วันนี้ (2 ตุลาคม) สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีที่มีการเผยแพร่ภาพพนักงานมิตซูบิชิในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้กอดคออำลาครั้งสุดท้าย เนื่องจากบริษัทเสนอโครงการสมัครใจลาออก โดยสุชาติกล่าวว่าจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี ได้ติดตามสถานการณ์กรณีบริษัท มิตซูบิชิ เอลเลเวเตอร์ เอเซีย จำกัด จังหวัดชลบุรี มีการปรับลดจำนวนลูกจ้าง โดยมีโครงการให้ลูกจ้างสมัครใจลาออกและจ่ายเงินช่วยเหลือพิเศษเท่ากับค่าชดเชยตามกฎหมายและเงินเพิ่มพิเศษมากกว่าที่กฎหมายกำหนด มีผลเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2563
สุชาติกล่าวต่อว่า ข้อเท็จจริงสรุปได้ว่าปัจจุบันบริษัทตั้งอยู่เลขที่ 700/86 ภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี หมู่ที่ 6 ตำบลดอนหัวฬ่อ อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี เป็นสถานประกอบกิจการผลิต ประกอบ ติดตั้งลิฟต์และบันไดเลื่อน มีลูกจ้างจำนวนประมาณ 2,400 คน สาเหตุที่บริษัทมีการปรับลดจำนวนลูกจ้าง เนื่องจากมีคำสั่งซื้อลดลงจากผลกระทบโควิด-19 โดยมีประกาศโครงการให้ลูกจ้างสมัครใจลาออก โดยจ่ายเงินช่วยเหลือพิเศษเท่ากับค่าชดเชยตามกฎหมายและเงินเพิ่มพิเศษมากกว่ากฎหมายกำหนด โดยต่ำสุดที่ได้รับคนละ 16 เดือน สูงสุดได้รับคนละ 37 เดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 มีลูกจ้างสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการจำนวน 970 คน เกินกว่าเป้าหมายที่บริษัทอนุมัติให้สมัครใจลาออกจำนวน 686 คน ซึ่งบริษัทได้จ่ายเงินค่าช่วยเหลือพิเศษและเงินเพิ่มพิเศษให้กับลูกจ้างแล้วจำนวนประมาณ 560 ล้านบาท จะเห็นได้ว่าสาเหตุที่พนักงานสมัครใจลาออกเป็นจำนวนมาก เนื่องจากบริษัทจ่ายค่าชดเชยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดเป็นแรงจูงใจ
สุชาติยังกล่าวถึงกรณีมีข่าวปรากฏในสื่อต่างๆ ว่าบริษัทพานาโซนิคย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเวียดนามนั้น จากการตรวจสอบกรณีดังกล่าวพบว่าปัจจุบันบริษัทพานาโซนิคได้ย้ายฐานการผลิตไปแค่เครื่องซักผ้ากับตู้เย็นเพื่อเพิ่มความคุ้มค่าทางธุรกิจเท่านั้น เนื่องจากเวียดนามมีค่าแรงถูกกว่าไทย ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองที่สงบนิ่ง
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกลุ่มบริษัทพานาโซนิคยังมีโรงงานอยู่ในประเทศไทยอีก 18 โรงงาน และยังมีการใช้แรงงานกว่า 10,000 คน โดยมีผลิตภัณฑ์หลักๆ เช่น เครื่องเสียง โทรทัศน์ แผ่นพิมพ์วงจรไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แบตเตอรี่ ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดยังคงเดินสายการผลิตที่ประเทศไทยอยู่
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์