ธนาคารกลางของอังกฤษ หรือ บีโออี (Bank of England – BOE) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 0.25% เป็น 0.5% ท่ามกลางความกังวลต่อกรณี ‘Brexit’ และอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น นักวิเคราะห์มองว่าไม่กระทบภาคการลงทุนไทย
เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีสำหรับบีโออี นับจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2007 และเริ่มปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่องจากปี 2008 เนื่องจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในสหรัฐอเมริกาที่กระทบทั้งโลกจนต่ำกว่า 1% ในปี 2009 และยังกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ คิวอี (Quantitative Easing – QE) ด้วย
นักวิเคราะห์หลายสำนักมองตรงกันว่า แม้เศรษฐกิจของอังกฤษจะฟื้นตัวดีขึ้น แต่ปัจจัยใหญ่ที่ส่งผลกระทบยังเป็นเรื่องการออกจากสมาชิกภาพของอียู หรือ Brexit ที่กดดันให้เงินปอนด์อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง และดันให้อัตราเงินเฟ้อสูงแตะ 3% ซึ่งมากที่สุดในรอบ 5 ปี
จึงถึงเวลาที่บีโออีจะต้องขานรับเสียงเรียกร้อง แตะเบรกด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ผ่านการโหวตของคณะกรรมการการเงิน 7 ต่อ 2 แม้บางส่วนมองว่าปรับเพิ่มน้อยกว่าที่ตลาดคาดหวังก็ตาม
ปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ซี แอล เอส เอ (ประเทศไทย) ให้ความเห็นกับสำนักข่าว THE STANDARD ว่า เรื่องนี้ไม่น่าจะมีผลกระทบกับตลาดเงินตลาดทุนและธุรกิจของประเทศไทยมากนัก อาจกระทบเล็กน้อยกับธุรกิจที่จดทะเบียนในอังกฤษซึ่งมีจำนวนน้อยมาก และการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินปอนด์มีผลต่อเศรษฐกิจไทยน้อยกว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นสกุลเงินสำคัญที่ธุรกิจไทยทำการค้าด้วย
นอกจากนี้ยังมองว่าเศรษฐกิจของอังกฤษขณะนี้ยังแข็งแรง ซึ่งเห็นได้จากตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจที่เพิ่งประกาศออกมาก่อนนี้ คงมีปัจจัยเรื่อง Brexit เท่านั้นที่ต้องจับตา แต่เชื่อว่าไม่น่าจะออกมาในทางที่แย่สำหรับอังกฤษนัก
Photo: AFP