KKP Research เกียรตินาคินภัทร เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยอ่อนแอมาตั้งแต่ก่อนโควิด-19 เมื่อเจอวิกฤตที่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวที่มีสัดส่วน 12% ของ GDP จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ยากและช้ากว่าประเทศอื่นๆ ทำให้ปี 2564 เศรษฐกิจไทยยังห่างจากการกลับเข้าสู่ระดับของกิจกรรมเศรษฐกิจก่อนโควิด-19 และอาจจะใช้เวลาประมาณ 3-4 ปีกว่าที่จะกลับเข้าสู่ระดับปกติ
“เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ยากและช้ากว่าประเทศอื่นๆ มากในภาวะที่การท่องเที่ยวยังไม่กลับมา หนึ่งในสัญญาณที่อาจสามารถสะท้อนให้เห็นทิศทางของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปได้บ้างคือ แนวโน้มการฟื้นตัวของตลาดหุ้นไทย ซึ่งเปรียบเทียบแล้วตลาดหุ้นไทยแทบไม่ฟื้นตัวเลยในขณะที่หุ้นในหลายประเทศฟื้นตัวกลับไปใกล้เคียงกับจุดก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 แล้ว”
ดังนั้น KKP Research ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของ GDP สำหรับปี 2564 จาก 5.2% เหลือ 3.4% สาเหตุหลักมากจากการท่องเที่ยวที่จะฟื้นตัวช้ากว่าเดิม โดยคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2564 เหลือ 6.4 ล้านคน จาก 17 ล้านคน ส่วนหนึ่งคาดว่านักท่องเที่ยวจะเริ่มกลับเข้ามาในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปี 2564 ซึ่งถือว่าต่ำกว่าระดับปกติก่อนโควิด-19 คือที่มีนักท่องเที่ยวราว 40 ล้านคนต่อปี
ในกรณีเลวร้ายที่ประเทศไทยอาจไม่สามารถเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวได้เลยในช่วงปี 2564 จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อทั้งการจ้างงานและการเลิกกิจการของบริษัทในวงกว้าง โดยหนี้เสียเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ฉุดการบริโภคและการลงทุนในประเทศและเป็นความเสี่ยงที่ทำให้เศรษฐกิจจะหดตัวลึกไปกว่าเดิม และอาจโตได้ในระดับ 0%-1% เท่านั้น
ส่วนปี 2564 การฟื้นตัวแตกต่างกัน โดยกลุ่มธุรกิจที่พึ่งพานักท่องเที่ยวสูงจะยังไม่สามารถฟื้นตัวได้มากนัก ขณะที่กลุ่มที่พึ่งพาการบริโภคในประเทศและการส่งออกเป็นหลัก เช่น การค้าปลีก ค้าส่ง เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และภาคการผลิต จะสามารถกลับมาขยายตัวได้บ้างตามการฟื้นตัวของการบริโภค ในขณะที่ภาคการก่อสร้างอาจฟื้นตัวจากโครงการลงทุนของภาครัฐ
อย่างไรก็ตาม สำหรับในปี 2563 คาดว่า GDP จะหดตัว 9% แม้ว่าการใช้จ่ายในประเทศ และการส่งออกยังฟื้นตัวบางส่วน แต่รายรับส่วนใหญ่ที่มาจากการท่องเที่ยวยังลดลงต่อเนื่องและฉุดการเติบโตเศรษฐกิจไทย
เมื่อดูข้อมูล GDP ไตรมาส 2 ปี 2563 ที่หดตัว 12.2% มากที่สุดตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ธุรกิจที่พักอาศัยและอาหาร (-50.2%), การเดินทาง (-38.9%), การผลิต (-14.4%) และการค้าปลีก (-9.8%) โดยธุรกิจที่รายได้มีการหดตัวลึกอยู่ในกลุ่มธุรกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยวสูง ภาคการผลิตที่มีการพึ่งพาการส่งออกสูง
ในขณะที่ธุรกิจที่ยังพอขยายตัวได้คือ การก่อสร้าง (+7.3%) บริการทางการเงิน (+1.7%) และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (+1.6%) ในส่วนของธุรกิจในกลุ่มการก่อสร้างได้รับประโยชน์จากการลงทุนภาครัฐที่เพิ่มขึ้นทำให้ยังพอขยายตัวได้
ทั้งนี้มองว่ามาตรการรัฐกระตุ้นท่องเที่ยว เช่น ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ ฯลฯ ยังส่งผลจำกัด เพราะกระจุกตัวในบางจังหวัดใกล้กรุงเทพฯ หลายพื้นที่ยังไม่ฟื้นตัว เมื่อพิจารณาระดับการพึ่งพาการท่องเที่ยวจะพบว่า จังหวัดที่มีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) อยู่ในระดับสูง (มากกว่า 50% ของ GPP) คือ ภูเก็ตและพังงา ยังคงมีอัตราการเข้าพักอยู่ในระดับต่ำภายหลังสิ้นสุดมาตรการปิดเมือง เฉลี่ยไม่ถึง 10% ในเดือนกรกฎาคม จากระดับปกติที่เกือบ 80% ในปี 2019
โดยรายได้จากนักท่องเที่ยวไทยยังคงไม่เพียงพอที่จะชดเชยรายได้ที่สูญไปจากการขาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยในปีที่ผ่านมารายได้จากนักท่องเที่ยวไทยคิดเป็นเพียง 1 ใน 3 ของรายได้จากนักท่องเที่ยวในประเทศทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม 3 ความเสี่ยงที่ต้องจับตา ได้แก่
1. ฐานะการเงินของธุรกิจได้รับผลกระทบรุนแรง ธุรกิจขนาดกลางและเล็กมีความเสี่ยงในการเลิกกิจการ หากสถานการณ์การปิดประเทศยังคงลากยาว
2. ผลกระทบต่อการว่างงานอาจรุนแรงขึ้นอีก KKP Research คาดว่าจำนวนการว่างงานอาจสูงถึง 5 ล้านคนหรือมากกว่านั้นได้ หากเศรษฐกิจเข้าสู่กรณีเลวร้ายที่นักท่องเที่ยวไม่สามารถกลับมาได้ในปีหน้า ปัญหาการขาดรายได้และการว่างงานเป็นวงกว้างเช่นนี้ไม่เพียงแต่จะกระทบต่อชีวิตผู้คน
3. มาตรการพักชำระหนี้แบบทั่วไปกำลังจะหมดลง จึงต้องจับตามองหนี้เสีย (NPL) ที่อาจจะเกิดขึ้น โดยสถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง จะทำให้ธนาคารไม่ปล่อยกู้เพิ่มเติม และจะกดดันการบริโภคสินค้าคงทน เช่น บ้าน รถยนต์ และการลงทุนที่ต้องกู้ยืมจากธนาคาร
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า