‘นักวิเคราะห์’ ประเมินสถานการณ์การเมืองยังกดดัน ‘หุ้นไทย’ แม้นายกรัฐมนตรีประกาศยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ชี้ยังต้องจับตาประเด็นการเมือง การชุมนุม และการเปิดประชุมสภาในวันที่ 26-27 ตุลาคมนี้ แนะลงทุนกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ หนีเศรษฐกิจผันผวน
ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ปิดการซื้อขายที่ 1,213.61 จุด ลดลง 2.87 จุด หรือ 0.24% มูลค่าการซื้อขาย 66,255 ล้านบาท โดยนักลงทุนสถาบันในประเทศขายสุทธิ 5,145 ล้านบาท บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ 1,762 ล้านบาท นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 661 ล้านบาท และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อสุทธิ 4,045 ล้านบาท
ส่วนหุ้น บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) ที่เข้าซื้อขายเมื่อวันที่ 22 ตุลาคมเป็นวันแรก ปิดการซื้อขายที่ 35 บาท ไม่เปลี่ยนแปลงจากราคาจองซื้อที่ 35 บาท ระหว่างวันราคาปรับตัวแตะระดับสูงสุดที่ 37.25 บาท มูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 11,857.39 ล้านบาท
สุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บล.ไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่าดัชนีตลาดหุ้นปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาผันผวนในแดนลบ และประเมินว่าบรรยากาศการลงทุนในสัปดาห์หน้า (26-30 ตุลาคม) จะผันผวนตามปัจจัยต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ปัจจัยที่ต้องติดตามในสัปดาห์คือเรื่องแนวโน้มผลประกอบการบริษัทที่จะทยอยประกาศออกมาทุกกลุ่มอุตสาหกรรม และปัจจัยต่างประเทศต้องติดตามเรื่องการเลือกตั้งและโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ
“แนวโน้มภาพรวมกำไรบริษัทในไตรมาส 3 น่าจะดีกว่าไตรมาส 2 และครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรก ส่วนแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมจะเห็นการเติบโตเพียงใดขึ้นอยู่กับการปรับธุรกิจให้สอดรับกับวิถี New Normal ทั้งนี้มองกรอบดัชนีสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวที่ 1,200-1,250 จุด”
กรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน กล่าวว่าสัปดาห์ที่ผ่านมาหุ้นไทยผันผวนค่อนข้างมาก โดยถูกกดดันทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก ทำให้ดัชนีปรับตัวลดลงราว 20 จุด
โดยสัปดาห์หน้ายังต้องตามดูต่อทั้งเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระยะสอง โดยเฉพาะในยุโรป ซึ่งตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันยังทำจุดสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง รวมถึงการเจรจากระตุ้นเศรษฐกิจระยะ 4 ของสหรัฐฯ หากไม่สามารถเจรจากันได้จะทำให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะต้องเลื่อนไปอีก 3 เดือน
ขณะที่ปัจจัยภายในยังต้องติดตามการชุมนุมทางการเมืองรวมถึงการเปิดประชุมสภาในวันที่ 26-27 ตุลาคมนี้ เพื่อหาทางออกเกี่ยวกับปัญหาการเมืองในประเทศ โดยรวมประเมินว่าดัชนี SET สัปดาห์หน้าจะเคลื่อนไหวแบบแกว่งตัวออกข้าง (Sideway) โดยประเมินแนวรับที่ 1,173 จุด และ 1,157 จุด ส่วนแนวต้านประเมินที่ระดับ 1,223 จุด และ 1,232 จุด
“กลยุทธ์การลงทุนในขณะนี้ยังแนะนำถือหุ้นเพียง 25% ของพอร์ต โดยกระจายไปในหุ้นส่งออกเป็นหลัก ซึ่งพึ่งพิงกับเศรษฐกิจในประเทศน้อยอย่างหุ้นในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์”
บล.หยวนต้า เผยแพร่บทวิเคราะห์ระบุว่าการเมืองในประเทศยกระดับต่อเนื่องทั้งรูปแบบการชุมนุมและจำนวนผู้ชุมนุม อย่างไรก็ตาม หลังจากมีการสลายการชุมนุมบริเวณสี่แยกปทุมวันเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม สถานการณ์ทางการเมืองเชื่อมโยงการลงทุนกลับเลวร้ายลง โดย SET Index ปรับตัวลง -5% ตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เทียบกับ MSCI Asia ex Japan ที่เคลื่อนไหวทรงตัว
ส่วนในมุมของผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยภาพรวมอาจยังประเมินได้ยาก เพราะรูปแบบการชุมนุมไม่ได้ปักหลักยืดเยื้อเหมือนในอดีต แต่อาจเป็นเงื่อนไขที่ทำให้การฟื้นตัวของการบริโภคในประเทศไม่สามารถเกิดขึ้นได้เร็ว และเป็นไปได้ที่จะฉุดรั้งให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดำเนินผ่านโครงการคนละครึ่งและช้อปดีมีคืนไม่สามารถส่งผลบวกหรือหนุนให้เกิดตัวคูณทวีได้อย่างที่ควรจะเป็น
นอกจากนี้หากรัฐบาลมีการเปลี่ยนแปลงโดยการประกาศยุบสภาหรือคณะรัฐมนตรีลาออกยกชุดอาจทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง ซึ่งจะส่งผลให้ SET Index แกว่ง Underperform
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์