วันนี้ (27 ตุลาคม) ที่รัฐสภา วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า จุดยืนที่สังคมควรมีคือเราต้องอยู่ร่วมกัน ต้องยอมรับว่ามีคนคิดต่างอยู่รอบตัวเรา ไม่สามารถไล่กำจัดให้ออกจากชีวิตได้ ดังนั้น ท่าทีของรัฐบาลสำคัญมาก ต้องเปิดใจรับฟัง ใช้กลไกตามระบอบรัฐสภาเพื่อคลี่คลายปัญหา โดยเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้ความเห็นแตกต่างได้พูดคุย จะทำให้เข้าใจกันมากขึ้น ความหวาดระแวงจะเบาลง และเมื่อรัฐสภาเป็นตัวอย่างที่ดี ก็จะทำให้การพูดคุยเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในสังคมมีวุฒิภาวะมากขึ้นด้วย
แต่ที่ผ่านมา พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่เคยรับฟังและยืนยันว่าตนไม่เคยทำผิด ยืนกรานว่าตนเองไม่ใช่ปัญหา ก็เลยทำให้ปัญหายิ่งลุกลาม สิ่งที่รัฐบาลทำคือการราดน้ำมันเข้ากองไฟ ด้วยการใช้กฎหมายเลือกปฏิบัติ จับแล้วจับเล่า มีความพยายามจะดำเนินคดีกับสื่อ 3 แสนราย มีความพยายามปิดหูปิดตาประชาชนด้วยการปิดกั้นสื่อมวลชน และที่อภัยให้ไม่ได้คือ ความพยายามผลิตซ้ำเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 โดยเอาประเด็นอ่อนไหวมายุยงปลุกปั่นให้ประชาชนเกลียดชังกัน จนประชาชนกลุ่มหนึ่งรู้สึกว่าได้รับอนุญาตให้ฆ่าคนอีกกลุ่มหนึ่ง หรือแม้แต่เหตุการณ์ที่แยกราชประสงค์ที่มีการล้อมปราบประชาชน ก็ด้วยผังล้มเจ้าที่มโนขึ้นมาเอง
“พล.อ. ประยุทธ์ ไม่เคยเรียนรู้ความเสียหาย ทั้งยังเอาคำว่าชังชาติ ล้มเจ้า มาปลุกปั่นประชาชน จะให้ฆ่ากันแล้วทำบิ๊กคลีนนิ่งเดย์ ขายฝัน ปฏิรูปต่อไปอย่างนั้นเหรอ เลิกได้แล้วกับการเกณฑ์คนเสื้อเหลืองออกมา ที่เรารู้ว่าเกณฑ์เพราะมีเอกสารหลุด เพราะคนที่ถูกเกณฑ์เขาไม่พอใจในเรื่องนี้ นี่คือความพยายามแบ่งประชาชนเป็นฝักฝ่าย สร้างเงื่อนไขให้เกิดการปะทะกันในหมู่ประชาชนในที่สุด เสื้อเหลืองที่เป็นสัญลักษณ์ความสามัคคี แต่วันนี้ได้ถูก พล.อ. ประยุทธ์ สร้างให้เป็นสัญลักษณ์ในการปกป้องอำนาจตนเองไปแล้วตั้งแต่เมื่อไร วันนี้สังคมได้ตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลให้ท้ายประชาชนกลุ่มหนึ่งทำร้ายอีกกลุ่มใช่หรือไม่ อีกทั้งที่ผ่านมา พล.อ. ประยุทธ์ หลอนตัวเองตลอดว่ามีคนอยู่เบื้องหลัง ดูถูกประชาชน ใช้มุกเดิมๆ ในยุคสงครามเย็น สร้างปีศาจ เอาประชาชนกลุ่มหนึ่งเป็นเหยื่อ ให้ประชาชนอีกกลุ่มเป็นเครื่องมือ เพื่อให้เกิดการปะทะกัน แล้วก็ใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน ใช้กฎอัยการศึก หรือแม้แต่รัฐประหารยึดอำนาจ จากนั้นก็มาแต่งเพลงคืนความสุข อย่างนี้หรือไม่” วิโรจน์ กล่าว
วิโรจน์กล่าวอีกว่า อยากฝากถึงประชาชนว่า การอยู่ใต้รัฐธรรมนูญแบบนี้ทำให้รู้สึกอึดอัด คับแค้นแทบระเบิด แต่ที่ต้องช่วยกันเวลานี้คือการประคองไม่ให้เราตกเป็นเหยื่อความขัดแย้งที่ถูกสร้างขึ้น ต้องอดทนอดกลั้น ยอมรับว่าอยู่ร่วมกันได้ในความคิดต่าง ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับผู้ชุมนุมเรื่องท่าทีนั้น ต้องเข้าใจว่านั่นเพราะเขาถูกกดทับด้วยระบบอำนาจนิยม ไม่ว่าจะในครอบครัว โรงเรียน ระบบเส้นสาย ระบบโซตัส ฯลฯ แต่สังคมที่ผู้ชุมนุมเติบโตขึ้นมา รายล้อมด้วยข้อมูลและข้อเท็จจริงที่เขาสืบค้นได้ ไม่ใช่อารมณ์แบบคนรุ่นเก่า อย่างวันนี้ ละครตบจูบเขาก็ตั้งคำถามว่าตบกันขนาดนั้นจะรักกันได้อย่างไร ที่ว่าเดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด เขาก็ถามว่าต้องเดินตามในระยะกี่เมตรถึงจะไม่ถูกกัด หรืออาบน้ำร้อนมาก่อน ต้องอาบกี่องศา แล้วถ้าน้ำร้อนลวกต้องทำอย่างไร นี่คือการที่เขาอยู่กับข้อมูล ไม่ใช่อารมณ์ ทั้งนี้ การจะแก้ไขปัญหานี้จะใช้อำนาจนิยมกดทับต่อไปไม่ได้ ต้องพูดคุยและเข้าใจด้วยสายใยทางสังคมที่มีต่อกัน ครอบครัว เพื่อน ความปรารถนาดีแห่งเครือญาติ และการมองในฐานะเพื่อนร่วมชาติ ขณะเดียวกัน อีกฝ่ายเองก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนใส่เสื้อเหลืองที่ออกมาด้วยใจจริงก็มีอยู่ ต้องยอมรับในการแสดงออก
“ข้อเสนอเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของผู้ชุมนุม ถ้าไม่เพ่งโทษ ก็จะเข้าใจว่าคือการทำให้ดีขึ้น เพื่อธำรงไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์ที่เคียงคู่กับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และปัจจุบันก็มีผู้หลักผู้ใหญ่หลายท่านออกมาเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่แตกต่างจากพวกเขา ซึ่งก็ต้องเปิดพื้นที่พูดคุยกัน ความขัดแย้งจะคลี่คลายได้ หากต่างฝ่ายลดเรื่องการเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่ง ปรับโทนลงมา ในเมื่อรัฐบาลนี้สร้างพื้นที่ปลอดภัยไม่ได้ ประชาชนก็ต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยขึ้นมาเอง และเมื่อพื้นที่นี้กว้างมากพอ ประชาชนไว้ใจกัน เข้าใจกัน ลดความหวาดระแวงต่อกัน การพูดคุยเพื่อหาทางออกเพื่อการปฏิรูปใดๆ ไม่ว่าจะเป็นปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ปฏิรูปกองทัพ ฯลฯ ก็เป็นไปได้ที่จะมีฉันทามติร่วมกัน หรือมีประชามติที่ทุกฝ่ายยอมรับ” วิโรจน์กล่าว
วิโรจน์กล่าวทิ้งท้ายว่า ยังไม่สายเกินไปที่จะแก้ไขเรื่องนี้ เพียงแต่ พล.อ. ประยุทธ์ วันนี้ทำไม่ได้ และไม่ได้อยู่ในสถานะตัวกลางได้อีกแล้ว จึงขอเรียกร้องให้เสียสละด้วยการลาออก รวมถึงให้พรรคร่วมรัฐบาลพิจารณาถอนตัว และเลือกนายกคนใหม่ที่เป็นอิสระจากกลไกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้วร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญด้วยการเปิดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จากนั้นยุบสภาแล้วคืนอำนาจให้ประชาชน
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล