×

mai หวังอานิสงส์ซอฟต์โลน ช่วยลดต้นทุนทางการเงิน-เสริมแกร่งกิจการ

โดย THE STANDARD TEAM
21.10.2020
  • LOADING...
MAI หวังอานิสงส์ซอฟต์โลน ช่วยลดต้นทุนทางการเงิน-เสริมแกร่งกิจการ

ตลาดหลักทรัพย์ mai หวังอานิสงส์ซอฟต์โลน ช่วยลดต้นทุนทางการเงิน-เสริมแแกร่งกิจการ

 

ประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เปิดเผยว่า กรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 โดยได้ขยายเวลาให้สถาบันการเงินยื่นคำขอกู้ยืมเงินต่อ ธปท. ออกไปอีก 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2563 และได้ขยายคุณสมบัติของผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ให้ครอบคลุมถึงบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนใน mai นั้น อานิสงส์ที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือบริษัทใน mai จะสามารถบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินได้ดีขึ้น และส่งผลต่อการบริหารสภาพคล่องทางธุรกิจได้ในที่สุด 

 

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามข้อมูลว่าบริษัทจดทะเบียนจะมีต้นทุนทางการเงินลดลงเป็นเท่าใด เนื่องจากแต่ละบริษัทต้องไปหารือกับธนาคารพาณิชยที่ใช้บริการ

 

“ทาง mai มองเห็นความจำเป็นของการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ต้นทุนต่ำสำหรับการบริษัทจดทะเบียนใน mai เพราะถือเป็นผู้ประกอบการที่ขนาดใกล้เคียงกับเอสเอ็มอี และต้องการเครื่องมือการเงินเพื่อช่วยบริหารสภาพคล่องหรือต้นทุนทางการเงินที่ดี โดยเฉพาะในยุคที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ก่อนหน้านี้ได้เข้าพบ รมว.คลัง เพื่อชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการได้รับความช่วยเหลือ และเครื่องมือทางการเงินที่จะมีประโยชน์แก่บริษัทจดทะเบียนใน mai และก็ได้รับการตอบรับในที่สุด” ประพันธ์กล่าว

 

ส่วนภาพรวมผลประกอบการไตรมาส 3/63 ของกลุ่มบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai อาจจะยังไม่ได้รับอานิสงส์จากการได้รับความช่วยเหลือจากนโยบายการเงินในครั้งนี้ในทันที เพราะเชื่อว่าแต่ละบริษัทอาจต้องใช้เวลาในการวางแผนและปรับตัว โดยส่วนตัวเชื่อว่าภาพรวมน่าจะดีขึ้นเมื่อเทียบกับผลประกอบการในไตรมาสก่อน เนื่องจากไตรมาส 3/63 หลายอุตสาหกรรมเริ่มกลับมามีกิจกรรมทางเศรษฐกิจแล้ว ต่างจากไตรมาสก่อนที่เป็นช่วงล็อกดาวน์ และได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างมีนัยสำคัญ

 

รายงานจากตลาดหลักทรัพย์ mai ระบุว่า บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai รายงานผลการดำเนินงานในครึ่งแรกปี 2563 มียอดขายรวม 82,540 ล้านบาท กำไรสุทธิรวม 1,086 ล้านบาท พบ 3 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีกำไรเพิ่มขึ้น ได้แก่ กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม และกลุ่มเทคโนโลยี

 

โดยบริษัทจดทะเบียนใน mai จำนวน 162 บริษัท คิดเป็น 95% จากทั้งหมด 171 บริษัท (ไม่รวมบริษัทในกลุ่มที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน หรือ NC บริษัทที่ปิดงบไม่ตรงงวดและบริษัทที่นำส่งงบไม่ทันตามกำหนด) นำส่งผลการดำเนินงานรอบ 6 เดือนแรกของปี 2563 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2563 พบบริษัทจดทะเบียนที่รายงานผลกำไรสุทธิจำนวน 99 บริษัท คิดเป็น 61% ของบริษัทที่นำส่งผลการดำเนินงานทั้งหมด

 

ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน mai ครึ่งปีแรก มียอดขายรวม 82,540 ล้านบาท ลดลง 7.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ต้นทุนรวม 64,705 ล้านบาท ลดลง 8.2% มีกำไรจากการดำเนินงาน (Operating Profit) 3,068 ล้านบาท ลดลง 8.3% ทั้งนี้พบบางบริษัทจดทะเบียนมีการบันทึกผลขาดทุนจากรายการพิเศษระดับกว่าพันล้านบาท ทำให้กำไรสุทธิรวมอยู่ที่ 1,086 ล้านบาท ลดลง 73.0% สำหรับความสามารถในการทำกำไร บริษัทจดทะเบียนมีอัตรากำไรขั้นต้นทรงตัวอยู่ที่ 21.6% อัตรากำไรจากการดำเนินงานทรงตัวอยู่ที่ 3.7% และอัตรากำไรสุทธิลดลงจาก 4.3% เป็น 1.3% สอดคล้องกับการลดลงของกำไรสุทธิ

 

“ภาพรวมผลการดำเนินงานครึ่งปีแรก บริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จากการปิดชั่วคราวของช่องทางการจัดจำหน่าย การชะลอคำสั่งซื้อ การเลื่อนกิจกรรมตามนโยบายควบคุมการแพร่ระบาด ส่งผลให้ยอดขายรวมในครึ่งปีแรกลดลง อย่างไรก็ตาม กลุ่มบริษัทจดทะเบียนสามารถควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายได้ดีขึ้น ทำให้ยังคงรักษาอัตราความสามารถในการทำกำไรไว้ได้ และพบ 3 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังคงรักษาการเติบโตของกำไรสุทธิ คือ กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม และกลุ่มเทคโนโลยี”

 

สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 2/63 บริษัทจดทะเบียน mai มียอดขายรวม 38,413 ล้านบาท ลดลง 14.2% กำไรจากการดำเนินงาน (Operating Profit) 1,396 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.2% ขณะที่กำไรสุทธิรวมอยู่ที่ 338 ล้านบาท ลดลง 84.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

ประพันธ์กล่าวเพิ่มว่า สำหรับบริษัทที่จะเข้าระดมทุนในตลาดหลักรัพย์ mai ปีนี้ น่าจะอยู่ที่ 10-12 บริษัท ซึ่งต่ำกว่าในทุกๆ ปีที่มีบริษัทเข้าระดมทุนราว 15 บริษัท สาเหตุมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้บางบริษัทเร่งปรับตัวหรือรอดูความชัดเจนของปัจจัยต่างๆ ก่อน

 

ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X