หลังจากที่รัฐบาล ‘เสียหน้า’ จากการประกาศของรองนายกรัฐมนตรี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่บอกกับนักข่าวว่า มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของเฟซบุ๊ก จะมาเมืองไทย แต่ตัวแทนของบริษัทกลับออกมาปฏิเสธเรื่องดังกล่าว
นี่เป็นเรื่องใหญ่ เพราะไม่ง่ายที่นักธุรกิจระดับนี้จะเดินทางมา และทุกความเคลื่อนไหวของบุคคลเหล่านี้ล้วนมีนัยสำคัญ
จากนั้นบรรดาสื่อจึงเช็กข่าวกันอุตลุตว่าตกลงเดือนพฤศจิกายนนี้ยังจะมีมหาเศรษฐีเบอร์ใหญ่ของโลกมาเมืองไทยตามที่เคยเป็นข่าวอีกจริงๆ หรือไม่
และ ริชาร์ด หลิว แห่ง JD.com มหาอาณาจักรอีคอมเมิร์ซของจีนก็ไม่ทำให้ผู้ที่รอคอยผิดหวัง
JD.com จาก 2 พันเหรียญสหรัฐ สู่ 5.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
ในงาน ‘Richard Liu in Bangkok with Suthichai Yoon’ โดยเครือเนชั่น ริชาร์ด หลิว หรือหลิวเฉียงตง ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ JD.com อีคอมเมิร์ซระดับโลกเปิดเผยว่า ตัวเขาเริ่มต้นธุรกิจนี้ในวัย 29 ปี ด้วยเงินทุนเพียง 2 พันเหรียญสหรัฐ ในปี 2004 ช่วงที่ประเทศจีนถูกถล่มจากวิกฤตโรคซาร์สจนผู้คนไม่กล้าออกจากบ้าน เขาเห็นโอกาสของการขายสินค้าออนไลน์ด้วยหลักการทำธุรกิจที่ซื่อสัตย์ พร้อมจุดยืนในการขายสินค้าที่เป็นของแท้ถูกลิขสิทธิ์ และจะไม่มีของปลอมปรากฏโดยเด็ดขาด การสร้างความไว้วางใจนี้เป็นกลยุทธ์สำคัญในการสร้างความแตกต่างและทำให้ธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดดมาโดยตลอด
และเมื่อได้เงินทุนจากยักษ์ใหญ่ไอทีสัญชาติจีน Tencent กว่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2014 ยิ่งช่วยเป็นแรงส่งให้ JD.com ก้าวสู่ตลาดหุ้น Nasdaq ของอเมริกา จุดยุทธศาสตร์ในการระดมทุนสำคัญของธุรกิจเทคโนโลยีและไอที โดยเปิดขายหุ้นใหม่แก่นักลงทุน (IPO) ในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน และสามารถระดมเงินทุนได้ 1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ด้วยมูลค่าตามราคาตลาด (Market Cap) สูงถึง 2.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นการเข้าตลาดก่อน Alibaba ของแจ็ค หม่า เสียอีก
ธุรกิจของ JD.com เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยริชาร์ดให้สัมภาษณ์ว่าปัจจุบันหุ้นของบริษัทมีมูลค่าตามราคาตลาดสูงถึง 5.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเติบโตจากจุดเริ่มต้นถึง 110% ส่วนตัวเขาเองนั้นถือหุ้นในสัดส่วน 15% คิดเป็นมูลค่า 8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งก็ยังถือเป็นตัวเลขที่มหึมาทีเดียว
ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา มีมูลค่าสินค้าที่ขายบนแพลตฟอร์ม (Gross Merchandise Value – GMV) ของ JD.com สูงถึง 1.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจำนวนผู้ใช้งานทั้งหมดเกือบ 250 ล้านบัญชีอยู่ในประเทศจีน และเป็นชนชั้นกลางที่กำลังขยายตัวต่อเนื่องและมีกำลังซื้อที่ดี ปัจจุบันมีพนักงาน 1.5 แสนคน แต่ที่น่าทึ่งคือมีพนักงานพาร์ตไทม์ที่อยู่ในส่วนโลจิสติกส์ถึง 1 ล้านคน โดย JD.com จะมีเจ้าหน้าที่ส่งสินค้าทุกหมู่บ้านในจีน
หากพิจารณารายได้สุทธิของ JD.com ปี 2016 อยู่ที่ 3.75 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ กำไรเบื้องต้น 5.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ด้วยตัวเลขผลประกอบการที่ดีขนาดนี้และราคาหุ้นที่สูงขึ้นจาก IPO เป็นเท่าตัว ประกอบกับภาพการเป็นคู่แข่งคนสำคัญของ ‘แจ็ค หม่า’ เจ้าพ่อ Alibaba จึงไม่แปลกที่ริชาร์ด หลิว ในวัยเพียง 43 ปี จะเป็นนักธุรกิจที่โลกจับตามากที่สุดคนหนึ่ง ล่าสุดเขายังประกาศจะผลักดัน JD.com สู่เวทีโลก เพิ่มยอดผู้ใช้งานเป็น 900 ล้านบัญชีในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าด้วย
กระนั้นเขาก็ยังพูดอย่างถ่อมตัวว่า เงินจำนวนมากขนาดนี้ไม่ได้ทำให้ชีวิตของเขาเปลี่ยนแปลงไปเท่าไร และปีๆ หนึ่งจะเข้าไปดูราคาหุ้นสักสองครั้งเท่านั้นเอง
รุกหนักอาเซียน ใช้อินโดฯ เจาะหมู่เกาะ ไทยรับ CLMV
พื้นที่ที่เนื้อหอมมากที่สุดในสายตานักลงทุนจุดหนึ่งคือภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ด้วยประชากรที่มีมากถึง 600 ล้านคน และคาดการณ์ว่ามูลค่าของอีคอมเมิร์ซในอาเซียนจะทะลุ 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปี 2025 ซึ่งสอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ครอบคลุม จึงไม่แปลกที่ทั้ง Alibaba และ JD.com จะพยายามยึดพื้นที่นี้ให้ได้
ริชาร์ดมองว่าจุดยุทธศาสตร์สำคัญของอาเซียนคืออินโดนีเซียและไทย ซึ่งการทำตลาดในอินโดนีเซียจะครอบคลุมไปถึงบรูไน ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ โดยก่อนหน้านี้ JD.com เข้าลงทุน 100 ล้านเหรียญสหรัฐในสตาร์ทอัพที่ให้บริการแชร์การเดินทางโดยมอเตอร์ไซค์อย่าง Go-Jek ซึ่งจะทำให้บริษัทมี ‘กองกำลัง’ สำคัญในการขนส่งสินค้า และริชาร์ดก็มองไกลไปถึงระบบการชำระเงินที่ได้มาด้วยอย่าง Go-Pay ที่กำลังได้รับความนิยม ขณะเดียวกันก็สร้างโกดังสินค้า 4 แห่งทั่วอินโดนีเซีย และคาดว่าขยายเป็น 7 แห่งภายในสิ้นปี 2017 นี้ มีพนักงานถึง 400 คน และยังร่วมลงทุนกับ Provident Capital บริษัทด้านการลงทุนสำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซในอินโดนีเซียด้วย
แม้อินโดนีเซียจะเป็นประเทศที่มีขนาดประชากรขนาดใหญ่ แต่จากการสำรวจของบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจระดับโลกอย่าง McKinsey พบว่า ปี 2016 มีคนอินโดนีเซียเพียง 1% เท่านั้นที่ซื้อสินค้าขายปลีกออนไลน์ เมื่อเทียบกับจีนที่ 17% และคนอินโดนีเซียยังชอบการใช้เงินสด เพราะยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงระบบการเงินของประเทศ
ขณะที่ประเทศไทยนั้น ทุกฝ่ายมองตรงกันหมดว่าเป็นที่ตั้งที่ดีที่สุดสำหรับการรุกตลาด CLMV นั่นคือกัมพูชา, ลาว เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง ในที่นี้ JD.com มองว่าประเทศไทยเป็นฐานสำคัญในการกระจายสินค้าสู่มาเลเซียอีกด้วย ริชาร์ดยังเห็นว่าตัวเลขรายได้ประชากรต่อหัวของคนไทยอยู่ในระดับที่น่าสนใจ ตลาดอีคอมเมิร์ซขยายตัวรวดเร็วและยังมีช่องทางให้พัฒนาขึ้นได้อีก โดยล่าสุดได้จับมือกับเครือเซ็นทรัลและ Provident Capital Partners ด้วยดีลมูลค่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับขยายธุรกิจอีคอมเมิร์ซและฟินเทค ซึ่งริชาร์ดให้สัมภาษณ์ว่า “เซ็นทรัลเป็นธุรกิจค้าปลีกที่ใหญ่สุดในไทย ขณะเดียวกัน JD.com ก็เป็นอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่สุดในจีน เชื่อว่าน่าจะสร้างโอกาสทางธุรกิจต่อกันได้ดีมาก”
ธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่เครือเซ็นทรัลมีอยู่ในมือคือ Zalora ในประเทศไทยและเวียดนามที่เพิ่งไปซื้อกิจการมาเมื่อปี 2016 ซึ่งมีฐานลูกค้าเดิมอยู่พอสมควร โดยในช่วงที่ผ่านมาเซ็นทรัลพยายามอย่างหนักอยู่แล้วในการทำการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ (Omni Channel) ซึ่งเป็นทางรอดที่ธุรกิจค้าปลีกต้องพัฒนาไปให้ได้
นอกจากการจับมือกับธุรกิจไทย สิ่งที่ฮือฮาที่สุดคงหนีไม่พ้นการเข้าพบ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งริชาร์ดเดินทางไปพร้อมกับ ทศ จิราธิวัฒน์ นายใหญ่เครือเซ็นทรัล ซึ่งบรรยากาศก็เป็นไปอย่างชื่นมื่น และ JD.com แสดงความตั้งใจว่าต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอีคอมเมิร์ซของภูมิภาค โดยพร้อมจะแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่มีให้กับผู้ประกอบการไทย วางแผนจะลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ หรืออีอีซี ซึ่งเป็นความหวังของรัฐบาลในการผลักดันอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และเป็นสปริงบอร์ดที่จะพาประเทศไทยไปสู่ Thailand 4.0 ได้
สิ่งที่น่าจะทำให้นายกฯ และรัฐบาลถูกใจคือ JD.com จะช่วยนำสินค้าเกษตรของไทยไปสู่ตลาดโลกผ่านแพลตฟอร์มของตน โดยที่ผู้บริโภคชาวจีนจะสามารถซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการได้โดยตรง เพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย
ริชาร์ดยืนยันว่าจะใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาตลอด 13 ปีมาใช้กับประเทศไทย ทั้งโดรนส่งสินค้าที่เหมาะกับการขนส่งสำหรับผู้ที่อาศัยในอาคารชุด โกดังที่ใช้หุ่นยนต์ทำงานแทนคนร้อยเปอร์เซ็นต์ รวมถึง Big Data และ Cloud Computing ด้วย
JD.com ยืนยันต่อหน้านักธุรกิจที่เข้าประชุมก่อนเริ่มงานทอล์กโชว์ว่าพร้อมเปิดรับพันธมิตรใหม่ๆ เพื่อจับมือและพัฒนาธุรกิจไปด้วยกัน นี่จึงเป็นสัญญาณที่ดีของเอกชนไทยที่อาจจะได้เป็นพันธมิตรกับอีคอมเมิร์ซระดับโลก และปฏิเสธไม่ได้ว่านี่เป็นแรงกดดันถึงเครือเซ็นทรัลสำหรับการปรับตัวและทำงานร่วมกันด้วย เพราะถ้าไม่ใช่เซ็นทรัล ก็ยังมีบริษัทอีกไม่น้อยที่รอจับมือกับริชาร์ด หลิว
นอกจากมา (ประเทศไทย) จริงแล้ว นักธุรกิจหนุ่มวัย 43 ปีคนนี้ยังเอาจริงอีกด้วยกับการปักหมุดพื้นที่สำคัญในอาเซียนเพื่อชิงความได้เปรียบเหนือ Alibaba นอกจากการปะทะคารมกันบางโอกาสแล้ว หลายๆ ก้าวที่ริชาร์ดขยับก็ถือว่าปาดหน้า ‘แจ็ค หม่า’ ด้วย เช่น การเข้าตลาดหุ้นที่อเมริกาก่อน การเสนอเรื่องการลงทุนในไทยก่อน รวมถึงการช่วยเหลือสินค้าเกษตร และเดือนพฤศจิกายนนี้เขาก็เข้าพบและจับมือกับนายกฯ ของเราก่อนด้วย
คงต้องรอดูเมื่อแจ็ค หม่า มาประเทศไทยว่าจะมีไม้เด็ดอะไรมาสู้ ในเมื่อริชาร์ด หลิว ชิงทำแต้มนำหน้าไปแล้ว
อ้างอิง:
- www.nasdaq.com/article/jdcom-prices-ipo-at-19-above-the-range-cm355367
- www.nationmultimedia.com/detail/Corporate/30330418
- www.ceoblog.co/richard-liu-story/
- dealbook.nytimes.com/2014/03/09/chinas-tencent-to-buy-stake-in-jd-com-as-part-of-e-commerce-push
- globenewswire.com/news-release/2017/03/02/929962/0/en/JD-com-Announces-Fourth-Quarter-and-Full-Year-2016-Results.html
- techcrunch.com/2017/09/18/chinas-jd-com-announces-500m-e-commerce-and-fintech-joint-ventures-in-thailand
- www.reuters.com/article/us-go-jek-m-a-jd-com/chinas-jd-com-invests-in-indonesias-go-jek-amid-se-asia-push-sources-idUSKCN1B50MH
- www.dealstreetasia.com/stories/jd-com-provident-capital-series-b-thai-pomelo-85444