×

Don Quijote กับแผนการขุดขุมทรัพย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีเป้าหมายรายได้ 1 ล้านล้านเยนในปี 2030

28.09.2020
  • LOADING...

ตรงข้ามกับห้างสรรพสินค้าอิเซตัน ประเทศไทย ที่เพิ่งปิดตัวลงหลังดำเนินธุรกิจมาเกือบ 3 ทศวรรษในย่านใจกลางกรุงเป็นที่ตั้งของ Don Don Donki ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ของ Don Quijote ยักษ์ใหญ่ด้านดิสเคาน์สโตร์ของแดนซามูไรที่กำลังคึกคักไปด้วยลูกค้าคนไทยที่เข้ามาจับจ่ายใช้สอย

 

บทความจาก Nikkei Asian Review รายงานว่าขณะที่คู่แข่งในห้างสรรพสินค้าของญี่ปุ่นหลายรายไม่ได้รับความนิยมจากความต้องการในท้องถิ่นเท่าไรนัก ทว่า Don Quijote ก็เตรียมที่จะขยายธุรกิจ ไม่เพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้น

 

หลังจากดำเนินธุรกิจมา 28 ปี ห้างสรรพสินค้าอิเซตัน ประเทศไทย ก็ปิดตัวลงในวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา Isetan Mitsukoshi Holdings ตัดสินใจปิดฉากห้างสรรพสินค้าที่มีด้วยกันถึง 6 ชั้น เนื่องจากยอดใช้จ่ายของลูกค้าที่ลดลง สำหรับปีงบประมาณที่สิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม ยอดขายที่ร้านลดลง 7% สู่ระดับ 4.42 พันล้านเยน หรือประมาณ 1,326 ล้านบาท ทำให้ขาดทุนสุทธิ 752 ล้านเยน หรือ 226 ล้านบาท 

 

ธุรกิจห้างสรรพสินค้ากำลังตกอยู่ในที่นั่งลำบากในทำนองเดียวกันทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อิเซตันพลิกขาดทุนสุทธิในสิงคโปร์ 2 ปีติดต่อกันจนถึงปีงบประมาณ 2019 ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา Isetan เพิ่งปิดสาขาในย่านจูร่งไป ขณะที่ Takashimaya คู่แข่งบนสังเวียนห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่นก็กำลังสูญเสียเงินให้กับธุรกิจในไทยและเวียดนาม ซึ่งปีที่แล้วห้างสรรพสินค้าโตคิวก็เพิ่งปิดสาขาที่อยู่ชานเมืองกรุงเทพฯ ไป 

 

ห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่นได้เร่งรีบขยายธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ช่วงปี 1980 เวลานั้นสุภาษิตที่มักหยิบขึ้นมาพูดคือ ‘สินค้ามีคุณภาพสามารถขายได้โดยไม่คำนึงถึงราคา’ แต่ตรรกะนั้นใช้ไม่ได้จริงอีกต่อไปในเวลานี้ 

 

ตัวอย่างเช่น ห้างอิเซตันในกรุงเทพฯ ที่เคยขายเครื่องแต่งกายที่มีราคาสูงกว่าในญี่ปุ่น 2-3 เท่า ทว่าราคาเสื้อผ้านั้น “ไม่สามารถเข้าถึงได้มากสำหรับชนชั้นกลางไทย และพวกเขายังมุ่งเน้นที่กลุ่มลูกค้าร่ำรวยมากเกินไป” แหล่งข่าวกล่าวกับ Nikkei Asian Review 

 

แต่ Don Quijote ได้หลีกเลี่ยงความผิดพลาดนั้น ตัวอย่างเช่น ร้าน Don Don Donki ในกรุงเทพฯ มีสินค้าที่แน่นขนัดไม่ต่างกับ Don Quijote ดั้งเดิม โดยสินค้าส่วนใหญ่มีราคาสูงกว่าที่ญี่ปุ่นประมาณ 50% เท่านั้น 

 

Don Don Donki ดำเนินการโดย Pan Pacific International Holdings ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Don Quijote ได้วางแผนให้ Don Don Donki เป็นตัวเลือกสำหรับการขยายตัวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร้านแรกที่เปิดตัวในสิงคโปร์ในเดือนธันวาคม ปี 2017 ตอนนี้มีทั้งหมด 8 สาขาที่กระจายตัวอยู่

 

Pan Pacific วางแผนที่จะใช้ธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นจุดเริ่มต้นในการเพิ่มรายได้จากต่างประเทศเป็น 1 ล้านล้านเยน หรือราว 3 แสนล้านบาท สำหรับปีงบประมาณที่สิ้นสุดในเดือนมิถุนายน 2030 เพิ่มขึ้นจาก 1.151 แสนล้านเยน หรือ 3.45 แสนล้านบาทจากปีงบประมาณล่าสุด

 

กลยุทธ์การขยายธุรกิจในต่างประเทศไม่ได้ต่างจากที่ธุรกิจห้างสรรพสินค้าใช้ แต่มีปัจจัยบางอย่างทำให้ Don Quijote ได้เปรียบกว่า

 

สิ่งสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงรสนิยมไปสู่สินค้าที่มีราคาต่ำกว่าสำหรับผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่าชนชั้นกลางจะขยายตัวในภูมิภาคนี้ แต่การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้พวกเขาต้องรัดเข็มขัด ซึ่งไม่เหมือนกับญี่ปุ่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นที่อยู่อาศัยของประชากรวัยหนุ่มสาว ครึ่งหนึ่งของผู้อยู่อาศัยในภูมิภาคนี้ในปีที่แล้วมีอายุน้อยกว่า 30 ปี ตามการประมาณการของสหประชาชาติ สภาพตลาดเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อห้างสรรพสินค้าที่ขายสินค้าราคาแพง 

 

เพราะ “แม้ว่าสินค้าญี่ปุ่นจะมีภาพลักษณ์ที่ดี แต่ความต้องการของราคาที่ลดลงก็ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นในหมู่ผู้บริโภคท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ” Shining Consult ซึ่งได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับอุตสาหกรรมค้าปลีกระบุ ซึ่งจุดนี้ Don Quijote ได้เปรียบตรงที่มีภาพลักษณ์ของการเป็นร้านสินค้าลดราคาอยู่แล้ว

 

สำหรับ Don Quijote ยังได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างรวดเร็วของญี่ปุ่น และเนื่องจาก “พวกเขาไม่สามารถเดินทาง (ไปญี่ปุ่น) ได้เนื่องจากโควิด-19 ดูเหมือนว่าจะมีลูกค้าจำนวนมากไปที่ร้านค้าในท้องถิ่นเพื่อสัมผัสความเป็นญี่ปุ่น” นักเศรษฐศาสตร์ไทยกล่าว

 

ขณะเดียวกันถึง Don Quijote จะมีจุดแข็งตรงที่มีการจัดร้านที่ไม่เหมือนใครและมีแฟนๆ มากมายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่บนสมรภูมิค้าปลีก Don Quijote ยังคงต้องเจอกับคู่แข่งยักษ์ใหญ่จากห้างสรรพสินค้าที่ต่างพยายามชูจุดเด่น ‘มอบประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใคร’ 

 

ตัวอย่างเช่น กลุ่มเซ็นทรัลมีแผนจะเปิดห้างสรรพสินค้าในประเทศไทยปีละ 2-5 แห่ง ขณะที่ห้างสรรพสินค้า Aeon ของญี่ปุ่นตั้งเป้าสร้าง 16 แห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงแห่งแรกในเมียนมาด้วย

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X