นับได้ว่าเป็นการวางหมากและเปิดศักราชใหม่ครั้งสำคัญสำหรับวงการธุรกิจแฟชั่นในบ้านเรา หลังแบรนด์ลักชัวรีอันดับหนึ่งของโลกอย่าง Louis Vuitton ได้เป็นแบรนด์แรกในประเทศไทยที่เปิดแพลตฟอร์ม E-Commerce เป็นของตัวเองอย่างเป็นทางการ ซึ่งแปลว่าต่อไปนักช้อปไม่ต้องเสียเวลาเข้าหน้าเว็บไซต์ประเทศอื่น และมาปวดหัวกับเรื่องการจัดส่งสินค้าและลุ้นว่าจะโดนเก็บภาษีเท่าไร
Louis Vuitton เปิดเว็บไซต์ E-Commerce ของตัวครั้งแรกเมื่อปี 2002 ที่ประเทศฝรั่งเศส ก่อนที่ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ 6 ในทวีปเอเชีย ต่อจากญี่ปุ่น เกาหลี จีน สิงคโปร์ และมาเลเชีย โดยทางแบรนด์ที่ก่อตั้งเมื่อปี 1854 และตอนนี้อยู่ภายใต้บริษ้ท LVMH ของ Bernard Arnault ก็ยังคงขายสินค้าออนไลน์ผ่านช่องทาง E-Commerce ของตัวเองเท่านั้น ไม่มีการทำธุรกิจ Wholesale ให้แพลตฟอร์มอื่นไปขายต่อ ซึ่งราคาสินค้าทุกชิ้นที่มีการซื้อผ่านช่องทางนี้ก็จะเทียบเท่ากับที่ร้านทั้งหมด ไม่มีการบวกเพิ่มหรือให้ส่วนลดใดเพื่อการรักษาราคาแบบ Price Harmonization
หลายคนอาจสงสัยว่าแพลต์ฟอร์ม E-Commerce ของ Louis Vuitton ในไทยจะเน้นขายสินค้าเพียงบางกลุ่มหรือไม่ แต่ที่จริงแล้วก็จะรวบรวมเกือบหมดทุกประเภทสินค้า ไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้า กระเป๋า เครื่องหนังขนาดเล็ก รองเท้า แอ็กเซสซอรี นาฬิกา จิวเวลรี กระเป๋าเดินทาง น้ำหอม เทียนหอม จนถึงหีบเดินทาง ของตกแต่งบ้าน และสินค้ากลุ่ม Personalization สลักชื่ออีกด้วย โดยสินค้าจะจัดส่งภายใน 3-5 วันทั่วประเทศ หรือถ้าใครอยากไปรับสินค้าด้วยตัวเองก็สามารถเลือกบริการ ‘Click and Collect’ สั่งซื้อและรับสินค้าที่ร้าน ณ ห้างสยามพารากอน โดยสินค้าที่สั่งผ่านเว็บไซต์สามารถคืนได้ภายใน 30 วันได้หากเลือกไซส์ผิด หรือสินค้าไม่ตรงกับความต้องการ
แต่แน่นอนการที่แบรนด์ระดับลักชัวรีอย่าง Louis Vuitton จะมาลงทุนทำเว็บไซต์ขายสินค้าก็มีความท้าทาย เพราะคนไทยส่วนใหญ่ก็ยังชอบประสบการณ์การได้ไปที่ร้านจริงๆ ถ่ายรูปเช็กอินลงอินสตาแกรม เพลิดเพลินกับบริการมีคนเอาแชมเปญมาเสิร์ฟ และช้อปเสร็จก็ได้เดินออกจากร้านพร้อมถุงสีส้มที่ใครเห็นก็รู้ว่าเป็นแบรนด์อะไร
แต่ ‘จุดขาย’ สำคัญของแพลตฟอร์ม E-Commerce ก็คือจะมีการจำหน่ายสินค้าก่อนเข้าร้าน 1-2 อาทิตย์ ซึ่งเหมาะกับกลุ่มนักช้อปที่ต้องการของใหม่ก่อนใครเพื่อน แถมกลุ่มลูกค้าในต่างจังหวัดก็ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางมากรุงเทพฯ อีกต่อไป ซึ่งหากคุณอยู่เชียงใหม่ ขอนแก่น พระนครศรีอยุธยา สุโขทัย หรือหาดใหญ่ คุณก็สามารถเป็นเจ้าของกระเป๋ารุ่นใหม่ดีไซน์โดย Nicolas Ghesquière หรือ Virgil Abloh ภายในไม่กี่วัน และสามารถถือไปคาเฟ่ในจังหวัดของคุณตามภาษาอินฟลูเอนเซอร์ตัวจริง
เชื่อได้ว่าการที่ Louis Vuitton ได้ก้าวมาเป็นผู้นำด้านการทำแพลตฟอร์ม E-Commerce ของตัวเอง แบรนด์ลักชัวรีเจ้าอื่นๆ ในประเทศไทยคงกำลังรีบศึกษาและเริ่มมองหาโอกาสเช่นกัน โดยเมื่อ 2 ปีก่อนทาง Louis Vuitton ได้เริ่มสร้างรากฐานการทำ Omnichannel ของตัวเองแบบ Localization ภายในประเทศ ด้วยการเปิด LINE Official Account ของตัวเอง ซึ่งขณะนี้มีคนตามมากกว่า 276,000 คน และเมื่อช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาก็ได้เปิดตัว LINE Stickers แอนิเมชันพิเศษ ซึ่งก็เข้ากับบริบทไลฟ์สไตล์คนไทยได้อย่างดี ทำให้แบรนด์ดูมีความเข้าถึงได้ โดยพอทางแบรนด์เริ่มทำเว็บไซต์ E-Commerce ก็มีการฟีดคอนเทนต์สินค้าใหม่อยู่เป็นประจำผ่าน LINE Official Account เพื่อให้คนสามารถกดเข้าไปซื้อได้ง่ายๆ แถมถ้ามีปัญหาอะไรคุณก็สามารถแชตกับทาง Client Service ไม่ต้องเสียเวลาโทรหาหรือส่งอีเมล
แม้โปรเจกต์เว็บไซต์ E-Commerce ของ Louis Vuitton จะมีการวางแผนตั้งแต่ก่อนที่โลกจะเข้าสู่โหมดล็อกดาวน์ แต่ก็ดูเหมือนเปิดตัวในเวลาที่เหมาะสม เพราะหนึ่งในบทเรียนสำคัญของวิกฤตโควิด-19 สำหรับแบรนด์ลักชัวรีก็คือการทำให้เห็นว่าแบรนด์จะยังคงยึดติดการขายสินค้าผ่านร้านค้าอย่างเดียวไม่ได้อีกต่อไป เพราะเราไม่รู้ว่าในอีกเดือน สองเดือน หรือสองปีจะเกิดอะไรขึ้นอีก ซึ่งแบรนด์จะมาตกอยู่ในสภาวะต้องปิดร้านทุกสาขา และไม่มีช่องทางอื่นๆ ในการขายสินค้าก็เป็นสิ่งที่น่ากลัว แถมพอคนเริ่มชอบการช้อปปิ้งออนไลน์มากขึ้น เพราะด้วยสถานการณ์ช่วงโควิด-19 บีบบังคับ ต่อไปเว็บไซต์ E-Commerce นี้แหละจะเป็นตัวแปรสำคัญ ที่จะมองข้ามหรือไม่สนใจคงไม่ได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- Hermès เปิดตัวเว็บไซต์ E-Commerce ของตัวเองในประเทศไทย พร้อมจัดส่งสินค้าให้ถึงบ้านลูกค้า
- รู้จัก ‘MercadoLibre’ หรือแพลตฟอร์ม MELI อีคอมเมิร์ซครบวงจรเบอร์ 1 ในแถบลาตินอเมริกา เจ้าของฉายา ‘Amazon’ แห่งทวีปอเมริกาใต้
- ยังไม่หมดหวังกับแดนมังกร! ‘เถ้าแก่น้อย’ ตั้งตัวแทนจำหน่ายเพิ่ม 1 ราย บุก Traditional Trade และ E-Commerce เล็งเพิ่มสินค้าเข้าไปขายอีก 10 รายการ
ภาพ: Louis Vuitton
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์