รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกากำหนดไว้ว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีจะต้องจัดขึ้นในวันอังคารแรกของเดือนพฤศจิกายนของทุกๆ 4 ปี ดังนั้นเดือนตุลาคมจึงถือเป็นโค้งสุดท้ายของการหาเสียงของฤดูเลือกตั้งเสมอ และในอดีตเราก็มักจะได้เห็นเรื่องไม่คาดฝันเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม (October Surprise) ซึ่งส่งผลต่อคะแนนนิยมและผลการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนอยู่บ่อยๆ
บทความนี้จะพาผู้อ่านย้อนกลับไปดูว่าเคยเกิดเรื่องเซอร์ไพรส์อะไรบ้างในเดือนตุลาคมของปีการเลือกตั้งในอดีต
กรณีค้าอาวุธสงครามให้อิหร่าน (1992)
การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 1992 เป็นการชิงชัยระหว่างเจ้าของตำแหน่งเดิมอย่าง จอร์จ บุช ผู้พ่อ จากพรรครีพับลิกัน และผู้ท้าชิงอย่าง บิล คลินตัน จากพรรคเดโมแครต
คะแนนเสียงของคลินตันนำบุชมาตั้งแต่ช่วงแรกของการหาเสียง เพราะในปี 1992 นั้นสหรัฐฯ กำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจถดถอยอยู่ ทำให้ชาวอเมริกันจำนวนมากไม่พอใจแนวทางการบริหารเศรษฐกิจแบบขวาของบุช และอยากจะลงคะแนนให้คลินตันที่เสนอนโยบายเศรษฐกิจแบบกลางซ้าย บุชพยายามจะหยิบผลงานด้านการต่างประเทศของเขา เช่น การยุติสงครามเย็น และการชนะสงครามอ่าวเปอร์เซียมาเป็นตัวชูโรง แต่คะแนนนิยมของเขาก็ไม่กระเตื้องขึ้น สุดท้ายบุชจึงตัดสินใจที่จะเปลี่ยนแนวทางหาเสียงใหม่ โดยมาเน้นที่การโจมตีไปที่คาแรกเตอร์ของคลินตัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เขาหนีทหาร มีสัมพันธ์นอกสมรส และเคยสูบกัญชา ซึ่งแนวทางนี้เหมือนจะได้ผลอยู่บ้าง เพราะช่องว่างของคะแนนระหว่างบุชและคลินตันเริ่มแคบลง
อย่างไรก็ดี ได้เกิดเรื่องที่ไม่คาดฝันขึ้นในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคม เมื่ออัยการได้สั่งฟ้อง แคสปาร์ ไวน์เบอร์เกอร์ อดีตรัฐมนตรีกลาโหมในรัฐบาลของ โรนัลด์ เรแกน (ที่บุชเป็นรองประธานาธิบดี) เพิ่มเติมในคดีลักลอบค้าอาวุธสงครามให้รัฐบาลอิหร่าน (Iran-Contra Scandal) ซึ่งอันที่จริงแล้วคดีอื้อฉาวนี้เป็นที่รับรู้ในหมู่ชาวอเมริกันมานานพอสมควร แต่การฟ้องร้องในเดือนตุลาคมมีการเปิดหลักฐานใหม่จากบันทึกของไวน์เบอร์เกอร์และคำให้การของเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระทรวงกลาโหมว่าบุชรับรู้และมีส่วนร่วมในการอนุมัติขายอาวุธ โดยที่ก่อนหน้านี้บุชปฏิเสธมาตลอดว่าเขาไม่เคยรับรู้ถึงแผนการขายอาวุธนี้
ผลจากเรื่องอื้อฉาวครั้งนี้ทำให้ภาพลักษณ์ของบุชเสียหายไปมาก และการโจมตีเรื่องคาแรกเตอร์ของคลินตันดูจะไม่ได้ผลอีกต่อไป ทำให้สุดท้ายบุชแพ้คลินตันไปอย่างขาดลอยเกือบ 6 ล้านเสียง
บุชคนลูกเมาแล้วขับ (2000)
การเลือกตั้งในปี 2000 เป็นการแข่งขันกันระหว่าง อัล กอร์ ที่ขณะนั้นเป็นรองประธานาธิบดีของคลินตันมา 8 ปีกับ จอร์จ บุช ผู้เป็นลูก ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ว่าการรัฐเท็กซัส คะแนนนิยมของทั้งสองคู่คี่สูสีกันมาตลอดโดยที่บุชมีคะแนนนำนิดๆ ประมาณ 1-2% เมื่อเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง
แต่แล้วบุชก็พบกับฝันร้าย เพราะหนึ่งสัปดาห์ก่อนการเลือกตั้ง บุชถูกแฉว่าเขาเคยถูกจับในคดีเมาแล้วขับ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ของคนอเมริกันที่มองว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่รับผิดชอบต่อสังคมอย่างมาก ไม่สมควรแก่การที่จะเป็นผู้นำประเทศ นอกจากนี้บุชก็หาเสียงด้วยการสร้างภาพของการเป็นคริสเตียนเคร่งศาสนามาตลอด ซึ่งคดีเมาแล้วขับทำให้ภาพที่เขาพยายามสร้างมาพังทลายลงไปในทันที
สุดท้ายแล้วบุชก็พลิกมาแพ้คะแนนดิบ (Popular Vote) ให้กับกอร์ไปกว่า 5 แสนเสียง (แต่สุดท้ายเขาชนะได้เป็นประธานาธิบดีอยู่ดี เพราะได้จำนวนคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) มากกว่าจากการเฉือนชนะที่มลรัฐฟลอริดาไป 537 เสียง)
หัวคะแนนคนสำคัญของบุช (2004)
บุชคนลูกลงรับเลือกตั้งสมัยที่ 2 ในปี 2004 โดยมีคู่แข่งอย่าง จอห์น แคร์รี ซึ่งเป็น ส.ว. จากมลรัฐแมสซาชูเซตส์จากพรรคเดโมแครต ซึ่งก็เป็นอีกครั้งที่คะแนนนิยมของผู้สมัครจากสองพรรคคู่คี่สูสี ผลัดกันนำผลัดกันตามมาตลอด
อย่างไรก็ดี ในวันที่ 29 ตุลาคม อุซามะห์ บิน ลาดิน ได้เผยแพร่วิดีโอประกาศว่าเขาอาจก่อการร้ายโจมตีสหรัฐฯ อีกครั้ง ซึ่งหลังจากที่วิดีโอนี้ได้เผยแพร่ออกมา เรื่องการก่อการร้ายก็กลับมาเป็นประเด็นอันดับหนึ่งในใจของชาวอเมริกันอีกครั้งแทนที่จะเป็นเรื่องเศรษฐกิจหรือสังคม และประเด็นเรื่องความมั่นคงก็เป็นประเด็นที่ชาวอเมริกันไว้ใจบุชมากกว่าแคร์รี เพราะบุชเคยมีประสบการณ์พาประเทศผ่านวิกฤตวินาศกรรมตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในปี 2001 มาแล้ว ซึ่งสุดท้ายแล้วก็เป็นตัวแปรหนึ่งที่ทำให้บุชชนะแคร์รีไปอย่างเด็ดขาดที่กว่า 3 ล้านเสียง
อ้อมกอดของโอบามาและคริสตี (2012)
บารัก โอบามา ลงสนามเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2 ในปี 2012 โดยพรรครีพับลิกันได้ส่ง มิตต์ รอมนีย์ อดีตผู้ว่าการรัฐแมสซาชูเซตส์มาท้าชิง คะแนนนิยมของโอบามานำรอมนีย์มาประมาณ 2-3% ตลอดฤดูหาเสียง จนกระทั่งดีเบตครั้งแรกที่รอมนีย์เสนอวิสัยทัศน์ได้เฉียบแหลมกว่าโอบามาอย่างมากจนคะแนนนิยมของเขาพุ่งขึ้นมานำแทน
แต่แล้วในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคมก็เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น เมื่อมลรัฐในเขตตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ ถูกถล่มด้วยเฮอริเคนแซนดี้จนบ้านเมืองแถบชายฝั่งได้รับความเสียหายอย่างหนัก โดยมูลค่าของความเสียหายในครั้งนั้นถูกประเมินไว้สูงถึง 7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
ผลจากเหตุภัยธรรมชาติครั้งนี้ทำให้ทั้งโอบามาและรอมนีย์ต้องหยุดหาเสียงไปโดยปริยาย แต่โอบามากุมความได้เปรียบ เพราะเขาเป็นประธานาธิบดีอยู่ ทำให้สื่อมวลชนทุกแขนงพุ่งความสนใจมาที่เขาว่าเขาจะจัดการกับวิกฤตนี้อย่างไร ซึ่งโอบามาก็ให้ความช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที จนถึงขั้นที่ผู้ว่าการรัฐนิวเจอร์ซีย์อย่าง คริส คริสตี ซึ่งสังกัดพรรครีพับลิกันถึงกับมากอดเขาในขณะที่ลงพื้นที่ไปตรวจสอบความเสียหาย
การกอดครั้งนี้สร้างภาพผู้นำที่เข้มแข็งและได้การยอมรับจากทุกฝ่ายให้กับโอบามา ทำให้คะแนนนิยมของเขากลับมาเหนือรอมนีย์อีกครั้ง และเขาก็ชนะการเลือกตั้งไปกว่า 5 ล้านเสียง
จดหมายของ เจมส์ โคมีย์ (2016)
โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งปี 2016 ฮิลลารี คลินตัน มีคะแนนนำทรัมป์อยู่พอสมควรประมาณ 5-6% หลังจากทรัมป์ถูกแฉว่าเขาเคยพูดจาดูถูกผู้หญิงไว้ในทำนองว่า ถ้าคุณมีเงินและชื่อเสียง ไม่ว่าคุณจะทำอะไร พวกเธอก็จะยอมคุณหมด โดยคำกล่าวนี้ถูกบันทึกเสียงไว้ในรายการ Access Hollywood
แต่สถานการณ์กลับพลิกผันหลังจากนั้น โดยวันที่ 28 ตุลาคม เจมส์ โคมีย์ ผู้อำนวยการของ FBI ในขณะนั้นได้เขียนจดหมายถึงสภาคองเกรสว่าเขาจะสอบสวนคดีเรื่องที่คลินตันแอบใช้เซิร์ฟเวอร์ส่วนตัว (แทนที่จะเป็นเซิร์ฟเวอร์ของรัฐบาล) ในการรับส่งอีเมลระหว่างที่เธอดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลของโอบามาอีกครั้ง ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่คลินตันเคยถูกสอบสวนมาแล้วหลายครั้ง และเป็นสาเหตุที่ทำให้คะแนนนิยมของเธอตกต่ำ เพราะทำให้คนมองว่าคลินตันเป็นนักการเมืองประเภทคดในข้องอในกระดูก โดยพยายามแอบซ่อนหลักฐานการทุจริต
สาเหตุที่โคมีย์ตัดสินใจสอบสวนเธออีกครั้งเป็นเพราะ FBI เพิ่งไปยึดโน้ตบุ๊กมาจากอดีต ส.ส. แอนโทนี ไวเนอร์ ในคดีอนาจารผู้เยาว์ แล้ว FBI พบว่าในโน้ตบุ๊กเครื่องนั้นมีอีเมลของคลินตันอยู่ด้วย (เพราะ อเบดิน ภรรยาของไวเนอร์เป็นผู้ช่วยของคลินตัน)
ผลจากการที่โคมีย์กลับมาสอบสวนคลินตันอีกครั้ง ทำให้คดีอื้อฉาวเรื่องอีเมลของเธอกลับมาอยู่ในความสนใจของมวลชนอีกรอบ และความนิยมของเธอตกต่ำลงอีกครั้งก่อนการเลือกตั้งพอดี ทำให้คะแนนของเธอที่เคยนำทรัมป์กว่า 5% ตกลงมาเหลือแค่ 2% ในคืนวันเลือกตั้ง อันเป็นเหตุให้เธอแพ้ทรัมป์ในคะแนน Electoral College ในที่สุด
สำหรับในปี 2020 นี้เราได้เห็น October Surprise กันไปแล้วหนึ่งเรื่อง นั่นก็คือทรัมป์และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทำเนียบขาวหลายคนติดเชื้อโควิด-19 แต่เดือนตุลาคมนี้ยังอีกยาวไกล และมีความเป็นไปได้สูงว่าอาจมีเรื่องเซอร์ไพรส์อีกหลายเรื่องที่จะมาเปลี่ยนแปลงพลวัตของการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนที่จะมาถึงนี้
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์