เกิดความไม่แน่นอนทางการเมืองและคำถามขึ้นต่างๆ นานา ว่าการเลือกตั้งสหรัฐฯ จะจัดตามกำหนดการเดิมได้ต่อไปหรือไม่ หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยืนยันในวันศุกร์ (2 ตุลาคม) ที่ผ่านมาว่า ตัวเขาและเมลาเนีย ทรัมป์ ภริยาและสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งมีผลตรวจโควิด-19 เป็นบวก ซึ่งทำให้หลายฝ่ายต้องการทราบความชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางที่มีอยู่ และอาจนำมาใช้ในกรณีที่เกิดสถานการณ์ต่างๆ ขึ้นกับประธานาธิบดี ในขณะที่สหรัฐฯ เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 3 พฤศจิกายนนี้
เกิดอะไรขึ้น?
ประธานาธิบดีวัย 74 ปี ซึ่งเข้ารับการตรวจโควิด-19 เป็นประจำ เปิดเผยผ่านทวิตเตอร์ว่า ตัวเขาและสตรีหมายเลขหนึ่งได้เริ่มกระบวนการกักตัวและรักษาตัวที่ทำเนียบขาว ก่อนที่ในเวลาต่อมา ทรัมป์จะเดินทางไปรักษาที่โรงพยาบาลทหารแห่งชาติวอลเตอร์ รีด ในรัฐแมริแลนด์
การติดโควิด-19 ของทรัมป์ทำให้มีความเป็นไปได้ว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่นๆ ของรัฐบาลสหรัฐฯ อาจสัมผัสเชื้อไวรัส และอาจจำเป็นต้องกักตัวเช่นกัน
นพ.ฌอน คอนลีย์ แพทย์ประจำทำเนียบขาว กล่าวในแถลงการณ์ว่า ประธานาธิบดีและสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งยังสบายดีในขณะนี้ และยืนยันว่าประธานาธิบดีจะยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ในระหว่างพักฟื้น
ช่วงบ่ายวันศุกร์ (2 ตุลาคม) ทำเนียบขาวออกแถลงการณ์ตามมาว่า ทรัมป์และภริยามีอาการป่วยเล็กน้อย ทั้งคู่อ่อนเพลีย แต่ยังมีกำลังใจดี การตัดสินใจส่งทรัมป์ไปโรงพยาบาลเป็นมาตรการป้องกันในเบื้องต้น
จะเกิดอะไรต่อไป
ในบทวิจัยที่เผยแพร่เมื่อต้นปีนี้ จอห์น ฮูแด็ก นักวิชาการอาวุโสและรองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการประสิทธิภาพภาครัฐแห่งสถาบันบรูกกิงส์ ได้จำลองสถานการณ์ ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อ ‘ปกป้องประธานาธิบดี บูรณภาพในการปฏิบัติหน้าที่ และความต่อเนื่องของรัฐบาล’ ในกรณีที่มีการตรวจพบว่าติดโควิด-19
ฮูแด็กกล่าวว่า การปฏิบัติการฉุกเฉินอาจไม่จำเป็น เพราะประธานาธิบดีทรัมป์น่าจะยังคงสามารถปฏิบัติภารกิจประจำวันและบริหารงานต่อไปได้ โดยอาจทำทุกอย่างได้ตามปกติ หรืออาจติดขัดเล็กน้อย
อย่างไรก็ตาม เขาคาดว่าการติดโควิด-19 อาจสร้างความท้าทายบางประการให้กับผู้ที่อยู่ใกล้ชิดประธาธิบดี “ความจำเป็นที่ต้องมีหน่วยอารักขาตลอด 24 ชั่วโมง อาจทำให้เจ้าหน้าที่คุ้มกันเสี่ยงสัมผัสเชื้อได้ แต่เนื่องจากเทคโนโลยีในปัจจุบันนั้นทันสมัย ประธานาธิบดีสามารถกักตัว และติดต่อกับผู้ช่วยทุกคน หรือเกือบทุกคน ผ่านระบบทางไกลได้ ซึ่งรวมถึงบุคคลที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการแถลงข่าวประจำวันของประธานาธิบดี” ฮูแด็ก กล่าว
การติดโควิด-19 ของทรัมป์ถือเป็นสัญญาณเตือนว่าจำเป็นต้องนำมาตรการป้องกันอื่นๆ มาใช้กับผู้ที่อยู่ในลำดับการสืบทอดประธานาธิบดี เพื่อลดโอกาสที่พวกเขาเหล่านั้นจะสัมผัสและติดเชื้อไวรัส
ฮูแด็กอธิบายว่า ไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดี, แนนซี เปโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎร และ ส.ว. ชัค แกรสส์ลีย์ (วุฒิสมาชิกที่มีตำแหน่งอาวุโสสูงสุดในวุฒิสภา หรือ President Pro Tempore ซึ่งทำให้เขาเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดีลำดับที่ 3) ตลอดจนสมาชิกทุกคนในคณะรัฐมนตรี จะต้องแยกตัวออกห่างจากประธานาธิบดี
ฮูแด็กกล่าวว่า เป็นเรื่องสำคัญสำหรับประธานาธิบดี “ที่จะต้องสื่อสารกับประชาชนชาวอเมริกันต่อไป โดยเฉพาะหากเขามีอาการไม่รุนแรงหรือไม่มีอาการ” พร้อมกับเสริมว่า “การได้เห็นประธานาธิบดีผ่านทางหน้าจอ สามารถฟื้นคืนความเชื่อมั่นเกี่ยวกับสุขภาพของประธานาธิบดี คลายกังวลให้กับชาวอเมริกัน ทำให้ตลาดหุ้นมีเสถียรภาพ และบอกกับโลกว่า ประธานาธิบดียังคงสบายดี และปฏิบัติงานในตำแหน่งต่อไปได้”
ที่ผ่านมา การตอบสนองของทรัมป์ต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง แต่ผู้นำสหรัฐฯ ก็ยังกล่าวชื่นชมการบริหารจัดการวิกฤตสาธารณสุขของตนเองอยู่บ่อยครั้ง ยกตัวอย่างในการหาเสียงเลือกตั้งที่รัฐโอไฮโอเมื่อช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทรัมป์กล่าวอ้างว่าโรคโควิด-19 “แทบไม่ส่งผลกระทบกับใครเลย”
จากข้อมูลที่รวบรวมโดยมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ระบุว่า จนถึงขณะนี้ สหรัฐฯ มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมมากกว่า 7.27 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิต 207,808 คน
การเลือกตั้งจะถูกเลื่อนออกไปหรือไม่
เมื่อต้นปีนี้ ริชาร์ด พิลดิส อาจารย์วิชากฎหมายจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก กล่าวกับ Washington Post ว่า คณะกรรมาธิการแห่งชาติพรรครีพับลิกัน (Republican National Committee) ควรเข้ามาควบคุม หากทรัมป์ไม่สามารถทำหน้าที่เป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันได้ต่อไปในช่วงก่อนการเลือกตั้ง
พิลดิส กล่าวว่า หากทรัมป์ หรือโจ ไบเดน ตัวแทนชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครตเสียชีวิต แต่ละพรรคจำเป็นจะต้องหาชื่อตัวแทนใหม่เพื่อมาแทนชื่อตัวแทนในบัตรเลือกตั้งของแต่ละรัฐ
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากชาวอเมริกันหลายล้านคนได้ลงคะแนนเสียงไปแล้ว จึงไม่แน่ใจว่าวิธีการนี้จะเป็นทางออกที่ได้ผลหรือไม่
ณ จุดนี้ “ดูเหมือนว่าจะเป็นไปไม่ได้ที่ทางพรรคจะได้ตัวแทนคนใหม่เพื่อมาแทนที่ชื่อในบัตรลงคะแนน โดยที่ไม่ต้องเริ่มกระบวนการเลือกตั้งใหม่ทั้งหมด ซึ่งก็เป็นไปไม่ได้อีกเช่นกันในขณะที่เหลือเวลาอีกเพียงเดือนเศษก่อนวันเลือกตั้ง” ริก เฮเซน อาจารย์กฎหมายจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย โพสต์ข้อความบนบล็อก เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา
เฮเซนกล่าวว่า เขาไม่เชื่อว่าสภาคองเกรสจะผ่านร่างกฎหมายเพื่อเลื่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดี แต่ก็ยอมรับว่ามีความเป็นไปได้อยู่กรณีหนึ่ง นั่นคือ หากหนึ่งในผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีกลายเป็นบุคคลไร้ความสามารถ
“แม้อะไรๆ ยังไม่แน่นอน แต่สิ่งที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดคือ การเลือกตั้งจะต้องเกิดขึ้นตามกำหนด โดยที่ชื่อของตัวแทนที่ไร้ความสามารถหรือเสียชีวิตปรากฏอยู่บนบัตรลงคะแนน และจากนั้นอาจมีคำถามว่า สภานิติบัญญัติจะอนุญาตให้ผู้เลือกตั้ง (Elector) ประธานาธิบดีในแต่ละรัฐโหวตให้กับคนอื่นแทนตัวแทนที่เสียชีวิตหรือไม่” เฮเซน กล่าว
เหตุการณ์ที่เป็นไปได้ หากประธานาธิบดีป่วยหนัก
ทรัมป์ไม่ใช่ผู้นำประเทศคนแรกที่ติดโควิด-19 โดยก่อนหน้านี้ บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ วัย 56 ปี และประธานาธิบดีฌาอีร์ โบลโซนารู วัย 65 ปี ของบราซิล เคยติดโควิด-19 กันมาแล้ว
ในรายของจอห์นสันมีอาการป่วยอย่างหนักหลังผลตรวจโควิด-19 ออกมาเป็นบวก และต้องพักรักษาตัวอยู่ในหออภิบาลผู้ป่วยหนัก หรือห้องไอซียู อยู่นาน 3 คืนเมื่อช่วงเดือนเมษายน ซึ่งในขณะนั้น โดมินิก ราบบ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ปฏิบัติหน้าที่รักษาการแทนนายกรัฐมนตรีจอห์นสัน
ฮูแด็กจากสถาบันบรูกกิงส์ กล่าวว่า ทรัมป์อาจได้รับการดูแลรักษาอย่างดีที่สุด และเข้าถึงวิธีการรักษาที่ใหม่ที่สุด แต่ด้วยอายุของเขา ประกอบกับความอ้วน จึงทำให้เขามีความเสี่ยงสูงกว่าที่จะมีอาการรุนแรงมากกว่า
“หากโชคไม่ดี ประธานาธิบดีติดโควิด-19 และจำเป็นต้องใช้วิธีการรักษา เช่น ใส่เครื่องช่วยหายใจ และ/หรือวิธีการรักษาอื่นๆ ที่อาจส่งผลต่อความสามารถทางสติปัญญา และ/หรือความสามารถในการสื่อสาร ก็มีแนวทางในการรับมือกับสถานการณ์นั้น” ฮูแด็ก กล่าว
โดยหากทรัมป์ต้องใช้วิธีการรักษาที่อาจทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่บริหารประเทศได้ตามปกติ ก็มีความเป็นไปได้ที่ประธานาธิบดีจะอ้างมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 25
การดำเนินการดังกล่าวจะเปิดทางให้รองประธานาธิบดีทำหน้าที่เป็นประธานาธิบดีรักษาการไปจนกว่าประธานาธิบดีจะแจ้งต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ว่าสามารถกลับมาปฏิบัติหน้าที่ได้อีกครั้ง
ในอดีต ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ก็เคยใช้มาตรา 3 มาแล้วเมื่อปี 1985 และประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช เคยอ้างมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญ 2 ครั้งในปี 2002 และ 2007
สำหรับในกรณีที่อาการของทรัมป์ทรุดลงอย่างรวดเร็ว จนทำให้เป็นไปไม่ได้ที่จะอ้างมาตรา 3 นั้น ฮูแด็กกล่าวว่า มาตรา 4 ของฉบับแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 25 ได้ให้ทางออกของวิกฤตดังกล่าวไว้
ในกรณีนี้ รองประธานาธิบดี และรัฐมนตรีส่วนใหญ่ในคณะรัฐมนตรี จะส่งหนังสือแจ้งไปยังสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาว่า ประธานาธิบดีไม่สามารถใช้อำนาจและปฏิบัติหน้าที่ได้ และเช่นกัน สถานการณ์นี้จะทำให้รองประธานาธิบดีรับบทบาทประธานาธิบดีรักษาการไปจนกว่าประธานาธิบดีจะหายป่วย
“แม้การที่ประธานาธิบดีไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ จะเป็นสถานการณ์ร้ายแรงของประเทศ แต่รัฐบาลจะยังสามารถทำงานได้ตามปกติเป็นส่วนใหญ่ ไปจนกว่าประธานาธิบดีจะหายป่วย” ฮูแด็กกล่าว
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: