โค้ชหนุ่ม-จักรพงษ์ เมษพันธุ์ (The Money Coach) ชวน ‘พรี่หนอม’ หรือ ถนอม เกตุเอม ผู้เชี่ยวชาญด้าน ภาษี เจ้าของเพจ TaxBugnoms ที่คอยให้ความรู้ทาง การเงิน และเรื่อง ภาษี ได้โดนใจคนยุคนี้ที่สุด โค้ชหนุ่มจะยิงคำถามที่รวบรวมจากทางบ้าน ไล่ตั้งแต่ง่ายไปยากให้พรี่หนอมได้ตอบและไขข้อข้องใจในสไตล์ที่เป็นกันเอง
เราควรกังวลเรื่อง ภาษี ตั้งแต่อายุเท่าไร?
ภาษี ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลว่าอายุเท่าไร แต่ต้องกังวลทันทีที่มีรายได้ บางคนอาจจะยังไม่รู้เลยว่าต้องกังวล แต่มีรายได้แล้ว เช่น ลูกดาราบางคนที่มีรายได้เยอะ ตั้งแต่เขายังเด็กๆ เขายังต้องเสียภาษีแล้ว ตอนนั้นเขายังไม่กังวลเลย แต่พ่อแม่เขาจะกังวลแทน
โดยหลักคือไม่เกี่ยวกับอายุ?
ไม่เกี่ยวเลย มีรายได้เมื่อไรก็ต้องคิดเลย คือต่อให้ยังไม่เสีย ภาษี ก็คิดได้ก่อนเลยว่า เฮ้ย ต้องดูอะไรบ้าง ต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง
เพราะฉะนั้นทันทีที่คุณมีรายได้ตั้งแต่บาทแรก
คิดเลยว่าจะต้องทำอย่างไร
“อันนี้เป็นสมการ จำไว้เลย มีรายได้ต้องเสียภาษี”
ขายอะไรบ้างที่ต้องเสีย ภาษี ?
ขายอะไรก็ต้องเสียภาษีหมด มันก็ต้องกลับไปสมการแรกคือมีรายได้ต้องเสียภาษี ขายมีรายได้ไหมถ้ามีรายได้ก็ต้องเสีย ภาษี
ถ้าทำธุรกิจต่อให้เป็นเรื่องผิดกฎหมายก็ต้องเสียภาษี ขายหวยก็ต้องเสีย ภาษี เพราะมีรายได้ แต่ว่ามันอาจจะมีข้อยกเว้น เช่น ขายทรัพย์สินที่เราซื้อมาใช้แล้วไม่ได้ขายเพื่อกำไร อันนี้ไม่ต้องเสีย เช่น ขายของมือสอง ซื้อรถมาขายรถไป แต่ไม่ได้เป็นคนซื้อขายรถ แต่ถ้าทำมาเพื่อหากินคือต้องเสียภาษีหมด
ขายของออนไลน์แต่ขายไปต่างประเทศอย่างนี้ต้องเสียภาษีไหม?
คือต้องดูว่าเป็นรายได้จากต่างประเทศใช่ไหม มันจะมีข้อยกเว้นอย่างหนึ่ง คือเราอยู่ในประเทศไทยเกิน 180 วันหรือเปล่า ถ้าเกิน รายได้ก้อนนั้นเอาเข้ามาในไทยด้วยหรือเปล่า ถ้าอยู่ไม่เกินและไม่ได้เอาเข้าไทย ณ ปัจจุบันไม่ต้องเสียภาษี มันเรียกว่ากฎของถิ่นที่อยู่
ถ้าอยู่ในไทยทั้งปีไม่เกิน 180 วัน คือครึ่งปี นับแบบเว้นช่วงได้ บวกรวมๆ กัน ไม่ต้องอยู่ติดต่อกัน ถ้าปีหนึ่งอยู่ไม่ถึง 180 วัน และไม่ได้เอารายได้ก้อนนี้เข้าประเทศ ก็ไม่ต้องเสียภาษี แต่ถ้าอยู่เกินแล้วเอารายได้ก้อนนี้เข้าประเทศก็ต้องเสียภาษี มันเป็นกฎ
ไม่รู้เสียภาษีไปทำไม สุดท้ายเสียภาษีแล้วคนก็โกงไป
เราต้องแยกเรื่อง สิทธิ กับ หน้าที่ ก่อน หน้าที่เรากฎหมายสั่งให้เสีย ก็ต้องเสีย ไม่เสียก็เท่ากับทำผิดกฎหมาย อีกอย่างคือคุณไม่พอใจกับภาษีที่คุณเสียไป คุณก็บ่นด่าตามใจคุณ อันนี้ไม่ผิด แต่คุณต้องเสียให้ถูกก่อน
“มันจะย้อนแย้งมากถ้าเกิดว่าเราไม่จ่ายภาษี แล้วไปด่าว่าเขาโกง แต่เราโกงกฎหมายเอง แล้วเราจะด่าตัวเองไหมว่าเราโกงด้วย”
รู้ตัวว่าต้องเสียภาษี แต่ที่ผ่านมาไม่เคยเสียภาษีเลย อยากจะกลับมาเป็นคนดี คำถามคือ กลับเข้าสู่กระบวนยังไงดีที่จะไม่โดนย้อนหลัง?
โอ้โห คำถามดีเพราะปกติมันจะจบแค่นี้ครับ คืออยากจะเสียภาษีให้ถูกต้องแหละ แต่กลัวว่าจะถูกตรวจสอบย้อนหลัง เอาประเด็นนี้ก่อน ถ้าเสียไม่ถูกต้องมันมีโอกาสถูกตรวจสอบย้อนหลังอยู่แล้ว แต่ถ้ากลับมาเสียถูกต้อง ถามว่ามีโอกาสไหม มันก็อาจจะมีโอกาส แต่คุณปกป้องตัวเองได้โดยการที่วันนี้คุณเสียถูก มันหมายความว่าเราทำถูกแล้ว
เหมือนเริ่มนับหนึ่ง?
สมมติเขามาเห็นเรากลับตัวเป็นคนดี มันก็ย่อมจะดีกว่าที่เราจะกลัว แล้วไม่เสียเลย
มันจะยิ่งบานปลาย?
ใช่ครับ มันจะยิ่งเป็นโทษ แล้วก็โทษหนักจริงๆ อายุความมัน 10 ปี แต่ถ้าเกิดเสียถูก อายุความมันจะอยู่ที่ 2-5 ปี แล้วแต่เคส แต่ถ้าวันนี้เราเริ่มเสียถูก เราก็สบายใจไปได้ 2-5 ปี
คำว่าเสียไม่ถูกต้องคือจ่ายไม่ครบ?
จ่ายไม่ครบแต่มีการยื่นภาษี แต่คำว่าไม่เสียเลย คือ 10 ปี
ถ้าไม่ยื่นเลยอายุความ 10 ปี พอไม่ยื่นเลยปุ๊บเขาไปตรวจสอบย้อนหลังแล้วคุณมีรายได้ ก็ย้อนไป 10 ปี แล้วมันนับปีต่อปีไหม เช่น ปี 59 พี่มีรายได้แล้วพี่ไม่ยื่น ตัว 59 ก็ต้องบวกไป 10 ปีมั้ย?
ใช่ อายุความปี 59 ก็จะบวกไปถึงปี 69 แต่ถ้า 59 เสียถูก อายุความอาจจะแค่ 62 หรือ 65 มันก็จะเห็นความโชคดีของเราแล้ว
ถ้าเข้าไปสู่ระบบนั้นจริงๆ กลับไปเป็นคนดี มันมีโทษอย่างไรบ้าง?
ถ้าวันนี้กลับมายื่นให้ถูก ไม่มีโทษ สมมติมีรายได้ปี 60 ยื่นปี 60 ให้ครบ มันไม่มีโทษ ปี 59 ไปยื่นเพิ่ม โทษคือ ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาหนักสุด เงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือน คือปีละ 18% มีเบี้ยปรับนิดหน่อย ค่าปรับไม่ยื่นแบบ 200 บาท ค่าปรับก็คือไปยื่นภาษีเพิ่ม แต่เงินเพิ่มที่ต้องเสียคือดอกเบี้ย สมมติภาษีต้องเสีย 100 นึง ดอกเบี้ย 18% ต่อปี ก็ต้องเสีย 118 บาท
ต้องเสียภาษี กับ ต้องยื่นแบบ คนเงินเดือน 25,000 บาท ยังไม่ต้องเสียภาษี เขาไม่ยื่นแบบเลย อยากให้แยกตรงนี้ให้ฟังหน่อยว่าที่ถูกต้องมันคืออะไร?
ถ้ามีรายได้ทั้งปีเกิน 120,000 บาท เฉลี่ยเดือนละ 10,000 บาท ต้องยื่นภาษี
เสียไม่เสียอีกเรื่อง?
ยื่นเพื่อบอกว่า มีรายได้ ถึงไม่เสียก็ยื่นไป เอาง่ายๆ ก็คือ 25,000 กว่าบาทเริ่มเสียภาษี แต่ต่ำกว่า คุณก็ยื่นไปเลย ทำให้เขารู้ว่าเรามีข้อมูล
ผมเห็นว่าเรื่องนี้มันดีนะ เป็นพัฒนาการคน คนเราค่อยๆ ทำงาน มีรายได้เพิ่มเรื่อยๆ ถ้าไม่เริ่มจากตรงนี้ มาถึงปั๊บ 25,000 บาท พอถึง 30,000 ไม่ยื่นแล้วกัน เพราะไม่เคยยื่นอยู่แล้วนี่ ไปเรื่อยๆ 40,000 50,000 จนถึง 100,000 สรรพากรมาพอดีโป๊ะเชะ
ฉะนั้นให้แยกก่อนว่า ถ้ามีเงินเดือนปีละ 120,000 บาท ต้องยื่นภาษี ถ้าเป็นฟรีแลนซ์ ทำงานอิสระขายของ ปีนึง 60,000 บาท ยื่นไปเลย
“ถึงไม่เสียก็ยื่นไป ยื่นเพื่อบอกว่าเรามีรายได้”
ถ้าไม่ยื่นโดนไหม?
จริงๆ ถ้าไม่ยื่นโทษไม่ได้รุนแรงมาก คือค่าปรับแบบ 200 บาท แต่มันเป็นประโยชน์กับเรา จริงๆ โทษคือ 2,000 แต่ทางปฏิบัติเขาเก็บ 200 เออ เราก็บอกหมดเลยเนอะ คนก็ไม่ยื่นกันหมดเลย (หัวเราะ)
แต่อย่างที่บอก มันเป็นประโยชน์หลายเรื่อง ให้มันสะสมตัวเลขไป แล้วข้อมูลรัฐบาลที่เขาเก็บจากคนเสียภาษี มันเอาไปทำข้อมูลต่อได้ เช่น รายได้ต่อหัวคนมีรายได้เท่าไรเขาไม่รู้ ถ้าคุณไม่ยื่นภาษีเขาก็ไม่รู้ว่าคุณมีรายได้เท่าไร เพราะมีรายได้ที่อยู่นอกระบบ มันเป็นการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ จริงๆ ประเทศเราอาจจะเป็นประเทศที่เศรษฐกิจดีก็ได้ครับ แต่พอคนไม่ยื่นภาษี ตัวเลขไม่มี เวลาวิเคราะห์นโยบายออกมาอาจจะไม่ตรงกับสิ่งที่ควรจะเป็น
คนที่ทำอาชีพอิสระ แล้วอยากกู้ซื้อบ้าน รายได้ไม่มีใครเห็น ได้รับเป็นเงินสดบ้าง โอนเข้าบัญชีธนาคารบ้าง พออยากได้บ้านสักหลังก็ไม่มีหลักฐานที่เชื่อถือได้ สุดท้ายธนาคารก็จะถามหาหลักฐานที่เป็นทางการหน่อย เขาจะถามหาหลักฐานการยื่นภาษี มันจะเป็นประโยชน์ตั้งแต่มหภาคจนถึงจุลภาค ตัวเราก็จะได้ประโยชน์ นี่เรากำลังเกลี้ยกล่อมอยู่นะครับ
จริงๆ ผมว่าไม่เสีย ยิ่งควรยื่น มันดูภูมิใจนะ
แนวโน้มของภาษีคนขายของออนไลน์จะเป็นอย่างไร ต้องเตรียมตัวรับมืออย่างไร ถึงจะจ่ายน้อยที่สุด?
แนวโน้มมันไม่มี คือมันต้องเสียภาษีอยู่แล้ว ซึ่งถ้าถามว่ารัฐสนใจเรื่องนี้เมื่อไร จำได้ว่าผมอ่านข่าวตั้งแต่ปี 55 ว่าจะเอาจริงเรื่องธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ผมก็เห็นบางคนที่ถูกล่อซื้อแล้วโดนภาษีย้อนหลังเยอะก็มี จริงๆ ใช้คำว่าล่อซื้อไม่ได้ แต่คือเชิญพบ เชิญตรวจสอบ
แนวโน้มน่ากลัวตรงไหน ผมว่าภาษีไม่ได้น่ากลัว กฎหมายไม่ได้เปลี่ยนอะไรหรอก แต่ที่น่ากลัวคือระบบการรับเงิน มันจะเริ่มตรวจสอบได้ง่ายขึ้น อย่างที่บอกว่าถ้าใช้พร้อมเพย์ก็จะตรวจสอบได้ง่ายขึ้น ต้องแยกประเด็นก่อนว่าเรื่องพวกนี้ต้องถูกบังคับใช้ในอนาคตอยู่แล้ว ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง มันจะกลายเป็นสังคมไร้เงินสดให้ได้ เพราะว่าการมีสังคมเงินสดจับจ่ายใช้สอย มันมีปัญหาเรื่องเลี่ยงภาษี คอร์รัปชัน มีต้นทุนในการบริหารจัดการเยอะ
เขาก็พยายามผลักดันตั้งแต่ปี 58 ตอนนี้เริ่มมีเครื่องรูดบัตร (EDC) เครื่องรับเงิน ล่าสุดมีเครื่องรับจ่ายผ่าน QR Code ใช้คำว่าบังคับก็ได้ว่าให้คุณใช้เงินสดน้อยลง และทุกอย่างจะเข้าไปในระบบ
ถามว่าเราจะอยู่กับเงินสดได้ไหม ผมว่าก็อยู่ได้แหละ มันจะถูกล้อมไปเรื่อยๆ สิ่งที่ต้องทำตอนนี้คือใครขายออนไลน์ รู้หรือยังว่าเรามีรายได้จริงๆ เท่าไร ที่เสียภาษีไม่ถูกเพราะไม่รู้ว่าเรามีรายได้เท่าไร กำไรเท่าไหร่ และเอามาคำนวณภาษีเป็นไหม มันต้องไล่สเตป คืออยากเสียภาษีนะ แต่พอถามรายรับ-รายจ่ายเท่าไร อ๋อ กำไรประมาณเท่านี้ ซึ่งมันลอยๆ เราจะบอกไม่ได้หรอกครับว่ามันจะเสียเยอะหรือน้อย
“พยายามให้รู้ว่าเรามีรายได้จริงๆ เท่าไร ไม่ต้องบอกสรรพากรก่อนก็ได้ แล้วแนวทางทางกฎหมายที่เขาให้หักค่าใช้จ่ายลดลงเหลือ 60% หักลดหย่อนแล้วมันโอเคไหมกับภาษีที่ต้องเสีย ต้องคำนวณเป็น แล้วค่อยมาคิดว่าจะวางแผนอย่างไร”
เพราะฉะนั้นกฎหมายไม่ได้เปลี่ยน มันเหมือนเดิมคือคนมีรายได้ต้องเสียภาษี แต่ทีนี้ของพวกที่ตรวจสอบไม่ได้ว่าคุณมีรายได้เท่าไร มันเริ่มตีกรอบมาแล้ว
ส่วนตัวผมว่ามันดีกว่านะ เพราะมันคุยกันด้วยหลักฐาน ไม่ได้คุยกันด้วย เฮ้ย ปีนี้แกมีรายได้ แกต้องเสียภาษี มา ฉันประเมินแกเพิ่มเท่านี้แล้วกัน ซึ่งเราก็ลอย เขาก็ลอย สรรพากรเขาก็ต้องลอย ตีสักล้านสองล้าน แล้วเสียภาษีสักสามหมื่นจบไหม
กลายเป็นฝั่งโน้นก็มีอำนาจพิเศษขึ้นมา แล้วก็เกิดการคอร์รัปชัน
ทำให้เราเสียภาษีไม่เป็น เลยเหมาๆ แล้วกัน จบ ผมว่าตัวเลขพวกนี้มันทำให้เรารู้จริงๆ ว่าเราต้องเสียภาษีเท่าไร
ทีนี้พอมาออนไลน์ปุ๊บ เขาก็จะรู้สึกว่า เอ๊ย ต้องมาถามตัวเองว่ามีรายได้เท่าไร ได้กำไรเท่าไร หรือจดทะเบียนบริษัทเลยดีไหม
นี่ก็เป็นอีกเรื่องที่คนถามบ่อย เอาอย่างนี้ครับ คือถ้าตอบไม่ได้ว่ามีรายได้เท่าไร มีค่าใช้จ่ายเท่าไร มีกำไรเท่าไร เสียภาษีเท่าไร ถ้าตอบ 4 ข้อนี้ไม่ได้อย่าเพิ่งจดบริษัทเลย
คุณจดมาแล้วอาจจะประหยัดภาษีจริง เพราะนโยบายภาษีบ้านเราเป็นนิติบุคคลหรือบริษัทมันเสียในอัตราที่น้อยกว่า ถ้าเป็นบุคคลธรรมดา 5-35% ถ้าเป็นนิติบุคคลสูงสุด 20% ถ้าเป็น SME ได้รับยกเว้นโน่นนี่กำไรคุ้ม
แต่ถ้าคุณไม่รู้รายได้ คุณอาจจะไม่ต้องจดเป็นนิติบุคคลหรือบริษัทขึ้นมา มันต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม เช่น ค่าทำบัญชี ค่าสอบบัญชี และค่าต้นทุนเดิมที่เราไม่ต้องทำเอกสารแล้วต้องจ่ายพนักงาน ซึ่งรวมแล้วมันคุ้มกว่าหรือเปล่ากับภาษีที่ลดลง
ประเด็นหลักไม่ใช่การประหยัดภาษี แต่คือการประหยัดค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เราต้องจ่าย ธุรกิจควรประหยัดค่าใช้จ่ายทั้งก้อน แต่ถ้าคุณประหยัดภาษี สมมติว่าเปลี่ยนจากบุคคลธรรมดา ขายของอยู่ดีๆ มาเป็นบริษัท จากเดิมที่ต้องเสียภาษีแสนนึง เหลือเสียห้าหมื่น แฮปปี้ แต่กลายเป็นว่าต้องมาเสียค่าใช้จ่ายค่าทำบัญชี ค่าสอบบัญชีอีกแสนนึง ซึ่งแปลว่าพอรวมจริงๆ แล้วหนึ่งแสนที่เพิ่มขึ้นมามันประหยัดภาษีไปได้แค่ห้าหมื่น มันไม่คุ้ม มันต้องไล่ตอบคำถามตัวเอง อย่ามโนว่ามีสิบล้านต้องจดบริษัทเลย บางคนอาจจะไม่อยากจดก็ได้
ซึ่งก็ไม่ได้ผิด มันมีวิธีการจ่ายภาษีส่วนของบุคคล
ต้องยอมรับว่ารัฐเขาอยากให้จดบริษัทมากกว่า มันดูแลจัดการง่าย ซึ่งมันก็เป็นการเชิญชวน เราเองต้องรู้ว่าเราอยากเอาแบบไหน บางคนขายของถามว่าอยากจดบริษัทดีไหม ทำงบใช้จ่ายออกมาเสร็จ สรุปขายของขาดทุนอยู่ไม่รู้ตัว
เรื่องของสิทธิประโยชน์ต่างๆ บ้าง สำหรับคนทั่วไป หลายคนงงและสงสัย สรรพากรออกอะไรมา ทำไมไม่มีหน่วยงานออกมาอธิบาย เอาว่า 1-2 ปีนี้งงกันมาก อย่างเช่นท่องเที่ยว บิลอันไหนได้ บิลอันไหนไม่ได้ จับจ่ายใช้สอยช้อปช่วยชาติ บางคนคิดว่ารัฐให้เงิน 15,000 บาท ไปซื้ออะไรก็ได้ แล้วก็เอาบิลมาเบิก 15,000 บาท เขามีหน่วยงานสื่อสารองค์กรอะไรไหม
อยากให้เขาจ้างเหมือนกันนะครับ (หัวเราะ) ในใจก็อยากให้เขาเชิญชวนไปทำเหมือนกัน เท่าที่ทราบเขามีเพจที่ช่วยให้ข้อมูล แล้วก็มีคลิปความรู้พวกวิดีโอบ้าง แต่อาจจะอธิบายเป็นภาษากฎหมาย
“คนเราอ่านภาษากฎหมายไม่รู้เรื่อง รู้สึกว่ายาก ได้ข่าวได้อะไรมาก็พยายายามจะสรุปสั้นๆ อย่างลดภาษี 15,000 ซึ่งจริงๆ มันคือลดหย่อน ไม่ใช่ลดไปเลย”
ถ้าใช้ภาษายาก ยังไงก็ตามมันไม่มีใครรู้เรื่อง
ทำให้นักวางแผนภาษีหลายท่านมีรายได้เพิ่ม แต่ผมเชื่อว่าถ้าทุกคนศึกษากันจริงๆ มันจะเก่งขึ้นเอง คือผมไม่ได้จบกฎหมาย ผมจบบัญชี แต่ผมพยายามจะอ่าน แกะ พอมันอ่านแกะไปเรื่อยๆ เราก็จะชำนาญขึ้น ถ้าเป็นเรื่องภาษีที่เราควรรู้ลงทุนกับมันหน่อยก็โอเค
แฟนทำเรื่องกู้บ้านและรถผ่านทั้ง 2 รายการ แต่จะลาออกจากงานมาทำอาชีพฟรีแลนซ์เล็กๆ น้อยๆ ส่วนผมหาเงินส่งบ้านและรถในชื่อแฟน พอถึงสิ้นปีแฟนสามารถขอคืนภาษีผ่อนบ้านและรถยนต์ได้ไหม
ตัดรถยนต์ออกก่อนเลย เพราะกฎหมายไม่เคยบอกว่าผ่อนรถยนต์ลดภาษีได้ ผ่อนบ้านก็ไม่ใช่ทั้งก้อนที่ผ่อนบ้าน แค่ส่วนที่เป็นดอกเบี้ยผ่อนบ้านแต่ละปีเท่านั้น สูงสุดแสนนึง ในชื่อของแฟนเพราะว่าแฟนเป็นคนกู้
แต่ผมเป็นคนหามาด้วยน้ำพักน้ำแรง
แต่ดันใส่ชื่อแฟนไปไง ก็เลยเป็นของเจ้าของ
ประเด็นของคนนี้คือดันไปหักที่แฟน แต่แฟนผมพอออกมาทำฟรีแลนซ์ ทำให้มีรายได้ 100,000 บาทต่อปี มันไม่คุ้ม เหมือนเขาจะไม่เสียภาษี ทำยังไงดี
ก็ยื่นรวมกันก็ได้ครับ อาจจะเอาค่าลดหย่อนพวกนี้มาใช้ได้ ไม่แน่ใจว่าคำว่าแฟนนี่จดทะเบียนสมรสกันหรือเปล่า ถ้าจดทะเบียนก็ยื่นรวม ถ้ายัง เป็นแฟนกันเฉยๆ ก็ไม่ได้เลย ถ้าจดทะเบียนสมรส สิทธิลดหย่อนของแฟนบางส่วนอาจจะมาลดของเราได้เพราะยื่นรวมกัน 2 คน
จริงๆ หลายเรื่องเราทดลองคำนวณดูได้นะ ในเว็บสรรพากรก็มี
มีคนไม่กล้าเข้าไปกรอกตัวเลขของสรรพากรเพราะกลัวถูกดักจับข้อมูล คือผมไม่รู้ว่าเราหวาดกลัวอะไรกันมาก
หรือจะไปใช้แอปพลิเคชันก็ได้ง่ายดี อันนั้นกรอกไปสรรพากรไม่รู้
iTax เขามีนโยบายไม่เก็บข้อมูล
ผมทำบ้านพักอาศัยเอง แล้วแบ่งเป็นห้องเช่า คือพักห้องนึง อีก 6-8 ห้องให้เขาเช่า ประมาณห้องละ 2,500 บาท ไม่รวมน้ำไฟ ต้องเสียภาษีไหม แล้วต้องเสียภาษีแบบไหนครับ?
ต้องเสียครับ รายได้มันเป็นรายได้ค่าเช่า ถ้าเอาแบบเจาะหน่อยคือ เป็นรายได้ประเภทที่ 5 ก็หักค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 30% แบบเหมา หรือหักตามจริงก็ได้ ก็ลองคำนวณภาษีดู แล้วก็หักค่าลดหย่อน เพราะตอนนี้ไม่ได้จดบริษัทอะไร เป็นชื่อตัวเองหมดก็เอารายได้ส่วนนี้ไปยื่น
เพราะฉะนั้นเขาอาจจะยังไม่รู้ว่าคุณมี แต่ถ้าคุณอยากเป็นคนหนึ่งที่มีสิทธิประโยชน์ต่างๆ ในอนาคตที่ผมเคยบอกไป แล้วอยากทำตัวให้ถูกต้องก็ไปยื่น
เผื่อจะทำห้องเช่าเพิ่มได้นะ ไปกู้แบงก์เพิ่มได้อีก
Credits
The Host จักรพงษ์ เมษพันธุ์
Show Creator จักรพงษ์ เมษพันธุ์
Episode Producer เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์, อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director กริณ ลีราภิรมย์
Graphic Designer เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล
Music Westonemusic.com