื่นตระหนกหรือสร้างความเสียหายให้แก่สังคมในวงกว้าง แต่ข่าวที่เกิดขึ้นกระทรวงดิจิทัลฯ ไม่สามารถจะตอบข้อสงสัยได้ทั้งหมดว่าข่าวไหนจริง ข่าวไหนปลอม จำเป็นต้องประสานข้อมูลจากหน่วยงานและกระทรวงที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยยืนยันข้อเท็จจริงให้ทันเวลาในการชี้แจงให้ประชาชนรู้เท่าทัน เพื่อลดความตื่นตระหนกของประชาชนให้ได้ทันท่วงทีภายใน 2 ชั่วโมง
นอกจากนี้ยังมีช่องทางเพจ ‘อาสา จับตา ออนไลน์’ ในการให้ประชาชนแจ้งข้อมูลข้อความที่ไม่เหมาะสม เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง และเจ้าหน้าที่จะดำเนินการตรวจสอบ รวบรวมหลักฐานส่งศาลให้พิจารณาปิดกั้นหรือลบข้อมูลนั้นภายใน 48 ชั่วโมง จากนั้นหากแพลตฟอร์มไม่ดำเนินการปิดกั้นหรือลบข้อมูลที่ผิดกฎหมายภายใน 15 วัน กระทรวงดิจิทัลฯ และเจ้าหน้าที่จึงดำเนินการนำคำสั่งศาลยื่นฟ้องแพลตฟอร์มต่างประเทศ ที่ถือเป็นครั้งแรกของไทยที่จริงจังในการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิด ทั้งนี้แม้ว่าแพลตฟอร์มต่างประเทศใช้ระบบทำงานในประเทศไทยก็ต้องยอมรับ เคารพ และปฏิบัติตามกฎหมายของไทยด้วย” พุทธิพงษ์กล่าว
ขณะที่ ภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กล่าวว่าการจัดกิจกรรมสร้างการรับรู้ในภาคใต้ครั้งนี้จะเป็นอีกกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนการตรวจสอบเฝ้าระวังการเผยแพร่ข้อมูล เนื้อหา และข่าวสารที่เผยแพร่อยู่ในอินเทอร์เน็ตที่พบว่ามีทั้งข่าวจริง ข่าวปลอม และข่าวบิดเบือน จึงต้องให้ความรู้ความเข้าใจประชาชนให้รู้เท่าทัน ซึ่งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ช่วยสร้างการรับรู้ไปยังกลุ่มวัยรุ่น นักศึกษา วัยทำงาน ผู้สูงอายุ หน่วยงานต่างจังหวัด และประชาชนทั่วไป ตลอดจนหน่วยงานและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ทำให้การบูรณาการการทำงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเจ้าหน้าที่ทำงานตามข้อเท็จจริง ไม่เลือกฝ่ายหรือเลือกข้าง
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์