วันนี้ (8 กันยายน) สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารพรรค ส.ส. และสมาชิกพรรคเพื่อไทย ร่วมกันแถลงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย ระบุว่าตามที่พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้านอีก 4 พรรคได้ยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2563 ไปแล้วนั้น
ต่อมาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้เสนอผลการศึกษาต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2563 และจะมีการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 10 กันยายน 2563 และในวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา พรรคร่วมรัฐบาลก็ได้ยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เช่นเดียวกัน ซึ่งสอดคล้องกับข้อเรียกร้องของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ที่ต้องการให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อแล้วเสร็จให้มีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ขณะเดียวกันก็มีข้อเรียกร้องให้ตัดอำนาจของวุฒิสภาในหลายประเด็น โดยเฉพาะในการให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
พรรคเพื่อไทยระบุว่า พรรคได้ให้ความเห็นทั้งในคณะกรรมาธิการและในทางสาธารณะตลอดมาว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นกติกาที่มีแต่สร้างปัญหาให้แก่ประเทศและประชาชน รัฐบาล นายกรัฐมนตรี วุฒิสภา ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระต่างๆ ล้วนตอบสนองต่อการสืบทอดอำนาจเผด็จการ พรรคจึงเห็นว่าสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ( สสร.) เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในทางสันติวิธี จึงเร่งผลักดันเรื่องนี้ ซึ่งจะมีการพิจารณาญัตติดังกล่าว วันที่ 23-24 กันยายน 2563 ในวาระที่ 1 และเพื่อเร่งรัดให้เสร็จเร็วที่สุดที่จะเป็นไปได้ พรรคจึงขอเชิญชวนพรรคร่วมฝ่ายค้าน พรรคร่วมรัฐบาล และสมาชิกวุฒิสภา ร่วมลงชื่อขอเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ซึ่งต้องการเสียงประมาณ 250 คน เนื่องจากจะปิดสมัยประชุมในวันที่ 25 กันยายน 2563 และจะเปิดอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563
นอกจากนี้ พรรคได้เตรียมร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในอีกหลายประเด็น พร้อมกับประเด็น สสร. โดยเฉพาะในส่วนของบทเฉพาะกาลได้แก่
- การยกเลิกอำนาจวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 272 โดยพรรคเสนอเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรีนอกจากเลือกจากบัญชีของพรรคการเมืองแล้ว สามารถเลือกจาก ส.ส. ได้ด้วย และได้เสนอร่างนี้เช่นเดียวกับร่างแก้ไขมาตรา 256 ไว้ในรายงานของคณะกรรมาธิการฯ
- การยกเลิกอำนาจของวุฒิสภาตามมาตรา 270 เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ และมาตรา 271 เกี่ยวกับการไม่เห็นชอบ หรือแก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎหมายเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมโทษหรือองค์ประกอบความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ฯลฯ เฉพาะเมื่อการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นมีผลให้ผู้กระทำความผิดพ้นจากความผิดหรือโทษ ที่เสนอโดยสภาผู้แทนราษฎร
- การยกเลิกมาตรา 279 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาลที่ทำให้ประกาศคำสั่งและการกระทำของ คสช. อยู่เหนือกว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะเรื่องสิทธิเสรีภาพ
- การแก้ไขระบบเลือกตั้ง ด้วยการยกเลิกมาตรา 88, 83, 85, 90, 91 และ 94 โดยแก้ไขระบบเลือกตั้งให้เป็นไปตามแนวทางของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 คือใช้บัตร 2 ใบ (เลือกคนและเลือกพรรค)
พรรคเพื่อไทยระบุว่า ญัตติที่เสนอทั้งหมดข้างต้น สมาชิกพรรคได้ให้ความเห็นชอบและเชิญชวนพรรคร่วมฝ่ายค้าน พรรคร่วมรัฐบาล และสมาชิกวุฒิสภา ร่วมกันผลักดัน ด้วยการร่วมเสนอญัตติและพิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้าร่วมกันอย่างสันติ
พรรคจะเสนอญัตติที่กล่าวมาโดยเร็วที่สุด ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้ภายในวันพุธที่ 9 กันยายน 2563
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์