เมื่อเศรษฐกิจไทยและโลกเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังธุรกิจ SMEs ที่รากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทยเฉพาะสินเชื่อของ SMEs ที่วงเงินธุรกิจต่ำกว่า 100 ล้านบาท มีสัดส่วนถึง 38% ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการผ่อนผันให้ลูกหนี้ SMEs เช่น การพักชำระหนี้-ดอกเบี้ย ฯลฯ อัตโนมัติตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน 2563 เป็นเวลา 6 เดือน
อย่างไรก็ตาม มาตรการช่วยเหลือดังกล่าว กำลังสิ้นสุดลงในวันที่ 22 ตุลาคม 2563 แต่ผลกระทบจากโควิด-19 ยังไม่สิ้นสุด นำสู่คำถามที่ว่า ธปท. จะต่ออายุมาตรการช่วยเหลือไหม
รุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายเสถียรภาพระบบการเงินและยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า มาตรการพักชำระหนี้ของ SMEs ออกมาใ้ห้ SMEs ทุกรายใช้ได้ แต่ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนไป สะท้อนจากดัชนีกิจกรรมทางเศรษฐกิจของธุรกิจที่เริ่มฟื้นตัว ซึ่งการฟื้นตัวของแต่ละธุรกิจไม่เท่ากัน ดังนั้นทาง ธปท. จึงปรับมาตรการช่วยเหลือ เชื่อว่าจะไม่เกิดปัญหาผิดนัดชำระหนี้จำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว (Cliff Effect) หลังมาตรการพักหนี้ครบกำหนด
ขณะที่การพักหนี้ในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ระบบไม่รู้สถานะของลูกหนี้ SMEs ในปัจจุบัน และหากมาตรการพักหนี้เป็นระยะเวลานานอาจส่งผลให้เกิดวินัยทางการเงินที่ไม่ดี (Moral Hazard) ของลูกหนี้บางกลุ่ม และมองว่าหากยังต่ออายุมาตรการช่วยเหลือออกไปอาจเป็นการเลื่อนปัญหาไปในระยะเวลาข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม มาตรการพักชำระหนี้ยังส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์มีสภาพคล่องที่น้อยลง เพราะไม่ได้เงินคืนจากลูกหนี้ SMEs ใน 2 ส่วน ได้แก่ ดอกเบี้ยและเงินต้น โดยทางธนาคารระบุว่าจะส่งผลต่อสภาพคล่องของธนาคารลดลง 2 แสนล้านบาทต่อปี และทำให้ธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยสินเชื่อได้น้อยลง
ทั้งนี้ ทาง ธปท. ไม่ขยายมาตรการพักชำระหนี้เป็นการทั่วไปหลังจาก 22 ตุลาคม 2563 และออกประกาศให้สถาบันการเงินคงสถานการณ์จัดชั้นลูกหนี้ถึงสิ้นปี 2563 (Stand Still) สำหรับลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างเจรจาปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ เพื่อช่วยไม่ให้ลูกหนี้กลายเป็น NPL เช่น ลูกหนี้จะไม่มีดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้เพราะอยู่ระหว่างการเจรจา และคงสถานะเดิมก่อนจะเข้าสู่มาตรการช่วยเหลือ รวมถึงการกำหนดให้สถาบันการเงินสามารถให้ความช่วยเหลือผ่านการพักหน้ีสูงสุด 6 เดือนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564
อย่างไรก็ตาม จากมาตรการพักหนี้ของลูกหนี้ SMEs 1.35 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นลูกหนี้ SMEs ของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-bank) ที่เข้ามาตรการช่วยเหลืออยู่ที่วงเงิน 950,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 270,000 บัญชี จากลูกหนี้ SMEs ทั้งระบบที่มีอยู่ 319,000 บัญชี
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลจากธนาคารพบว่ามีลูกหนี้ SMEs ราว 20% ไม่ขอใช้มาตรการช่วยเหลือ แสดงให้เห็นว่ามี SMEs ที่สามารถทำธุรกิจต่อได้
ทั้งนี้ จากมูลหนี้ 950,000 ล้านบาท* มีลูกหนี้ SMEs ราว 6% หรือราว 57,000 ล้านบาท (ประมาณ 1.6 หมื่นบัญชี) ที่ธนาคารยังติดต่อไม่ได้ หรืออยู่ระหว่างการติดต่อ ธปท. แนะนำว่า SMEs กลุ่มนี้ควรรีบติดต่อกับสถาบันการเงินเพื่อรับการช่วยเหลือที่เหมาะสม
*มูลหนี้ 950,000 ล้านบาทที่เข้ามาตรการช่วยเหลือคิดเป็น 79% ของสินเชื่อ SMEs ที่วงเงินธุรกิจต่ำกว่า 100 ล้านบาท
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์