ตลอด 1-2 เดือนที่ผ่านมา ภาพการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา ออกมาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองได้ปรากฏตามหน้าสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ผ่านการจัดกิจกรรมชุมนุมหรือแฟลชม็อบในรูปแบบที่หลายหลาก ตั้งแต่การรวมตัวชูสามนิ้ว, วิ่ง-ร้องเพลงแฮมทาโร่, ผูกริบบิ้นขาว ไปจนถึงการตั้งข้อเสนอถึงรัฐบาลเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองไทยอย่าง ‘3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน และ 1 ความฝัน’
จากเสียกเรียกร้องที่ดังกังวานไปทั่วประเทศไทยในเวลานี้ ทำให้ผู้คนหลายกลุ่ม หลายช่วงอายุเริ่มแสดงปฏิกิริยาตอบกลับต่อการแสดงออกของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ทั้งการติติง การสนับสนุน รวมถึงการตั้งคำถามว่า อะไรคือแก่นสารที่แท้จริงที่ทำให้พวกเขาต้องออกมารวมตัวเรียกร้องกัน
ไม่นานมานี้ในงานเสวนาวิชาการ ‘เข้าใจคนรุ่นใหม่ท่ามกลางโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง’ จัดโดยภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการตั้งโต๊ะของกลุ่มนักวิชาการเพื่อวิเคราะห์ถึงปัจจัยต่างๆ และข้อเรียนรู้ที่ได้เห็นจากการออกมาสะท้อนปัญหาในครั้งนี้ของกลุ่มคนรุ่นใหม่
คนรุ่นใหม่กำลังเรียกร้องอะไร?
ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มเล่าถึงประสบการณ์จากการทำโปรเจกต์หนึ่ง เกี่ยวกับคนรุ่นใหม่ที่เริ่มออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยระบุว่า “ตอนนี้กำลังมีโปรเจกต์เล็กๆ ที่เริ่มต้นด้วยความสนใจ ก็ได้เริ่มไปสัมภาษณ์คนที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหว แต่สิ่งที่ได้รับการตอบรับมาทำให้เราได้เริ่มตั้งคำถามว่า จริงๆ เราเข้าใจคนที่กำลังจะเติบโตมาแล้วอยู่ในประเทศนี้ได้น้อยมาก น้อยจนตัวดิฉันเองเริ่มตกใจ
“ดิฉันได้รับคำถามเกี่ยวกับคนรุ่นใหม่ที่คนทั่วไปส่งเข้ามา เรียบเรียงได้ประมาณ 10 หน้ากระดาษ A4 ประเด็นคือเรามีคำถามเยอะมาก แต่เรากลับไม่มีคำตอบเพื่อมาตอบกลับคำถามเหล่านี้ มันทำให้ดิฉันนึกไม่ออกว่าเราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร เมื่อเราไม่มีความเข้าใจกัน และคำถามที่ถาโถมเข้ามาตลอด 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา มันสะท้อนว่าเราจะเริ่มต้นตรงไหนดี”
สิ่งที่ผู้ใหญ่ตั้งคำถามกับคนรุ่นใหม่กับการเคลื่อนไหวครั้งนี้มากที่สุดคือ คนเหล่านี้คือใครกัน สิ่งที่พวกเขาทำนั้นคือแฟชั่นตามกระแสสังคมหรือไม่?
ผศ.ดร.กนกรัตน์ อธิบายด้วยคำตอบที่ตกผลึกในงานวิจัยส่วนตัว โดยพบว่า เด็กเหล่านี้ได้มารวมตัวกันพร้อมกับสิ่งที่เรียกว่า ‘3 การเปลี่ยนแปลง 2 ไม่เปลี่ยนแปลง และ 1 ความฝัน’
สำหรับ 3 การเปลี่ยนแปลงนั้น ประกอบด้วย
- การกล่อมเกลาทางสังคม (Young Modern Family)
- ความพยายามในการผลักดันการปฏิรูปการศึกษา การมีความคิดนอกกรอบ ที่ต้องเผชิญกับโลกที่หมุนเร็วและโหดร้าย (Disruptive World) คนรุ่นนี้กำลังสะท้อนให้เห็นว่า สิ่งที่พวกเขาสนใจมันไม่ได้อยู่แค่ในตัวตนของเขา แต่มันไปไกลกว่านั้น มันคือสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากบริบทของเขาไปแล้ว
- การหมุนเร็วขึ้นของเทคโนโลยี แต่ต้องย้ำว่าเทคโนโลยีไม่ได้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เยาวชนกลุ่มนี้ลุกขึ้นมาเรียกร้องทางการเมือง แต่เป็นเรื่องราวในสังคมที่พวกเขาเผชิญ ทำให้เขาเลือกใช้พื้นที่สื่อออนไลน์ที่เป็นกิจวัตรอยู่แล้ว ในการเรียกร้องสิทธิของพวกเขาเอง
2 ไม่เปลี่ยนแปลง คือ
- สถานศึกษา ที่แม้เด็กรุ่นก่อนจะโตมากับการถูกกดขี่ในรูปแบบต่างๆ แต่ไม่ได้มีการคิดอะไรต่อจากนั้น ซึ่งต่างจากเด็กรุ่นใหม่มีพื้นที่ที่เป็นเสรีนิยมมากขึ้น พวกเขามองเห็นความย้อนแย้งในรั้วสถานศึกษา และเห็นความแตกต่างของการเป็นครูรุ่นเก่าและใหม่ และแน่นอนว่าแรงบันดาลใจของคนรุ่นนี้คือ กลุ่มครูรุ่นใหม่ ที่สามารถพาเขาไปได้ไกลกว่าที่เป็น
- ช่วงเปลี่ยนผ่าน 6 ปี หลังรัฐประหาร เนื่องด้วยเด็กส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่มีความหลากหลาย ทั้งสนับสนุนการปฏิวัติ, สนับสนุนระบอบรัฐบาลทหาร, สนับสนุนสถาบันอนุรักษ์นิยม และแน่นอนว่าเด็กส่วนใหญ่เติบโตมากับการเห็นด้วยกับสิ่งที่ครอบครัวเป็น เด็กหลายคนเคยบอกว่าเคยเชียร์และรักลุงตู่มากที่นำพาความสงบมาให้ประเทศชาติบ้านเมือง แต่เมื่อเวลาผ่านไป 6 ปี เด็กเหล่านี้เริ่มตั้งคำถามว่า 6 ปีนั้นมันไม่สามารถทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้นได้ พวกเขามองไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงและการปฏิรูปตามที่สัญญาเอาไว้
และ 1 ความฝัน ในที่นี้หมายถึง ความฝันที่พวกเขาเชื่อว่า ตัวเขาเองสามารถเป็นตัวแทนของการเปลี่ยนแปลงได้ พวกเขาเชื่อว่าเขาแตกต่างจากคนรุ่นก่อนหน้านี้ ภาษาที่พูด สิ่งที่คิด และหลายๆ อย่าง มันแตกต่างจากคนรุ่นก่อนหน้านี้
“พวกเขาเชื่อว่าโลกในอีกหลายปีข้างหน้ามันเป็นตัวพวกเขาเองที่จะเปลี่ยนแปลงและรับมือกับมัน เขาไม่ได้เชื่อมั่นในสิ่งต่างๆ แบบที่คนรุ่นก่อนเป็น เพราะเขาเชื่อว่าเขาสามารถปกป้องอนาคตของตัวเองได้ และจะต้องทำ
“สิ่งที่ดิฉันพูดไปทั้งหมดเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ส่วนใหญ่รับรู้ แต่คำถามคือ เมื่อเรารู้แล้วเราจะทำอย่างไร เราจะอยู่กับพวกเขาได้อย่างไรในเมื่อเพดานที่พวกเขาตั้งไว้มันทะลุไปแล้ว”
สิ่งที่เราเคยเชื่อว่ามันจะจัดการกับเขาได้ ทำให้เขาเชื่อเรา ทำให้เขาเป็นอนาคตของชาติแบบที่เราวางแผนอยากให้เขาเป็น ณ วันนี้ เขาไม่เป็นแบบนั้น แล้วเราจะอยู่อย่างไรต่อไป เมื่อม็อบที่เป็นมันไม่ได้เป็นม็อบแฟชั่นเล็กๆ แต่มันเป็นการลุกขึ้นมาที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงอนาคตของคนที่เขารู้จักดี ก็คือ อนาคตของพวกเขาเอง
“ข้อสรุปที่พบเจอคือ คนรุ่นใหม่กำลังอยู่ท่ามกลางโลกที่มันยากขึ้น แต่ท่ามกลางความยากขึ้น สิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือว่า พวกเขาล้วนแต่เป็นผลผลิตของพวกเรา ที่เราสร้างเขาขึ้นมา เด็กส่วนใหญ่เติบโตมาในครอบครัวที่พ่อแม่เป็นคนรุ่นใหม่ เปิดรับฟังความคิดเห็นของลูก พยายามเข้าใจลูก สร้างให้เขาเป็นคนที่แตกต่างจากพวกเรา แล้วอย่างที่เห็นคือพวกเขาแตกต่างแล้ว”
เปิดชนวนเหตุที่ปูทางให้คนรุ่นใหม่ออกมาเคลื่อนไหว
ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า เรื่องนี้มีปัจจัยหลายอย่างที่มาบรรจบกันจนทำให้กลายเป็นปรากฏการณ์แบบนี้ แต่เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว แทนที่จะไปเพ่งเล็งที่การกระทำของนักศึกษา แล้วชี้หน้าบอกว่าทำไมถึงออกมาแสดงความรุนแรง แสดงความก้าวร้าว ทำไมไม่เรียนในห้องเรียนไปเฉยๆ แต่อีกนัยหนึ่งการเคลื่อนไหวของนักศึกษากลับเป็นกระจกสะท้อนความป่วยไข้ของสังคมมากกว่าที่หลายคนคิด
“การที่นักเรียน นักศึกษาต้องออกมาเคลื่อนไหว แสดงว่าสังคมไทยต้องป่วยไข้ หรือผิดปกติมากๆ แทนที่เหล่านักศึกษาจะได้เรียนหนังสือและใช้ชีวิตไปตามปกติ เขากลับต้องออกมาเคลื่อนไหวแบบนี้”
นอกจากนี้ ผศ.ดร.ประจักษ์ ยกตัวอย่างถึงอาการป่วยไข้ของสังคมไทย ซึ่งถูกวินิจฉัยเป็น 3 ข้อคือ
- เผด็จการทางการเมือง
- ผูกขาดทางเศรษฐกิจ
- อำนาจนิยมทางวัฒนธรรม
ผศ.ดร.ประจักษ์ อธิบายต่อว่า ที่สำคัญคือทั้ง 3 ข้อนี้ต่างมาผนึกกันแน่นหนาในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา และเป็น 6 ปีที่มีความผิดปกติอย่างรุนแรง และสิ่งที่สังคมไทยเรียนรู้กับสิ่งเหล่านี้ โดยเฉพาะผู้ใหญ่อย่างเราๆ เช่น
- ยุค Baby Boomer: พร้อมโอบรับสิ่งเหล่านี้
- ยุคเจน X: ทำมาหากินไปเฉยๆ
- เจน Y: อยู่ในช่วงที่เริ่มสร้างฐานะ
แต่สิ่งที่เด็กรุ่นใหม่กำลังปลุกพวกเราคือการบอกให้เห็นว่า สิ่งที่คนหลายยุครู้สึกว่าปกติ แต่จริงๆ แล้วมันไม่เคยปกติเลย โดยเฉพาะในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา
“ในทางการเมือง ประเทศไทยเกือบจะเป็นประเทศสุดท้ายบนโลกใบนี้แล้วที่ประชาชนยังต้องออกมาแสดงความตระหนกอยู่ทุกวันว่าจะเกิดการรัฐประหารเมื่อไร สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นกับเฉพาะประเทศที่ล้าหลังมากๆ
“ผมอยากจะย้ำอีกครั้งว่าไม่มีประเทศไหนในโลกที่มีรัฐประหารซ้ำถึง 2 ครั้งภายในระยะเวลาไม่ถึง 8 ปี และถ้าเกิดการรัฐประหารอีกครั้ง ซึ่งไม่รู้จะเกิดขึ้นเมื่อไร เราจะกลายเป็นประเทศที่ล้าหลังทางการเมืองที่สุดในโลกทันที ในโลกที่หลายประเทศหลุดออกจากกับดักการรัฐประหาร การแทรกแซงทางการเมืองการปกครองไปแล้ว”
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ‘เด็กรุ่นใหม่’ โดยเฉพาะยุคนี้มักจะตั้งคำถามกับสิ่งที่ผู้ใหญ่หลายคนอาจไม่ได้คิดถึง เช่น ทำไมกรุงเทพฯ เป็นจังหวัดเดียวที่มีรถไฟฟ้าให้บริการแก่ประชาชน ทำไมศูนย์ของสิ่งต่างๆ ต้องตั้งกองไว้ในกรุงเทพฯ เกือบทั้งหมด เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่หลายคนมองว่ามันเป็นเรื่องปกติ แต่ไม่ใช่กับเด็กรุ่นใหม่
ผศ.ดร.ประจักษ์ ได้เปรียบเทียบประเด็นข้างต้นกับหนังสือปรัชญาเล่มหนึ่งที่ชื่อว่า ‘โลกของโซฟี’ เขียนโดย โยสไตน์ กอร์เดอร์
“ในหนังสือเล่มนั้น เด็กมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่เหมือนนักปรัชญาก็คือ เป็นคนที่มองโลกด้วยสายตาที่บริสุทธ์ แล้วตั้งคำถามเกี่ยวกับความผิดปกติของโลกที่ผู้ใหญ่มองไม่เห็นแล้ว”
สิ่งนี้จึงสะท้อนให้เห็นว่า การออกมาเคลื่อนไหวของเยาวชนครั้งนี้มันออกมาจากสามัญสำนึก จากการที่ได้ลองไปฟังแต่ละเรื่อง แต่ละประเด็นที่เด็กๆ ออกมาพูด ออกมาถาม ออกมาปราศรัยในทุกเวที ล้วนออกมาจากสามัญสำนึกของพวกเขาที่ต้องการให้ ‘บ้าน’ ที่พวกเขาอาศัยอยู่ดีขึ้นกว่าที่เป็น
ใครอยู่เบื้องหลังม็อบนักเรียน นักศึกษา?
ผศ.ดร.ประจักษ์ ระบุว่า การออกมาเคลื่อนไหวของเยาวชนนั้น คือการแสดงปฏิกิริยาตอบกลับต่อสิ่งที่ถูกกดทับมานาน และที่สำคัญคือเขาโตมาในยุคที่สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องปกติ
หากย้อนไปยุคก่อน อาจไม่มีการเข้าถึงคำว่า ‘สิทธิมนุษยชน’ แต่วันนี้สิ่งที่เด็กๆ ได้ตะโกน ได้ออกมาพูดให้ฟัง ได้พาเรากลับไปคิดสิ่งที่เกิดขึ้นหลายอย่างในรั้วโรงเรียนนั้นมีความไม่ชอบธรรมแฝงอยู่เสมอ พาเรากลับไปตระหนักคิดว่า ทำไมครั้งหนึ่งที่เราอายุไล่เลี่ยกับพวกเขา เราไม่เคยนึงถึงสิทธิที่เราควรได้รับบ้างเลย
“ผมคิดว่าเรื่องความตระหนักรู้ ณ วันนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว และนักการสื่อสารควรดีใจด้วยซ้ำกับปรากฏการณ์นี้ ไม่ควรตกใจ แต่ควรดีใจด้วยซ้ำที่เห็นเด็กคิดเองได้เป็นแล้ว คิดแบบวิพากษ์วิจารณ์ได้ และตั้งคำถามได้
“คนที่อยู่เบื้องหลังนักศึกษา ที่ปลุกให้นักศึกษาตื่น ไม่ใช่นักวิชาการ ไม่ใช่พรรคอนาคตใหม่ หรืออาจารย์ทั่วไปที่สอนในห้องเรียน แต่สิ่งที่ผมเห็นในช่วง 4-5 ปีมานี้ เราเห็นได้ชัดว่าบทสนทนาในห้องเรียนเปลี่ยนไป เด็กเปลี่ยนไปเองก่อนเข้ามาเรียนกับเราในห้องเรียนแล้ว”
“ฉะนั้นเบื้องหลังที่สำคัญที่สุดที่ปลุกให้นักศึกษาตื่นตัวทางการเมือง ไม่ใช่ปัญญาชน นักวิชาการ หรือมหาวิทยาลัย แต่คือ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรัฐประหารปี 2557″
รวมถึงการเคลื่อนไหวแปลกๆ ที่ไปขัดวางการเลือกตั้ง ที่ออกมาบอกว่าหลักประชาธิปไตยต้องไม่ไปเลือกตั้ง การเคลื่อนไหวเหล่านี้เองที่ดูผิดสามัญสำนึก และเราคิดว่ามันปกติ แต่เด็กเขาสะท้อนกลับมาให้เห็นแล้วว่ามันไม่ปกติ ถ้าบ้านเมืองปกติเด็กก็ไม่ออกมาเคลื่อนไหว”
‘1 ความฝัน’ และหลากข้อเสนอที่เด็กหลายคน (กล้า) พูด
ส่วนข้อเรียกร้องที่ถูกตั้งคำถามอย่างหนักในแง่ความเหมาะสมก็คือ การเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเกิดเป็นคำถามตัวโตๆ ว่าเป็นเรื่องที่สังคมสามารถพูดคุยกันได้หรือไม่นั้น
ผศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวว่า ‘ควร’
“และคนที่ออกมาพูดเรื่องนี้ไม่ควรเป็นนักศึกษา นักเรียน หรือเยาวชน คนที่ควรเอามาพูดเรื่องนี้คือคนที่เป็น ‘รอยัลลิสต์’ ต่างหาก ที่เป็นผู้ใหญ่ที่จงรักภักดี และอยากเห็นสถาบันกษัตริย์อยู่คู่สังคมไทยอย่างยั่งยืนไปพร้อมกับรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย”
ประจักษ์มองว่าข้อเสนอทางการเมืองทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปศาล ปฏิรูปภาคการเมือง เป็นข้อเสนอทางการเมืองที่ถกเถียงและแลกเปลี่ยนกันได้ในสังคม เพราะการที่เราสามารถแลกเปลี่ยนความคิดกันได้อย่างสันติวิธี คือตัวสะท้อนวุฒิภาวะของสังคม ถ้าเราสามารถทำแบบนี้ได้สังคมก็จะเติบโตทางปัญญาและก้าวหน้าต่อไปได้
ที่ผ่านมาสังคมไทยปิดกั้นการถกเถียงและแลกเปลี่ยนเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ทางการเมืองที่สำคัญมาโดยตลอด โดยเฉพาะการใช้เครื่องมือทางกฎหมายที่รุนแรง ทำให้เกิดการปิดกั้นกระบวนการคิดในประเด็นนี้
ฉะนั้นหลังจากนี้ไม่ว่าสังคมไทยจะเปลี่ยนผ่านอย่างไร แก่นสารที่เด็กต้องการสื่อลึกๆ คือ ให้สังคมหันหน้ามาคุยกันในประเด็นที่มันสำคัญ ไม่มีใครต้องการความรุนแรง เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 การล้อมปราบเสื้อแดงเดือนพฤษภาคม 2553 ไม่ควรเกิดขึ้นแล้ว และถ้าหากจะไม่เกิดขึ้นอีก สิ่งที่ควรเรียกร้องก็คือ อย่าใช้วิธีการแบบเดิมในการปิดกั้นการถกเถียงแลกเปลี่ยน ที่จะนำไปสู่การเรียนรู้ในเรื่องการปฏิรูปทางการเมืองที่สำคัญ
ในช่วงท้ายของการเสวนา ผศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวปิดท้ายว่า ปัญหาจริงๆ ไม่ได้อยู่ที่นักศึกษา แล้วต่อให้ความคิดของเขารุนแรงมาก ก้าวหน้ามาก แต่ในการเคลื่อนไหวทั้งหมด เป็นการเคลื่อนไหวที่สันติวิธีตลอดมาตั้งแต่ต้นที่พวกเขาได้เริ่มจัดขึ้นมา เรายังไม่เห็นความรุนแรงตรงไหนเลยที่เกิดจากการชุมนุมของนักศึกษา มันคือการเคลื่อนไหวที่น่าสงสารด้วยซ้ำ
“ในแง่นี้ ในฐานะนักสันติวิธี ผมอยากเรียกร้องให้ออกมาปกป้องนักศึกษามากกว่านี้ ก่อนหน้านี้ทุกครั้งไม่ว่าจะเป็นเสื้อเหลือง เสื้อแดง กปปส. นักสันติวิธีก็ออกมาปรามรัฐบาลเยอะมากว่าอย่าใช้ความรุนแรง แต่ ณ วันนี้นักสันติวิธีหายไปหมดเลย ผมอยากเรียกร้องออกมาให้ยืนยันและปกป้องนักศึกษาที่เขาเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบสันติวิธีว่าสามารถทำได้อย่างปลอดภัย”
และถ้าคนไทยทุกคนยึดอยู่ในกรอบนี้ การแสดงความคิดเห็นต่างๆ ต่อให้การพูดเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ไม่ควรถูกใช้เป็นข้อหาที่ไม่ชอบธรรมในการปราบนักศึกษาอย่างรุนแรงได้ เพราะความคิดเห็นหรือความต่างทางความคิดไม่ใช่อาชญากรรม และไม่ผิดกฎหมาย
“สิ่งที่เราต้องการคือ ผู้ใหญ่ที่มีวิสัยทัศน์แบบระยะยาวที่ต้องการปฏิรูปสังคมไทย ไปด้วยกันกับนักศึกษา และเมื่อนั้นเราจะเปลี่ยนผ่านไปได้อย่างสันติ และไม่กลับไปซ้ำรอยประวัติศาสตร์อีก”
ผศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวทิ้งท้าย
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า