- จับตาตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ โดยวันนี้ยุโรปมีกำหนดประกาศ GDP ไตรมาส 2/2020 (เบื้องต้น) ซึ่งคาดว่าจะหดตัว 15.0% (YoY) และหดตัว 12.1% (QoQ) โดยเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 และเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างเป็นทางการ สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ส่วนเช้านี้ญี่ปุ่นประกาศ GDP ประจำไตรมาสที่ 2/2020 ติดลบ -7.9% (QoQ) และ -28.1% (YoY) เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างเป็นทางการจากผลกระทบของโควิด-19 เช่นกัน
- สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า รัฐบาลสิงคโปร์เตรียมดำเนินมาตรการแก้ปัญหาการว่างงานของชาวสิงคโปร์ ด้วยการให้เงินสมทบแก่บริษัทต่างๆ ที่จ้างแรงงานท้องถิ่นเพิ่มเติม โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ รัฐบาลจะสนับสนุนหรือสมทบค่าจ้างแรงงานสูงสุด 15,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 344,700 บาท) สำหรับแรงงานชาวสิงคโปร์ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี และสมทบให้สูงสุดถึง 30,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 689,400 บาท) สำหรับแรงงานมีอายุมากกว่า 40 ปี โดยรัฐบาลจะช่วยจ่าย 25% ของเงินเดือน 5,000 ดอลลาร์สิงคโปร์แรกสำหรับผู้ที่อายุต่ำกว่า 40 ปี และรัฐบาลจ่าย 50% สำหรับผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้น เป็นระยะเวลา 1 ปี คิดเป็นมูลค่ากว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์
- บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษแถลงว่า ได้เดินหน้าเจรจาข้อตกลงทางการค้ากับสหภาพยุโรปหลังการแยกตัวของสหราชอาณาจักร (Brexit) อย่างต่อเนื่อง โดยระบุเพิ่มเติมว่าจะบรรลุข้อตกลงภายในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ แต่หากไม่สามารถตกลงได้ ก็พร้อมที่จะแยกตัวแบบปราศจากข้อตกลง (No-Deal Brexit) และเดินหน้าต่อไป โดยช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคมนี้
- โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ แถลงเตรียมลดระดับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนลง โดยระบุว่า พร้อมที่จะลงโทษบริษัทสหรัฐฯ ที่สร้างงานในต่างประเทศ และเก็บภาษีเพิ่มเติมกับบริษัทที่สร้างงานในประเทศจีน พร้อมๆ กับจะกีดกันไม่ให้บริษัทที่ลงทุนในจีนคว้าสัญญาทางธุรกิจกับรัฐบาลกลางสหรัฐฯ แต่ให้เครดิตภาษีแก่สินค้าที่ผลิตในสหรัฐฯ เพื่อฟื้นตลาดแรงงานของสหรัฐฯ และทำให้สหรัฐฯ กลับมาเป็นประเทศมหาอำนาจด้านการผลิตของโลก พร้อมกันนั้นยังระบุว่า แผนการดังกล่าวนั้นเป็นส่วนหนึ่งของแผนการที่จะบังคับใช้หากได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2
- วานนี้กรมศุลกากรจีนประกาศยอดนำเข้าเดือนสิงหาคม 2020 ออกมาขยายตัว 9.5% (YoY) เหนือการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ 7.1% (YoY) และขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 7.2% (YoY) โดยเป็นการขยายตัวในส่วนของเครื่องมือแพทย์และวงจรรวม สวนทางการส่งออกเสื้อผ้าและรองเท้าที่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง ขณะที่การนำเข้าประกาศออกมาที่หดตัว 2.1% (YoY) หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และแย่กว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่มองว่าจะขยายตัว 0.1% (YoY) ส่งผลให้จีนมียอดเกินดุลการค้าเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 58,830 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนสิงหาคม
ภาวะตลาดวานนี้
- ตลาดหุ้นจีนปรับตัวลงแม้ว่าตัวเลขการส่งออกจีนจะเติบโตขึ้นก็ตาม หลังตลาดกังวลกรณีที่สหรัฐฯ อาจขึ้นบัญชีดำบริษัท SMIC ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่สุดของจีน ส่งผลให้ราคาหุ้นดิ่งลง 11.29% สวนทางกับตลาดหุ้นยุโรปที่ปรับตัวขึ้นหลังถูกเทขายก่อนหน้านี้ 3 วันติดต่อกัน ตอบรับความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 รวมทั้งตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาแข็งแกร่ง ซึ่งแสดงถึงแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น
สหรัฐฯ
**ปิดทำการ**
ยุโรป
- DAX อยู่ที่ 13,100.28 เพิ่มขึ้น 257.62 (2.01%)
- FTSE 100 อยู่ที่ 5,937.4 เพิ่มขึ้น 138.32 (2.39%)
- Euro Stoxx 50 อยู่ที่ 3,314.07 เพิ่มขึ้น 53.48 (1.64%)
- FTSE MIB อยู่ที่ 19,738.01 เพิ่มขึ้น 346.76 (1.79%)
เอเชีย
- Nikkei 225 อยู่ที่ 23,089.95 ลดลง -115.48 (-0.5%)
- S&P/ASX 200 อยู่ที่ 5,944.8 เพิ่มขึ้น 19.3 (0.33%)
- Shanghai อยู่ที่ 3,292.59 ลดลง -62.78 (-1.87%)
- SZSE Component อยู่ที่ 13,284.03 ลดลง -372.62 (-2.73%)
- China A50 อยู่ที่ 15,310.43 ลดลง -222.35 (-1.43%)
- Hang Seng อยู่ที่ 24,589.65 ลดลง -105.8 (-0.43%)
- Taiwan Weighted อยู่ที่ 12,601.4 ลดลง -36.55 (-0.29%)
- SET **ปิดทำการ**
- KOSPI อยู่ที่ 2,384.22 เพิ่มขึ้น 15.97 (0.67%)
- IDX Composite อยู่ที่ 5,230.2 ลดลง -9.65 (-0.18%)
- BSE Sensex อยู่ที่ 38,417.23 เพิ่มขึ้น 60.05 (0.16%)
- PSEi Composite อยู่ที่ 5,935.85 เพิ่มขึ้น 150.76 (2.61%)
Commodity
- ราคาน้ำมันดิบ WTI อยู่ที่ 39.2 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลง -0.57 (-1.43%)
- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ อยู่ที่ 42.02 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลง -0.64 (-1.5%)
- ราคาทองคำ อยู่ที่ 1930.76 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ลดลง -1.69 (-0.09%)
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- Infoquest
- Bloomberg
- Investing
- CNBC
- Reuters