เดือนแรกของไตรมาสสุดท้ายปี 2563 ที่กำลังจะผ่านไป ภาพของตลาดหุ้นไทยหากเทียบกับตลาดหุ้นอื่นๆ จะเห็นว่า ถึงแม้โดยรวมปรับตัวได้ดีกว่า (Outperform) ตลาดหุ้นในสหรัฐฯ และยุโรป โดยดัชนี SET จนถึง 29 ตุลาคม 2563 ลดลง 2.86% ขณะที่ตลาดหุ้นในฝั่งยุโรปส่วนใหญ่ลดลง 2-10% แต่หากเทียบดัชนี SET กับตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชีย จะเห็นว่าตลาดหุ้นไทยปรับตัวได้ ‘แย่กว่า’ (Underperform) ตลาดหุ้นอื่นๆ พอสมควร
ล่าสุดดัชนีหุ้นไทยหลังจากเปิดตลาดซื้อขายภาคบ่าย วันที่ 30 ตุลาคม 2563 ลดลงมาแตะ 1,190 จุด ทำให้ภาพรวมทั้งเดือนติดลบไปแล้ว 3.80%
ขณะที่การซื้อขายของนักลงทุนแต่ละกลุ่มพบว่า นักลงทุนต่างชาติยังเป็นผู้ขายสุทธิ 1.84 หมื่นล้านบาท เช่นเดียวกับสถาบันในประเทศ ขายสุทธิ 1.15 หมื่นล้านบาท ส่วนนักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ 2.71 หมื่นล้านบาท เช่นเดียวกับบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ที่ซื้อสุทธิ 2.86 พันล้านบาท
ขณะที่ยอดขายสุทธิรวมตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิไปแล้ว 2.99 แสนล้านบาท
สรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย ระบุผ่านบทวิเคราะห์ว่า ภาพการลงทุนในตลาดหุ้นไทยเดือนตุลาคมถูกปัจจัยการเมืองกดดันเป็นส่วนใหญ่ โดยรวมดัชนี SET ปรับตัวลดลงประมาณ 3% ติดลบติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ในขณะที่ตลาดหุ้นฝั่งตะวันตกอย่างสหรัฐฯ อาทิ Dow Jones -3.5% ยุโรป -7% สวนทางตลาดฝั่งเอเชียอย่างตลาดหุ้นจีนและฮ่องกง ปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3-6% อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ปรับขึ้น 5-7%
หากไม่นับตลาดหุ้นไทย พบว่าส่วนใหญ่หุ้นฝั่งเอเชียปรับตัวเหนือฝั่งสหรัฐฯ และยุโรปค่อนข้างมาก เนื่องจากการกลับมาเพิ่มขึ้นของยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในระดับสูงสุดใหม่ต่อวันอีกครั้ง รวมถึงความผิดหวังต่อความล้มเหลวของการเจรจามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ คาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวในไตรมาส 4 ปี 2563 ประกอบกับเราเชื่อว่ามีนักลงทุนบางส่วนเริ่มมีการปรับพอร์ตตามผลโพลที่ส่วนมากให้ไบเดนเป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งประเมินว่าตลาดหุ้นฝั่งเอเชีย (MSCI Asia pacific Ex-Japan) น่าจะได้ประโยชน์
สำหรับภาพรวมการลงทุนในเดือนพฤศจิกายน บล.กสิกรไทย ให้น้ำหนักกับ 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ ปัจจัยแรก สถานการณ์ในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นช่วงเปิดสภาสมัยสามัญ โดยจะเริ่มบรรจุระเบียบวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ญัตติ รวมถึงร่าง iLaw ซึ่งคิดว่าจะมีความชัดเจนในวันที่ 12-17 พฤศจิกายน ทำให้ทิศทางการลงทุนช่วงสั้นขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหวภาคประชาชน
ทั้งนี้ให้น้ำหนักเป็น 3 กรณีคือ กรณียกระดับการเคลื่อนไหว ประเมิน Downside บริเวณ 1,140-1,170 จุด เลี่ยงกลุ่มที่อิงกับการลงทุนภาครัฐ
กรณีการเคลื่อนไหวคงตัว ประเมินกรอบดัชนี SET ที่ 1,190-1,210 จุด แนะเก็งกำไรกลุ่มส่งออกอาหารและสินค้าโภคภัณฑ์
ส่วนกรณีการเคลื่อนไหวชะลอตัวลง จากการถกกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเมิน Upside ของดัชนี SET กลับไปเหนือ 1,240 จุด แนะลงทุนกลุ่มธนาคาร
ปัจจัยที่สอง การเลือกตั้งสหรัฐฯ เราให้น้ำหนักต่อการที่ไบเดนชนะการเลือกตั้ง และพรรคเดโมแครตสามารถครองเสียงส่วนมากทั้ง 2 สภา ซึ่งนโยบายต่างๆ ของไบเดนจะกดดันหุ้นสหรัฐฯ และคาดว่าจะเห็น Fund Flow ไหลมาเก็งกำไรฝั่งเอเชีย ซึ่งจากสถิติพบว่าหลังการเลือกตั้งสหรัฐฯ หุ้นกลุ่ม Value มักจะปรับขึ้นเด่นกว่าหุ้น Growth เฉลี่ยย้อนหลังประมาณ 3.5%
ปัจจัยที่สาม การกลับมาระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐฯ หากว่ายังมียอดผู้ติดเชื้อเร่งตัวขึ้น ในขณะที่ยอดผู้รักษาหายเพิ่มขึ้นและยอดผู้เสียชีวิตไม่เร่งตัวขึ้น อาจส่งผลถึงการตัดสินใจว่าไม่จำเป็นต้องกลับไปสั่งปิดทั้งประเทศ ซึ่งจะช่วยลดความกังวลลงมาได้ ขณะเดียวกันคาดว่าจะเริ่มเห็นพัฒนาการวัคซีนระยะที่สาม หากเป็นเช่นนั้นมองว่าตลาดหุ้นจะเริ่มมี Downside จำกัด
บล.ทรีนีตี้ คาดหุ้นไทยจะยังแย่กว่าเอเชียในเดือนพฤศจิกายน
ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า ทิศทางของตลาดหุ้นทั่วโลกในเดือนพฤศจิกายน มีโอกาสสูงที่จะเป็นไปในทิศทางเดียวกับช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมาคือ ตลาดหุ้นในฝั่งสหรัฐฯ และยุโรปน่าจะ Underperform ตลาดหุ้นในเอเชีย จาก 2 ปัจจัยหลักคือ 1. โควิด-19 ที่ระบาดรุนแรงมากขึ้นในสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งตามมาด้วยมาตรการล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่
ส่วนปัจจัยที่สองคือ การเลือกตั้งสหรัฐฯ หากอิงจากโพลขณะนี้ มีโอกาสสูงที่ไบเดนจะชนะ พร้อมกับที่พรรคเดโมแครตสามารถครองทั้งสภาสูงและสภาล่าง ทำให้นโยบายของไบเดน อาทิ การขึ้นภาษีธุรกิจ ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีความเสี่ยงในลำดับต้นๆ
“คำถามสำคัญที่ตามมาคือ ตลาดหุ้นไทยจะอยู่ตรงไหน? ต้องยอมรับว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่มีน้ำหนักมากสุดกลุ่มหนึ่งของไทยคือ กลุ่มพลังงาน ตราบใดที่โควิด-19 ยังระบาดหนัก ทำให้อัปไซด์ของราคาน้ำมันค่อนข้างจำกัด เพราะอุปสงค์ต่อเชื้อเพลิงชนิดต่างๆ ยังอยู่ในระดับต่ำมาก ทำให้ตลาดหุ้นไทยยังมีโอกาสจะแพ้ตลาดหุ้นอื่นๆ ในภูมิภาค แต่เชื่อว่าจะยังดีกว่าสหรัฐฯ และยุโรป โดยอาจจะเห็นดัชนี SET ฟื้นตัวได้”
ในมุมของ Fund Flow ช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติยังขายหุ้นไทย 1.8 หมื่นล้านบาท ส่วนหนึ่งกดดันจากการเมืองในประเทศ ส่วนเดือนพฤศจิกายนน่าจะเห็นแรงขายที่ชะลอลง ด้วยมูลค่าหุ้นปัจจุบันที่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ
“เชื่อว่าดัชนี SET ในระยะถัดไปไม่น่าจะลดลงไปต่ำกว่า 1,170 จุด ด้วยระดับ Valuation ปัจจุบัน และแนวโน้มของการปรับประมาณการ EPS ปี 2564 ขึ้นบ้างเล็กน้อย ส่วนกรอบด้านบนประเมินที่ระดับ 1,250-1,270 จุด อิงกับ EPS ปีหน้าที่ 80-81 บาทต่อหุ้น และค่า Forward P/E 15.7 เท่า”
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า