“การถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติ ผมต้องการแบบนั้นแน่นอน แต่ตามความคิดของผม ผมไม่ต้องการถ่ายโอนอำนาจ เพราะผมต้องการจะชนะ” คือคำกล่าวของทรัมป์ ที่กล่าวในรายการตอบคำถามแบบทาวน์ฮอลล์ทางสถานีโทรทัศน์ NBC เมื่อค่ำคืนวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา หลังก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกันยายนเขาไม่ยอมให้คำตอบเรื่องการถ่ายโอนอำนาจให้ โจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต หากเกิดกรณีที่เขาพ่ายแพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดีแก่ไบเดนในวันที่ 3 พฤศจิกายน ซึ่งตอนนั้นทรัมป์กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า ‘ให้รอดูไปว่าจะเกิดอะไรขึ้น’
แน่นอนว่าผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ ที่ทั่วโลกจับจ้องอย่างใจจดจ่อนั้น ไม่มีใครรู้ได้ว่าผลที่ออกมาจะเป็นทรัมป์หรือไบเดนที่คว้าเก้าอี้แห่งชัยชนะไปครอง แต่หากดูจากโพลและอุปสรรคที่บั่นทอนความนิยมของทรัมป์ ไม่ว่าจะเป็นการรับมือวิกฤตโรคระบาดแห่งประวัติศาสตร์อย่างโควิด-19 หรือปัญหาการแบ่งแยกเชื้อชาติและสีผิว Black Lives Matter ที่รุนแรงและลุกลามไปทั่วประเทศ ก็ทำให้หลายฝ่ายมองถึงความเป็นไปได้ที่สูงขึ้นว่าทรัมป์อาจเป็นฝ่ายปราชัยในศึกเลือกตั้งครั้งนี้
ซึ่งหากผลเลือกตั้งออกมาในรูปนี้จริง ด้วยท่าทีขึงขังไม่ยอมใครของทรัมป์ จึงทำให้เกิดคำถามว่า “อะไรจะเกิดขึ้นหากทรัมป์ไม่ยอมรับความพ่ายแพ้”
The Boston Globe หนังสือพิมพ์รายวันในเมืองบอสตัน เผยแพร่บทความ วิเคราะห์แนวโน้มของผลลัพธ์จากเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดเดานี้ว่า ในกรณีเลวร้ายที่ทรัมป์ไม่ยอมส่งต่ออำนาจประธานาธิบดีให้แก่คู่แข่งอย่างไบเดนแบบ ‘ง่ายๆ’ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาจะเป็นไปในรูปแบบใด
1. กล่าวหาโกงเลือกตั้ง
ที่ผ่านมาทรัมป์และทีมหาเสียงของเขามีท่าทีชัดเจนว่าอาจจะประกาศให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปตามกฎหมาย โดยก่อนหน้านี้ทรัมป์ย้ำเตือนผู้สนับสนุนเขาอยู่บ่อยครั้งแม้จะไม่มีหลักฐานว่าพรรคเดโมแครตจะสามารถชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ได้ก็ต่อเมื่อพวกเขา ‘โกง’
ขณะที่ คอรีย์ เลวานดอฟสกี ที่ปรึกษาแคมเปญหาเสียงของทรัมป์กล่าวเมื่อไม่นานนี้ว่า จากการคำนวณโพลสำรวจของรีพับลิกัน เป็นไปไม่ได้ที่ทรัมป์จะพ่ายแพ้การเลือกตั้งครั้งนี้
2. ปฏิเสธความพ่ายแพ้ทุกวิถีทาง
ชัยชนะนั้นถือเป็นแกนหลักที่บ่งบอกยี่ห้อและนิยามความเป็นตัวเองของทรัมป์ ถึงขั้นที่เปลี่ยนมุมมองต่อความพ่ายแพ้และความสูญเสียทางการเงินที่เกิดกับตัวเขาให้กลายเป็นความสำเร็จอันยอดเยี่ยม
โดย โทนี ชวาร์ตซ ผู้เขียนหนังสือ ศิลปะแห่งการรับมือ ให้ทรัมป์ในช่วงทศวรรษ 1980 กล่าวว่า หนังสือส่วนใหญ่นั้นเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนความล้มเหลวจากการทำธุรกิจในอดีตของทรัมป์ให้กลายเป็นชัยชนะที่งดงาม
“วิธีที่เขารับมือกับความพ่ายแพ้คือการปฏิเสธว่ามันเคยเกิดขึ้น” ชวาร์ตซ ซึ่งเขียนหนังสืออีกเล่มชื่อว่า รับมือกับปีศาจ: แม่ของฉัน ทรัมป์ และฉันเอง กล่าว พร้อมให้รายละเอียดเรื่องราวความล้มเหลวในหลายธุรกิจของทรัมป์ เช่น ล้มละลายในธุรกิจคาสิโน, ความล้มเหลวของธุรกิจสายการบิน Trump Shuttle, ความล้มเหลวในการทำลีกอเมริกันฟุตบอล USFL ซึ่งทุกกรณีนั้นทรัมป์ประกาศเอาดื้อๆ ว่ามันคือ ‘ชัยชนะ’
แม้กระทั่งในการเลือกตั้งปี 2016 ที่เขาคว้าชัยชนะแต่พ่ายคะแนนป๊อปปูลาร์โหวต ให้แก่ ฮิลลารี คลินตัน ทรัมป์ยังอ้างว่าเป็นเพราะสูญเสียคะแนนเสียงจากการโกงเลือกตั้งหลายล้านเสียง
“เขามองว่าคนแพ้คือความตกต่ำที่สุดของที่สุด” ความเห็นของ ไมเคิล ดี. อันโตนิโอ ผู้เขียนหนังสืออัตชีวประวัติของทรัมป์ ซึ่งเชื่อว่าทรัมป์จะไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งครั้งนี้
3. ทำทุกอย่างตามกฎหมาย
ในกรณีสุดโต่งที่ทรัมป์ประกาศชัยชนะ ทั้งที่ความจริงพ่ายแพ้การเลือกตั้งนั้น ผลเลือกตั้งที่ออกมาจะไม่เปลี่ยนแปลง และการปฏิเสธที่จะยอมรับความพ่ายแพ้ของทรัมป์ก็ไม่มีผลในทางกฎหมาย ซึ่งไบเดนทำนายในการดีเบตเมื่อเดือนที่ผ่านมาว่าท้ายที่สุดแล้วทรัมป์จะยอมรับผลเลือกตั้ง
“ความจริงคือผมจะยอมรับมัน และเขาก็จะรับเช่นกัน คุณรู้ไหมว่าทำไม? เพราะเมื่อมีการประกาศผู้ชนะหลังจากที่นับคะแนนทั้งหมดแล้ว นั่นจะเป็นจุดสิ้นสุดของมัน” ไบเดน กล่าว
ขณะที่การกล่าวสุนทรพจน์ยอมรับความพ่ายแพ้ของผู้สมัครนั้น ในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ผ่านมา ถือเป็นการปิดฉากการเลือกตั้ง แม้จะยังไม่ถึงวันที่คณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) หรือผู้แทนราษฎรของแต่ละรัฐโหวตเลือกประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม ก่อนที่สภาคองเกรสจะให้การรับรองในต้นเดือนมกราคม
ซึ่งตามประเพณีแล้ว ประธานาธิบดีที่จะพ้นวาระจะเข้าร่วมในพิธีสาบานตนของประธานาธิบดีคนใหม่ และให้ความร่วมมือในการถ่ายโอนอำนาจต่อทีมงานของประธานาธิบดีใหม่ และการกล่าวสุนทรพจน์ยอมรับความพ่ายแพ้ถือเป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติที่ไม่มีระบุในรัฐธรรมนูญหรือกำหนดไว้ตามกฎหมาย
ซึ่งหากทรัมป์จะไม่ประกาศยอมรับความพ่ายแพ้ หรือห้ามทีมงานถ่ายโอนอำนาจของไบเดนเข้าไปในทำเนียบขาวจนกว่าจะสิ้นสุดวาระดำรงตำแหน่ง หรือบอยคอตพิธีสาบานตน ทรัมป์ก็สามารถทำได้ เนื่องจากอยู่ภายในขอบเขตสิทธิตามกฎหมาย ถึงแม้จะเป็นการทำลายประเพณีที่เป็นสัญลักษณ์ความปรองดองทางการเมือง ในการส่งต่ออำนาจประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็ตาม
4. ต่อสู้ด้วยกระบวนการทางกฎหมาย
ผลลัพธ์นี้อาจกลายเป็นความอื้อฉาวและเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก หากทรัมป์ไม่ยอมรับความพ่ายแพ้และตัดสินใจใช้การดำเนินคดีทางกฎหมายในแต่ละรัฐ เพื่อหวังพลิกผลการเลือกตั้ง
กรณีตัวอย่างที่น่าสนใจคือ ในยุคของอดีตประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ในปี 1960 และ อัล กอร์ ในปี 2000 ซึ่งในยุคของนิกสันที่พ่ายการเลือกตั้งให้แก่อดีตประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี นั้น มีรายงานการโกงเลือกตั้งเกิดขึ้นที่รัฐอิลลินอยส์ แต่เขาปฏิเสธที่จะดำเนินการฟ้องร้องตามกฎหมาย เพราะชัยชนะจากการฟ้องไม่อาจพลิกผลเลือกตั้งได้
ส่วนกรณี อัล กอร์ มีการฟ้องร้องต่อศาลสูงให้นับคะแนนเลือกตั้งที่รัฐฟลอริดาใหม่ แต่ศาลตัดสินให้ยกคำร้อง ซึ่ง กอร์ ก็ยอมรับคำตัดสินและประกาศยอมรับความพ่ายแพ้
แต่สำหรับทรัมป์นั้นมีสัญญาณบ่งชี้ว่าเขาไม่มีความตั้งใจที่จะยอมรับความพ่ายแพ้ ซึ่งต้องจับตาดูว่าเขาจะใช้ช่องทางกฎหมายในการนับคะแนนใหม่เพื่อเปลี่ยนแปลงผลเลือกตั้งของรัฐที่มีคะแนนสูสีได้หรือไม่
แต่ผู้เชี่ยวชาญการเมืองหลายคนเชื่อว่า หากไบเดนเอาชนะทรัมป์ในการเลือกตั้งได้อย่างขาดลอยโดยมีคะแนนโหวตจากคณะผู้เลือกตั้งเกิน 270 เสียง ฝ่ายทรัมป์เองจะเผชิญแรงกดดันภายในจากสมาชิกพรรครีพับลิกัน ทำให้ต้องกลับทำเนียบขาวและประกาศยอมรับความพ่ายแพ้โดยปริยาย
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: