สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือฟีฟ่า (FIFA) ได้ออกแถลงการณ์หลังจากที่ล่าสุดซาอุดีอาระเบีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, บาห์เรน, เยเมน, อียิปต์ และเขตปกครองด้านตะวันออกของลิเบีย ตัดสินใจตัดความสัมพันธ์กับกาตาร์ เจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022
แต่ก็ยังมีคำถามว่า การตัดความสัมพันธ์ทางการทูตครั้งนี้จะกระทบต่อสถานะเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 ของกาตาร์หรือไม่ THE STANDARD มีคำตอบ
แรงงานทำความสะอาดสนามคาลิฟา อินเตอร์เนชันแนล สเตเดียม เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 2017
Photo: KARIM JAAFAR, AFP
การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานอาจถูกระงับ
เจ้าภาพต้องมีความพร้อมทั้งระบบการขนส่ง ระบบรักษาความปลอดภัย และสนาม แต่การก่อสร้างหลายอย่างอาจถูกระงับ เนื่องจากการสร้างท่าเรือแห่งใหม่ พื้นที่การแพทย์ โครงการระบบขนส่งมวลชน และสนามกีฬาอีก 8 แห่งสำหรับฟุตบอลโลก ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงการทั้งหมด ต้องอาศัยการขนส่งวัสดุผ่านทางเรือ และทางบกผ่านซาอุดีอาระเบีย ซึ่งหลังจากการตัดขาด กาตาร์อาจต้องพบกับค่าขนส่งที่สูงขึ้น และอาจนำไปสู่ความล่าช้าในการก่อสร้างได้
นายคริสเตียน อุลริซเซน ผู้เชี่ยวชาญกิจการอ่าวเปอร์เซียของสถาบันเบเคอร์ในสหรัฐฯ ระบุว่า การปิดน่านฟ้าและพรมแดนที่ยาวนานจะส่งผลต่อกำหนดเวลาและความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกอย่างแน่นอน
ธุรกิจในวงการฟุตบอลร่วง
Qatar Airways เป็นผู้สนับสนุนของทีมบาร์เซโลนาตั้งแต่ปี 2013 และกำลังจะหมดสัญญาลงในวันที่ 30 พฤษภาคมนี้ รวมถึงทีมอัล-อาห์ลี ทีมฟุตบอลสำคัญของซาอุดีอาระเบีย ได้ยกเลิกข้อตกลงให้การสนับสนุนกับทางสายการบิน Qatar Airways แล้ว
สโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประกาศเซ็นสัญญาคาดหน้าอกเสื้อกับ Rakuten อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่นเป็นระยะเวลา 4 ปี
โดยจะเริ่มต้นตั้งแต่ฤดูกาล 2017/2018 เป็นต้นไป (Photo: LLUIS GENE, AFP)
ขณะที่ฟุตบอลทีมชาติกาตาร์นั้นกำลังอยู่ในสถานการณ์ลำบากในการลุ้นผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลโลก ปี 2018 ที่ประเทศรัสเซีย เนื่องจากในการแข่งขันรอบคัดเลือก โซนเอเชีย รอบ 12 ทีมสุดท้าย กาตาร์อยู่อันดับสุดท้ายของกลุ่มเอ ลงเล่น 7 นัด มี 4 คะแนน และเหลือโปรแกรมแข่งขันอีก 3 นัดกับเกาหลีใต้ ซีเรีย และจีน ในรอบที่ 3
ข้อกังขาของกาตาร์ในฐานะเจ้าภาพฟุตบอลโลก
ตลอดเวลาที่ผ่านมา ตั้งแต่กาตาร์ได้รับสิทธิเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ปี 2022 มีสื่อต่างชาติและแฟนบอลหลายคนตั้งคำถามกับเจ้าภาพจัดฟุตบอลครั้งนี้ โดยเฉพาะสภาพอากาศในตารางแข่งขัน (มิถุนายน-กรกฎาคม ค.ศ. 2022) ที่ตรงกับช่วงฤดูร้อนของกาตาร์ ซึ่งอุณหภูมิอาจสูงถึง 50 องศาเซลเซียส
โดยทางสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ ภายใต้การบริหารของเซปป์ แบลตเตอร์ ประธานฟีฟ่าคนที่ 8 ให้เหตุผลว่าต้องการให้ฟุตบอลโลกสามารถจัดขึ้นทั่วโลก โดยกาตาร์จะเป็นประเทศแรกที่เป็นเจ้าภาพในทวีปตะวันออกกลาง ซึ่งก่อนหน้านี้ได้จัดขึ้นที่ทวีปแอฟริกาเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2010 ที่แอฟริกาใต้ และจัดในเอเชียเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2002 ซึ่งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพร่วม
ทั้งนี้จากปัญหาด้านสภาพอากาศ ทางกาตาร์ได้แก้ไขด้วยการปรับปรุงสนาม คาลิฟา อินเตอร์เนชันแนล สเตเดียม ซึ่งมีความจุ 40,000 ที่นั่งให้มีระบบปรับอากาศภายในสนาม ซึ่งต้องใช้เงินกว่า 70 ล้านปอนด์เพื่อให้พื้นสนามมีอุณหภูมิที่ 26 องศาเซลเซียส ขณะที่บนอัฒจันทร์มีอุณหภูมิ 24-28 องศาเซลเซียสตลอดปี ซึ่งสนามนี้ได้เปิดใช้อย่างเป็นทางการแล้วในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศเอเมียร์ คัพ ที่อัล เรย์ยาน พบกับอัล ซาดด์ เมื่อวันศุกร์ที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา
รวมถึงทางสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติยังได้เลื่อนการแข่งขันจากฤดูร้อน (มิถุนายน-กรกฎาคม) เป็นช่วงฤดูหนาว (พฤศจิกายน-ธันวาคม) แทน และลดจำนวนวันแข่งขันจาก 32 วันให้เหลือ 28 วัน เพื่อลดผลกระทบต่อตารางการแข่งขันของฟุตบอลลีกทั่วโลก
เป็นเจ้าภาพฯ เพราะติดสินบน ข้อกล่าวหาที่ยังไม่สิ้นสุด
จากการตัดสินใจครั้งนี้ของฟีฟ่าถูกตั้งข้อสงสัยหลายครั้ง แต่ทว่าการตัดสินใจทั้งหมดเกิดขึ้นก่อนที่เซปป์ แบลตเตอร์ จะถูกคณะกรรมการด้านจริยธรรมของฟีฟ่าที่นำโดย ฮานส์ โยอาคิม เอ็คเคิร์ต ประกาศลงโทษเซปป์ แบลตเตอร์ และมิเชล พลาตินี รองประธานฟีฟ่าชาวฝรั่งเศส ห้ามยุ่งเกี่ยวกับวงการฟุตบอลเป็นเวลา 8 ปี พร้อมกับปรับเงิน เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตในวงการลูกหนัง เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ปี 2015
ส่งผลให้ทางสำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐฯ หรือ FBI และทางการของสวิตเซอร์แลนด์สอบสวนในขั้นตอนการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ เนื่องจากมีข้อกล่าวหาว่าติดสินบนเจ้าหน้าที่ และคอร์รัปชันในขั้นตอนเสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ปี 2022 นอกจากนี้ยังถูกวิจารณ์ในเรื่องของการทารุณแรงงานในขั้นตอนการสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับฟุตบอลโลก 2022
ถ้ากาตาร์หลุดโผ ใครจะเป็นเจ้าภาพ?
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางฟีฟ่าก็ยังติดตามความเคลื่อนไหวในตะวันออกกลางอย่างต่อเนื่อง แต่หากกาตาร์มีเหตุจำเป็นต้องถอนตัวจากการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกจริง สิทธิเจ้าภาพอาจจะตกไปอยู่กับสหรัฐฯ หรือออสเตรเลีย ซึ่งได้เสนอตัวเข้ามาเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ปี 2022 ในระหว่างการคัดเลือกเมื่อปี 2010
ขณะที่ชาติยุโรปจะหมดสิทธิเสนอตัวเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ เนื่องจากรัสเซียได้สิทธิเป็นเจ้าภาพในปี 2018 ซึ่งจากนโยบายของฟีฟ่าเมื่อปี 2007 ที่ระบุว่า ไม่ให้ประเทศในทวีปเดียวกันจัดฟุตบอลโลกติดต่อกัน ฉะนั้นสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือยูฟ่า จะหมดสิทธิเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันในปี 2022 ส่วนทวีปไหนที่เป็นเจ้าภาพแล้ว จะต้องเว้นวรรค 2 สมัยถึงจะมาเสนอตัวอีกครั้งได้
อ้างอิง:
– www.reuters.com/article/us-gulf-qatar-worldcup-idUSKBN18W1KB
– www.nydailynews.com/newswires/sports/fifa-contact-qatar-2022-world-cup-article-1.3222924