วันนี้ (8 กันยายน) นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 9 และยุพิน ตันวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการกลุ่มเสริมสร้างวินัยและระบบคุณธรรม สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวผลการสอบข้อเท็จจริงกรณีผู้แอบอ้างชื่อ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรียกรับเงินบรรจุข้าราชการด่านหน้าสู้โควิด-19 ในตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุขในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา
โดยระบุว่าการกระทำดังกล่าวถือเป็นการหลอกลวง เนื่องจากหลักการการบรรจุข้าราชการจะมีการตรวจสอบคุณสมบัติโดยคณะกรรมการระดับจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ ประกอบด้วย นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาล หัวหน้าส่วนราชการ และนักทรัพยากรบุคคลในจังหวัดนั้น เมื่อรวบรวมรายชื่อผู้ที่จะเสนอเข้ารับการบรรจุเข้ามายังส่วนกลางแล้วจะมีการตรวจสอบอีกครั้งโดยกองบริหารทรัพยากรบุคคล หากคุณสมบัติครบจะเสนอให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขลงนาม เป็นการตรวจสอบซึ่งกันและกัน ไม่สามารถเสนอหรือชี้ให้ใครบรรจุได้ ทุกอย่างเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีและระเบียบคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนที่เกี่ยวข้อง
“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำชับว่าเรื่องทุจริตนี้มีไม่ได้ เพราะท่านมีนโยบายอย่างชัดเจนว่าการบรรจุข้าราชการจะต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ อย่างไรก็ตาม ผู้กระทำความผิดเป็นข้าราชการต่ำกว่าระดับเชี่ยวชาญ อำนาจในการบริหารจัดการจึงอยู่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดในการดำเนินการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงและคณะกรรมการสอบวินัยอย่างร้ายแรงตามมาตรา 91 พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ซึ่งผลการตรวจสอบจากนิติกรของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมีความชัดเจนทั้งประจักษ์พยานและหลักฐาน ซึ่งหากมีความผิดทางวินัยร้ายแรงจะมีโทษคือปลดออกหรือไล่ออก กระทรวงสาธารณสุขขอให้สื่อมวลชนช่วยกันเป็นหูเป็นตาและสื่อสารประเด็นเหล่านี้” นพ.ยงยศ กล่าว
ทางด้าน นพ.พงศ์เกษม กล่าวว่าจากการสืบข้อเท็จจริงโดยนิติกร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมาพบความเป็นมาของเหตุการณ์ว่าผู้เสียหายเป็นพยาบาลที่ได้รับการบรรจุเป็นลูกจ้างชั่วคราวโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแห่งหนึ่ง โดยเดินทางไปรายงานตัวที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอลำทะเมนชัยเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ซึ่งมีพ่อแม่และญาติเดินทางไปด้วย ทางครอบครัวแจ้งว่าหากมีการบรรจุใหม่ให้ช่วยส่งข่าวเพื่อให้พี่สาวของพยาบาลคนนี้มาสมัคร ผู้แอบอ้างจึงส่งข้อมูลไปทางไลน์ของพยาบาลว่าพี่สาวได้งานทำแล้วหรือไม่ และเสนอว่าสามารถช่วยบรรจุข้าราชการตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุข กลุ่มงานยาเสพติด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมาได้ โดยเรียกรับเงิน 550,000 บาท ซึ่งทางพี่สาวไม่ได้สนใจ และมีการปรึกษากับผู้ที่โพสต์เรื่องราวนี้ทางเฟซบุ๊กจนนำมาสู่การตรวจสอบ
นอกจากนี้ นพ.พงศ์เกษม กล่าวต่อว่าจากการสืบข้อเท็จจริงถือว่าเรื่องนี้มีมูลในเรื่องของการทุจริตหลอกลวง เนื่องจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมายังไม่มีการเปิดรับสมัคร นิติกรจึงได้แจ้งความดำเนินคดีผู้ช่วยสาธารณสุขอำเภอผู้แอบอ้าง เพราะเกิดความเสียหายต่อกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ว่ามีการทุจริตในการบรรจุข้าราชการ
“ขณะนี้อยู่ในชั้นการพิจารณาของพนักงานสอบสวนว่าจะสั่งฟ้องและส่งสำนวนคดีไปให้พนักงานอัยการดำเนินคดีต่อหรือไม่ ส่วนเรื่องความผิดทางวินัย ได้นำเรียนผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาเพื่อพิจารณาดำเนินการทางวินัยต่อไป และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมาจะดำเนินการย้ายผู้แอบอ้างและผู้ถูกเรียกรับเงินออกนอกพื้นที่เพื่อความปลอดภัย” นพ.พงศ์เกษม กล่าว
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์