วันนี้ (22 ตุลาคม) พรรคก้าวไกลเปิดตัวคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อติดตามสถานการณ์การชุมนุมของเยาวชนคนรุ่นใหม่และประชาชน โดยมี พล.ต.ต. สุพิศาล ภักดีนฤนาถ รองหัวหน้าพรรคเป็นหัวหน้าคณะทำงาน พร้อมระบุว่าหัวหน้าพรรคก้าวไกลคือ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้เสนอให้มีการตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อติดตามสถานการณ์การชุมนุมของเยาวชนคนรุ่นใหม่และประชาชน ซึ่งได้แบ่งเป็น 8 คณะทำงาน คือ
- กองอำนวยการ ทำหน้าที่กำหนดกรอบนโยบายการติดตามการชุมนุมของคณะอื่นๆ
- คณะทำงานด้านคดีความ มีภารกิจช่วยเหลือด้านกฎหมายต่อผู้ชุมนุมที่ถูกดำเนินคดี
- คณะทำงานสังเกตการณ์ชุมนุม มีหน้าที่ลงพื้นที่สังเกตการณ์ชุมนุม
- คณะทำงานสืบสวนข้อเท็จจริง มีภารกิจสืบสวนสอบสวนและค้นหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์การชุมนุม
- คณะทำงานสื่อสาร มีหน้าที่แถลงและเผยแพร่ข้อมูลและผลการดำเนินงาน
- คณะทำงานที่ปรึกษาทางกฎหมาย มีภารกิจให้คำปรึกษาทางกฎหมายต่อกองอำนวยการอื่นและประชาชน
- คณะทำงานสนับสนุนทางเทคโนโลยีสารสนเทศ มีหน้าที่สนับสนุนการใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สื่อสังคมออนไลน์
- คณะทำงานกลั่นกรองข้อเท็จจริง มีภารกิจรวบรวมข้อมูลข่าวสารและสนับสนุนการกลั่นกรองข้อเท็จจริง
ด้าน วิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรค ได้กล่าวถึงกรณีเหตุการณ์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ที่มีข้อบกพร่องในการจัดเส้นทางขบวนเสด็จฯ โดยการที่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบจัดเส้นทางผ่านถนนพิษณุโลกที่มีผู้ชุมนุมอยู่เพื่อไปขึ้นทางด่วนยมราชนั้น จนนำไปสู่การแจ้งความประชาชนจำนวนหนึ่งในคดีความตามมาตรา 110 ซึ่งเป็นข้อหาที่ร้ายแรง
ทั้งนี้ การจัดเส้นทางขบวนเสด็จฯ ต้องสำรวจเส้นทางล่วงหน้า และมีการจัดเส้นทางสำรอง อีกทั้งมีหลักฐานควรเชื่อได้ว่าเป็นความบกพร่อง คือคำสั่งย้ายข้าราชการตำรวจระดับสูง 3 นายในวันที่ 15 ตุลาคม 2563 คือ พล.ต.ต. สมประสงค์ เย็นท้วม รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต. ปราศรัย จิตตสนธิ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 และ พล.ต.ต. มานพ สุคนธ์ธนพัฒน์ ผู้บังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน ไปปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวนำไปสู่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร และมีการสลายการชุมนุมด้วยการฉีดน้ำแรงดันสูงใส่ผู้ชุมนุม นอกจากนี้ องค์กรสหประชาชาติยังได้ออกแถลงการณ์ว่าการกระทำดังกล่าวขัดกับหลักสากล และกรณีที่มีการปิดกั้นเสรีภาพของสื่อมวลชน โดยการสั่งปิด Voice TV ,The Reporters, THE STANDARD และเพจเยาวชนปลดแอก – Free YOUTH แม้ว่าศาลแพ่งจะเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวแล้วก็ตาม อีกทั้งการที่รัฐบาลมีการใช้กลไกต่างๆ เกณฑ์คนมาใส่เสื้อเหลือง มีประชาชนบางกลุ่มมาทำร้ายนักเรียน นิสิต นักศึกษา เหตุการณ์เหล่านี้เป็นความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่ต้องรับผิดชอบ พรรคก้าวไกลจึงเห็นว่าเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องยื่นญัติดังกล่าว
พล.ต.ต. สุพิศาล ยังได้กล่าวเสริมเพิ่มเติมด้วยว่า ในการทำงานของผู้รับผิดชอบภายใต้การดูแลของนายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ต้องรับผิดชอบให้หนัก เพราะการเป็นหมายขบวนแดงคือขบวนเสด็จเสมือนว่าพระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินด้วยพระองค์เอง การอารักขาต้องตรวจสอบล่วงหน้า มีรถจราจรดูเส้นทางก่อน และต้องมีเส้นทางสำรอง จะเห็นได้ว่าวันนั้นมีรถตู้บังเส้นทางอยู่จำนวนมาก จึงมีคำถามว่าเป็นรถของใคร จึงจำเป็นต้องทำการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงต่อไป
ขณะที่ ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค กล่าวว่า การที่นายกรัฐมนตรีเสนอให้ทุกฝ่ายถอยคนละก้าว และแสดงว่าจะไม่เข้าไปสลายการชุมนุม เสนอให้ใช้สภาเป็นเวทีหาทางออกให้บ้านเมือง รวมทั้งมีการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งยังไม่ใช่เป็นการถอน พ.ร.ก. ฉุกเฉินทั้งหมด โดยนายกรัฐมนตรียังสามารถประกาศได้ทุกเมื่อ เหมือนนายกรัฐมนตรีจะแสดงท่าทีในเชิงบวก แต่ข้อเท็จจริงคือยังมีการใช้กลไกของรัฐ ใช้เงินภาษีและทรัพยากรสาธารณะ ระดมพลคนสวมใส่เสื้อเหลืองมา ซึ่งมองว่าไม่ควรเป็นบทบาทของรัฐในสถานการณ์แบบนี้
ชัยธวัชกล่าวต่อไปว่า ตนจึงตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลกำลังเล่นสองหน้าอยู่ คือด้านหนึ่งทำเหมือนว่าจะรับฟัง ลดอุณหภูมิทางการเมือง แต่อีกด้านหนึ่งคือการระดมคนมาปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชังระหว่างประชาชนคนไทยด้วยกัน ส่งผลให้มีมวลชนปะทะกันดังกรณีที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง รวมทั้งมีคนไปตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าแกนนำที่มาทำร้ายนักศึกษาได้ไปเชื่อมโยงกับพรรคพลังประชารัฐ สิ่งเหล่านี้นายกรัฐมนตรีต้องทำการตรวจสอบโดยทันที และจำเป็นต้องตั้งข้อสังเกตไว้ตรงนี้ว่า นากยกรัฐมนตรีกำลังเล่นละคร เพื่อจะใช้กำลังมาจัดการประชาชนผู้ชุมนุมในภายหลังหรือไม่ อีกทั้งในสถานการณ์เช่นนี้ หน้าที่ของรัฐบาลจะแสดงจุดยืนอย่างไร
ทั้งนี้ คณะทำงานชุดนี้ประกอบด้วย พล.ต.ต. สุพิศาล ภักดีนฤนาถ, ธีรเศรษฐ พัฒน์วราพงษ์, ณัฐวุฒิ บัวประทุม, เบญจา แสงจันทร์, พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์, ศิริกัญญา ตันสกุล, อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล, ชวลิต เลาหอุดมพันธ์, เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร, วิโรจน์ ลักขณาอดิศร, ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์, สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา, ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์, รังสิมันต์ โรม, ธีรัจชัย พันธุมาศ, จิรวัฒน์ อรัณยกานนท์, วาโย อัศวรุ่งเรือง, ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ, ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล, วรภพ วิริยะโรจน์ และอำนาจ สถาวรฤทธิ์
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์