ผลดำเนินงาน ‘กลุ่มธนาคารพาณิชย์’ งวดไตรมาส 3/63 ที่ประกาศออกมาครบแล้ว พบว่ากำไรสุทธิ ‘ลดลง’ ราว 45% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และลดลงราว 1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) สะท้อนถึงผลดำเนินงานกลุ่มที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม หากดูในส่วนของเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงและเงินกองทุนขั้นที่ 1 ส่วนใหญ่ ‘เพิ่มขึ้น’ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ปัจจัยหนึ่งจากการ ‘เร่งกันสำรองหนี้สูญ’ เพื่อรองรับกับแนวโน้ม ‘หนี้เสีย’ หรือ NPL ที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า ซึ่งประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม เพราะมีผลต่อการกลับมาจ่ายเงินปันผลของกลุ่มธนาคารพาณิชย์
ในเร็วๆ นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมประกาศผลการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) ของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่ง เพื่อดูว่ามีความเข้มแข็งเพียงพอที่จะจ่ายเงินปันผลจากผลดำเนินงานงวดปี 2563 ได้หรือไม่
โดยนักวิเคราะห์มีความเห็นในทิศทางที่สอดคล้องกันว่า ระดับเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ที่น่าจะกลับมาจ่ายเงินปันผลได้ เพียงแต่ ธนาคารพาณิชย์อาจเลือกที่จะไม่จ่าย หรือจ่ายน้อยลงเมื่อเทียบกับอดีต เพื่อรักษาฐานทุนไว้รองรับกับความไม่แน่นอนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า
ภาสกร หวังวิวัฒน์เจริญ ผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด กล่าวว่า เงินกองทุนกลุ่มธนาคารพาณิชย์ส่วนหนึ่งที่เริ่มดีขึ้น เพราะถึงรอบที่ธนาคารพาณิชย์จัดสรรเงินเข้ากองทุนในช่วงเดือนสิงหาคมด้วย ทำให้ฐานทุนของธนาคารพาณิชย์สูงขึ้น แต่ถ้าดูจากผลดำเนินงานแล้วต้องยอมรับว่ายังไม่ได้ดีขึ้นมากนัก
ส่วนธนาคารพาณิชย์จะกลับมาจ่ายเงินปันผลได้หรือไม่นั้น นอกจากจะต้องลุ้นผล Stress Test แล้ว ยังต้องขึ้นกับการพิจารณาของ ธปท. ด้วยว่าจะอนุญาตให้จ่ายเงินปันผลได้หรือไม่
อย่างไรก็ตาม ทาง บล.เอเซีย พลัส จำกัด เชื่อว่า แม้ ธปท. จะอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์จ่ายเงินปันผลได้ แต่ตัวของธนาคารพาณิชย์เองอาจเลือกที่จะไม่จ่าย หรือจ่ายในระดับที่น้อยกว่าปกติ เพื่อรักษาระดับเงินกองทุนไว้ให้อยู่ระดับสูง รองรับกับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า
ทีมข่าว THE STANDARD ตามดูการเคลื่อนไหวของหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ พบว่าปรับลดลงต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันลดลงมาแล้วราว 44.57% นับเป็นกลุ่มที่ปรับลดลงมากที่สุดในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม และถ้าดูตั้งแต่วันที่ ธปท. สั่งห้ามธนาคารพาณิชย์งดจ่ายเงินปันผลเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2563 พบว่าราคาหุ้นกลุ่มนี้ปรับลดลงมาแล้วราว 20.3%
ภาสกรกล่าวว่า ถ้ากลุ่มธนาคารพาณิชย์กลับมาจ่ายเงินปันผลได้จริง ราคาหุ้นระยะสั้นน่าจะรีบาวด์กลับขึ้นมาได้ แต่ระยะยาวแล้วเชื่อว่ายังโดนแรงกดดันจากผลดำเนินงานที่ไม่สู้ดีนัก รวมถึงคุณภาพสินทรัพย์ที่ยังต้องติดตามดูในระยะต่อไป
สำหรับคำแนะนำการลงทุนหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ทาง บล.เอเซีย พลัส จำกัด ยังให้น้ำหนักน้อยกว่าตลาด แต่แนะนำให้ลงทุนในหุ้นบางตัวได้ เช่น บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO), ธนาคารกรุงเทพ (BBL) และธนาคารกสิกรไทย (KBANK)
ธนภัทร ฉัตรเสถียร ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ จำกัด กล่าวว่า ระดับเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นไตรมาส 3/63 ถือว่าสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของ ธปท. ค่อนข้างมาก จึงเชื่อว่ากลุ่มธนาคารพาณิชย์มีศักยภาพที่จะจ่ายเงินปันผลได้ แต่ทั้งนี้คงต้องขึ้นกับผล Stress Test และ ดุลพินิจของ ธปท. ด้วย
“เราคาดการณ์ว่ากลุ่มแบงก์น่าจะจ่ายเงินปันผลได้ โดยคาดว่าจะมียีลด์ (ผลตอบแทนต่อราคาหุ้น) ที่ระดับ 5% กว่าๆ ซึ่งถือว่าเป็นระดับสูง และปันผลก็ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่นักลงทุนให้ความสำคัญ ดังนั้นถ้า ธปท. อนุญาตให้กลุ่มแบงก์จ่ายเงินปันผลได้ ราคาหุ้นก็น่าจะรีบาวด์ขึ้น”
อย่างไรก็ตาม แม้เงินปันผลของกลุ่มธนาคารพาณิชย์จะให้ยีลด์ได้ถึง 5% แต่ บล.เอเซีย พลัส จำกัด มองว่า ยังไม่ครอบคลุมความเสี่ยงที่ผลดำเนินงานช่วงไตรมาส 4 ที่อาจจะยังไม่ฟื้นตัว
ธนภัทรกล่าวว่า ผลดำเนินงานของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ยังมีแรงกดดันจาก 2 ปัจจัยหลักคือ คุณภาพหนี้ และการบันทึกค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ซึ่งปกติธนาคารพาณิชย์จะบันทึกค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอยู่แล้วช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัจจัยกดดันผลกำไร
นอกจากนี้ยังต้องติดตามคุณภาพหนี้ของลูกหนี้กลุ่มต่างๆ ด้วย เพราะไตรมาสสุดท้ายของปีนี้เป็นช่วงที่ลูกหนี้ที่เข้าโครงการพักชำระหนี้จะสิ้นสุดมาตรการจำนวนมาก
“ลูกหนี้ที่เข้าโครงการพักชำระหนี้แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่พักชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ซึ่งมีระยะเวลาพักชำระ 3 เดือน อันนี้สิ้นสุดไปแล้วในช่วงไตรมาส 3 อีกกลุ่มที่พักเฉพาะเงินต้นจะสิ้นสุดราวเดือนพฤศจิกายน ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมาก จึงต้องติดตามดูว่าหลังจากนี้ตัวเลขหนี้เสียจะไปในทิศทางไหน ซึ่งเราคิดว่าคงขยับขึ้นมาบ้าง”
สำหรับคำแนะนำลงทุนหุ้นกลุ่มแบงก์ แม้ว่าระยะสั้นอาจได้อานิสงส์ในเรื่องราคาที่อาจรีบาวด์กลับมาได้บ้าง หาก ธปท. อนุญาตให้จ่ายเงินปันผลได้ แต่โดยรวมแล้วยังคงให้น้ำหนักการลงทุน ‘เท่ากับตลาด’ เพราะยังมีแรงกดดันจากผลดำเนินงานงวดไตรมาสสุดท้ายของปีที่ต้องติดตาม
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล