×

บัญญัติชี้ รัฐธรรมนูญเป็นแม่บทต่อชีวิตประชาชนทุกด้าน เมื่อสำคัญจึงจำเป็นต้องแก้และใช้งบทำประชามติ

โดย THE STANDARD TEAM
23.09.2020
  • LOADING...

วันนี้ (23 กันยายน) บัญญัติ บรรทัดฐาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะสมาชิกรัฐสภา ได้อภิปรายในญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ตลอดช่วงระยะเวลา 6 ชั่วโมงกว่าๆ นับตั้งแต่เมื่อเช้าวันนี้มาจนกระทั่งถึงบัดนี้ หลังจากที่ได้มานั่งฟังการอภิปรายของสมาชิกผู้มีเกียรติ ทั้งที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และทั้งที่เป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เข้าใจว่ายังคงพอจับประเด็นได้ว่า ส่วนใหญ่ก็ยังคงวนเวียนอยู่ใน 2-3 ประเด็นเท่านั้น 

 

ประเด็นที่ 1 ก็คือความจำเป็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในคราวนี้ จำเป็นมากน้อยประการใดอย่างไร

 

ประการที่ 2 เมื่อจำเป็นแล้ว การแก้ไขควรจะใช้วิธีอย่างไร และดูจะมีการตั้งโจทย์สำหรับการแก้ไขเพิ่มเติมในลักษณะของการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ คือการตั้ง สสร. เป็นอันมากอยู่ไม่น้อย

 

และประการสุดท้าย เข้าใจว่าหลายท่านก็ดูจะมีข้อกังวลทำนองเดียวกับสมาชิกวุฒิสภาจากสุพรรณบุรีเมื่อสักครู่ คือกังวลเรื่องเงินงบประมาณแผ่นดินที่จะต้องใช้ในการจัดทำประชามติ นับจำนวนเป็นหมื่นๆ ล้าน ท่านว่าของท่านถึงขนาดนั้น

 

สำหรับเหตุผลในความจำเป็นในการที่จะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเข้าใจว่า ถ้าท่านที่สนใจการเมือง จะได้สดับตรับฟังมาโดยตลอดแล้วก็จะพบความจริงว่า ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นมาเมื่อ 2-3 วันนี้เท่านั้น ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นมาในระยะเวลาที่บ้านเมืองกำลังตกทุกข์ได้ยาก อยู่ในวังวนของการระบาดของโควิด-19 แต่ได้มีการพูดถึงเรื่องนี้มาเป็นระยะเวลาที่ค่อนข้างจะยาวนานมาแล้วตามสมควร จะเรียกว่าในเวลาตั้งแต่มีการตั้งรัฐบาลนี้ใหม่ๆ ก็เห็นจะกล่าวเช่นนั้นได้ และคงจะด้วยเหตุอันนี้กระมัง ถึงได้มีปรากฏในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล 12 ข้อ โดยกำหนดไว้ข้อหนึ่งว่า จะต้องจัดดำเนินการให้มีการศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

 

มาปรากฏชัดเจนอีกครั้งหนึ่งเมื่อประมาณต้นปี 2562 ในเวลาที่สภาผู้แทนราษฎรของเราได้จัดดำเนินการให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาคณะหนึ่ง เพื่อดำเนินการพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์ วิธีการ และแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตรงนั้นก็ชัดเจนมาก หลายๆ ครั้งในเวลาที่เริ่มมีความขัดแย้งในเรื่องการเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหลายๆ ครั้งที่มีการชุมนุมเรียกร้องในประเด็นดังกล่าวนี้ และในช่วงเวลานั้นสำนักโพลหลายสำนักก็มักจะดำเนินการให้มีการทำโพล หยั่งเสียง หยั่งความรู้สึกของประชาชน 

 

สำหรับคนที่สนใจการเมืองมาโดยตลอดนั้นคงจะพบความจริงว่า คำตอบจากโพลหลายๆ สำนัก ทุกครั้งที่มีข้อเรียกร้องและมีความขัดแย้งในเรื่องนี้ ดูส่วนใหญ่จะเห็นด้วยกันทั้งสิ้นว่า ความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นมีอย่างแน่นอน แต่จะมากน้อยขนาดไหนอย่างไร จะด้วยวิธีการอย่างไร นั่นก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง 

 

และที่ชัดเจนมากที่สุด เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2563 ที่เพิ่งผ่านมาหยกๆ นี้ ในเวลาที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์ วิธีการ และแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นำเอารายงานที่ได้ไปพิจารณาศึกษามารายงานต่อสภาผู้แทนราษฎร ที่ชัดเจนมากที่สุดก็คือรายงานของอนุกรรมาธิการประชาสัมพันธ์ และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งได้เดินทางรอนแรมไปทำการรับฟังความคิดเห็นของผู้คนหลายต่อหลายกลุ่มด้วยกัน ที่เรียกเป็นภาษาฝรั่งว่า Focus Group คือเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ควรจะได้รับฟัง แล้วดูในกลุ่มเป้าหมายที่ไปรับฟังมาในเวลานั้น ดูจะมีส่วนหนึ่งของการชุมนุมที่เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่วันนี้มาด้วย 

 

“ผลจากการรับฟังของคณะอนุกรรมการที่ได้กล่าวถึงมาแล้วนั้นปรากฏชัดเจนว่าทุกกลุ่มต่างมีเสียงเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยกันทั้งสิ้น เกือบจะทุกหมวดเสียด้วยซ้ำไป อาจจะมียกเว้นบ้างในหมวด 1 หรือหมวด 2 ดังเป็นที่รับทราบกันอยู่เท่านั้นเอง มีการพูดถึงความจำเป็นที่จะต้องให้จัดดำเนินการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหลายประเด็นด้วยกัน ในหลายบท หลายมาตรา จนทำให้เกิดความรู้สึกทีเดียวว่า ถ้าหากจะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวนี้เป็นลักษณะเป็นรายบท รายมาตรา ดังที่ได้มีการเสนอในสภาฯ นี้ จากหลายต่อหลายท่านในวันนี้ คงจะไม่สามารถทำกันอย่างหวาดอย่างไหวอย่างแน่นอน เพราะมันมีมากมาย จะเรียกว่าหลายสิบมาตรา เกือบจะร้อยมาตรา คิดว่าคงจะสามารถกล่าวเช่นนั้นได้” บัญญัติกล่าว

 

บัญญัติกล่าวด้วยว่า นี่เป็นสิ่งที่ปรากฏในรายงานของคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางและหลักเกณฑ์วิธีการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในคณะกรรมาธิการเอง เดิมทีเดียวก็ดูจะมีการตั้งข้อสังเกตในลักษณะที่จะจัดทำเกือบหมดใหม่ทั้งร่างอย่างที่ว่านี้เช่นเดียวกัน แต่เข้าใจว่าท้ายสุดก็คงจนด้วยปัญญา เมื่อเห็นเสียงเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นมันมีมาก นับตั้งแต่การแก้ไขยากเหลือเกินของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ นับตั้งแต่สิทธิประโยชน์อันพึงมีพึงได้ของประชาชนที่ลดน้อยถอยลงไปกว่ารัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ เป็นอันมาก ทั้งในเรื่องของกระจายอำนาจ ซึ่งแทนที่จะเป็นเรื่องกระจายอำนาจ ดูจะเป็นเรื่องการรวมศูนย์อำนาจเสียมากกว่า และท้ายสุด แน่นอนการพูดถึงที่ไปที่มาของสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ 2560 นั้นก็ดูจะมีการกล่าวขวัญและเรียกร้องให้มีการแก้ไขมากกันอยู่ไม่น้อย

 

เข้าใจว่านี่คือที่มาที่เป็นประเด็นที่ 2 ที่ว่าทำไมถึงควรจัดดำเนินการให้มีการแก้ไขในลักษณะของการแต่งตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา เพราะนอกเหนือจากการที่จะได้มีโอกาสรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพิ่มเติมในการจัดทำรัฐธรรมนูญในส่วนที่อยากจะแก้ไขเพิ่มเติม โอกาสที่จะดึงเอาผู้คนหลากหลายสาขาเข้ามามีบทบาทร่วมด้วย จึงคิดว่าตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่สำคัญมากและเรียกร้องกันมาโดยตลอด

 

บัญญัติกล่าวต่อไปอีกว่า วันนี้มีท่านสมาชิกวุฒิสภาหลายต่อหลายท่านเริ่มตั้งข้อสังเกตว่า มันเป็นไปได้หรือ มันไม่ขัดรัฐธรรมนูญหรือ ถึงขนาดไปไกลถึงขนาดว่า เป็นการพิฆาตตัวแม่ คือตัวรัฐธรรมนูญไม่ใช่หรือ แล้วจำเป็นต้องทำประชามติอีกไหม ก็พูดถึงกันมาก ดังนั้นจึงเข้าใจว่าสำหรับหลายต่อหลายคนที่อยู่ในวงการเมืองนี้มายาวนานพอสมควร ก็คงจะพบความจริงว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ การจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นมาในลักษณะที่มีการแต่งตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาเพื่อจัดดำเนินการนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ ถ้าเราย้อนนึกถอยรอย ถอยหลังไปเมื่อปี 2539 ในเวลาที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในเวลานั้น โดยให้มีการเพิ่มหมวดใหม่ขึ้นมาหมวดหนึ่ง เพื่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับที่ว่านี้ก็ทำกันได้ ก็ยังไม่เห็นมีการโต้แย้งมีการเรียกร้องในเวลานั้นว่าทำได้โดยชอบโดยรัฐธรรมนูญหรือไม่ การจัดให้มีการแต่งตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญอย่างที่ว่า ภายหลังการแก้ไขเมื่อปี 2539 แล้ว หลายต่อหลายท่านคงจำได้ว่านั่นคือที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ซึ่งนอกเหนือจากจะไม่ได้มีใครกล่าวอ้างว่าเป็นการชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ กลับเป็นรัฐธรรมนูญที่ได้รับความชื่นชมเป็นอันมากว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดฉบับหนึ่งของประเทศไทย 

 

เข้าใจว่าจากจุดตรงนี้ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลส่วนหนึ่งหรือแม้กระทั่งพรรคฝ่ายค้าน ประกอบกับเสียงเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหลายบท หลายมาตรา มีมากมายเหลือเกินอย่างที่ได้กราบเรียนมาแล้ว จึงนำมาสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญในลักษณะที่ว่านี้ จะทำได้หรือไม่ได้ก็คงเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาดำเนินการกันต่อไป

 

“เรื่องจะต้องจัดทำประชามติหรือไม่ คิดว่าถ้าดูให้ดีแล้ว ในทันทีที่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ว่านี้ได้รับความเห็นชอบในหลักการในวาระที่ 1 มีการแก้ไขโดยคณะกรรมาธิการ และเมื่อผ่านวาระที่ 3 แล้ว ก่อนที่จะไปจัดดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มใหม่ ก็คิดว่าความจำเป็นที่จะต้องมีการจัดทำประชามติตามมาตรา 256 (8) ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็ต้องทำกันอยู่แล้ว ตรงนั้นจะเพียงพอหรือไม่อย่างไร คิดว่าก็คงจะต้องเป็นประเด็นที่จะต้องพิจารณากัน” บัญญัติกล่าว 

 

บัญญัติยังกล่าวอีกด้วยว่า เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง ด้วยเวลาที่ค่อนข้างจะมีจำกัด ก็คือเรื่องงบประมาณเพื่อการใช้จ่ายในการทำประชามติรัฐธรรมนูญ หลายท่านลุกขึ้นอภิปรายในทำนองว่า ต้องทำถึง 2 ครั้ง 3 ครั้ง ใช้เงินไปมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท ก็คิดว่าถ้าฟังในแง่ผิวเผินก็อาจจะมีความรู้สึกเช่นนั้น แต่ถ้าหันมาดูทางออกซึ่งอาจจะได้ช่วยกันคิด ค้นหา ในเวลาที่มีการปรับปรุงร่างฯ นี้ในชั้นคณะกรรมาธิการ ความจำเป็นที่จะต้องทำถึง 2 ครั้ง 3 ครั้งที่ว่านั้น ก็อาจจะไม่ต้องถึงขนาดนั้นก็ได้ แน่นอนเงินงบประมาณแผ่นดินในยามนี้ก็เป็นเงินงบประมาณแผ่นดินที่จำเป็นจะต้องระมัดระวังการใช้จ่าย ต้องสงวนไว้เพื่อแก้ปัญหาของประเทศ แต่ถ้าเรานึกถึงความสำคัญของรัฐธรรมนูญว่า ในฐานะที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เป็นกฎหมายที่กำหนดโครงสร้าง กำหนดความสัมพันธ์ กำหนดบทบาทอำนาจหน้าที่ ของสถาบันและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ ทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ถ้าเราคิดว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่มีการรับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและสิทธิประโยชน์ของประชาชน เป็นแม่บทในการกำหนดหลักการในการอำนวยความยุติธรรม ความเที่ยงธรรม ให้กับประชาชนในทุกด้าน ถ้าความสำคัญของรัฐธรรมนูญมีมากมายถึงขนาดนี้ ก็คิดว่าถ้าประเทศนี้จำเป็นจะต้องใช้จ่ายงบประมาณบางส่วนในจำนวนพอสมควร เพื่อการนี้ก็เป็นเรื่องที่ควรแก่การกระทำเป็นอย่างยิ่ง

 

ประเด็นสุดท้ายภายใต้เวลาจำกัดที่อยากขอเรียนไว้ในวันนี้ก็คือว่า จนมาถึงบัดนี้ก็มีความมั่นใจว่าใครก็ตามที่มีจิตใจเปิดกว้างทางการเมืองพอสมควร และสนใจติดตามการเมืองมาตลอด คงปฏิเสธไม่ได้เสียแล้วว่า เสียงเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นก็เป็นเรื่องใหญ่ และเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องกระทำเป็นอย่างยิ่ง ที่สำคัญก็คือว่า หลายข้อมีความบกพร่องอย่างเป็นที่ปรากฏชัดในเวลาที่มีการบังคับใช้ แล้วเราจะปล่อยให้ความบกพร่องที่ว่านี้ยังคงดำเนินอยู่ ทำให้หลายๆ ส่วนในภาคปฏิบัติของหลายภาคส่วนเป็นไปอย่างไม่สู้จะมีเหตุมีผล ที่สำคัญก็คือว่าก่อให้เกิดความขัดแย้งและความเสียหายร้ายแรงขึ้นในประเทศ ก็คิดว่าเราไม่ควรจะเพิกเฉยในหลักเช่นนี้ 

 

เข้าใจว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในลักษณะที่มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมานั้น น่าจะถือเป็นทางสายกลางที่หลายฝ่ายน่าจะยอมรับกันได้ นั่นก็หมายถึงว่าในส่วนของคนที่อยากให้มีการแก้ไขหลายบท หลายมาตรา ซึ่งทำเป็นหลายบท หลายมาตราไม่ไหว ก็อาจจะใช้เวทีของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นสถานที่รับไปดำเนินการต่อ ในส่วนของสมาชิกวุฒิสภาเองหรือแม้แต่ตัวรัฐบาลเองก็ยังมีเวลาที่จะตั้งหลักกันได้มากพอสมควรในอันที่จะได้ช่วยกันปรับปรุงรัฐธรรมนูญให้มีเหตุมีผลและมีความศักดิ์สิทธิ์คู่ควรแก่การจะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ก็เห็นว่าตรงนี้คือประเด็นใหญ่ที่สุด

 

“แต่ประเด็นที่สำคัญที่สุดก็คือว่า เมื่อสามารถจะดึงเอาหลายฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว แน่นอนความปรองดองก็คงจะไม่ใช่เรื่องง่ายดายมากนัก แต่ว่าอย่างน้อยบทบาทร่วมที่สามารถดำเนินการร่วมกันในลักษณะเช่นนี้ อาจจะนำไปสู่การลด การคลี่คลายความขัดแย้งที่มีอยู่ให้ลดน้อยถอยลงบ้าง แต่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดก็คือว่า โอกาสที่จะได้รัฐธรรมนูญที่มีหลักมีเกณฑ์คู่ควรแก่ความเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ก็คิดว่านั่นน่าจะเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาร่วมกัน จึงหวังใจเป็นอย่างยิ่งว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมในลักษณะของการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญนั้นคงจะได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากท่านสมาชิกผู้มีเกียรติแห่งสภานี้โดยทั่วกัน” บัญญัติกล่าวทิ้งท้ายในที่สุด

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X