วันนี้ (27 สิงหาคม) ที่อาคารรัฐสภา สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคและผู้นำฝ่ายค้าน พร้อมด้วยกรรมการบริหารพรรค แกนนำ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย ได้ร่วมกันชี้แจงต่อประชาชนและออกแถลงการณ์ระบุว่า ตามที่ ส.ส. พรรคเพื่อไทยมีมติไม่ร่วมลงชื่อในญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับอำนาจสมาชิกวุฒิสภาในการให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 หรือการยกเลิกวุฒิสภาตามมาตรา 269 การยกเลิกหน้าที่และอำนาจของ ส.ว. ในเรื่องการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่ ส.ว. หรือ ส.ส. ยับยั้งไว้ตามมาตรา 137 (2) หรือ (3) ตามมาตรา 271 นั้น ขอชี้แจงว่า
- พรรคเพื่อไทยเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีปัญหามากมายในแทบทุกหมวด รวมทั้งบทเฉพาะกาล ซึ่งรวมทั้งสิ้นมี 279 มาตรา หลายปัญหาโยงใยเกี่ยวข้องกันในหลายหมวดและหลายบทมาตรา แม้แต่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่ประกอบด้วยตัวแทนของพรรคการเมืองที่มี ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎรเกือบทุกพรรคก็มีความเห็นสอดคล้องต้องกันในเรื่องนี้
- พรรคเพื่อไทยเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีขึ้นเพื่อลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนและมุ่งสืบทอดระบอบเผด็จการอำนาจนิยม โดยเห็นได้ชัดเจนจากบทบัญญัติในหลายมาตรา ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระต่างๆ ระบบเลือกตั้ง ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การปฏิรูปประเทศ ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือบทเฉพาะกาล ระบบและกลไกที่กล่าวมามีแต่จะยิ่งเพิ่มความขัดแย้ง ความอยุติธรรม การทุจริตคอร์รัปชัน ความล้มเหลวทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เพราะไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่มีขึ้นเพื่อปกป้อง รับฟัง และยอมรับการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง พรรคได้ต่อสู้ วิพากษ์วิจารณ์ และรณรงค์ไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาตั้งแต่ต้น จนสมาชิกของพรรคหลายคนถูกข่มขู่ คุกคาม ถูกเรียกไปปรับทัศนคติ และถูกดำเนินคดีนับไม่ถ้วน
- พรรคเพื่อไทยได้รับการเลือกตั้งมาเป็นอันดับหนึ่ง แต่ก็ไม่อาจจัดตั้งรัฐบาลได้ก็เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ การแก้ไขมาตราใดมาตราหนึ่ง หรือประเด็นใดประเด็นหนึ่ง หรือหลายประเด็น ไม่สามารถทำให้รัฐธรรมนูญฉบับที่ออกแบบมาเช่นนี้กลายเป็นรัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตยที่เป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชนได้ พรรคเพื่อไทยจึงเห็นว่าในเบื้องต้นมีเพียงหนทางเดียวเท่านั้นที่จะก้าวข้ามความขัดแย้งที่ดำรงมากว่า 15 ปี และยุติระบอบเผด็จการอำนาจนิยม รวมถึงระบบรัฐราชการได้ นั่นคือการสร้างกลไกให้ประชาชนเป็นผู้ร่างและให้ความเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งต้องทำทั้งฉบับ
- การให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และให้ประชาชนทั้งประเทศลงประชามติจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะประชาชนจะเป็นผู้แก้ปัญหาต่างๆ ของประเทศด้วยตัวเขาเอง ไม่ใช่พวกรัฐประหารที่ชอบอ้างว่าทำเพื่อประชาชน แต่สิ่งนี้จะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว. อย่างน้อยอีก 84 คน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 พรรคเพื่อไทยจึงได้ยกร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 เพื่อให้มี สสร. และแก้ไขเงื่อนไขที่ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่แทบเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปตามปกติเช่นรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ
- ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 ดังกล่าว พรรคเพื่อไทยยกร่างตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562 และได้เสนอพรรคร่วมฝ่ายค้าน 7 พรรคในขณะนั้นตั้งแต่กลางปี 2562 โดยกำหนดว่าจะไม่แก้ไขในหมวด 1 ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเป็นรัฐเดี่ยว การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย การคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ตลอดจนความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ รวมทั้งหมวด 2 ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับองค์พระมหากษัตริย์ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เป็นการแก้ไขทั้งฉบับ เพราะพรรคเพื่อไทยเคยได้รับบทเรียนมาแล้วด้วยการถูกกล่าวหาและดำเนินคดีฐานล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และอาจยังมีความพยายามที่จะอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 18-22 / 2555 ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับต้องทำประชามติก่อน แม้คำวินิจฉัยในส่วนนั้นจะไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นแห่งคดีก็ตาม ซึ่งจะยิ่งเสียเวลา และอาจมีการข่มขู่ คุกคาม โกง จนผลประชามติออกมาว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ต้องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็เป็นได้
ด้วยเหตุนี้พรรคร่วมฝ่ายค้านทั้งหมดจึงเห็นพ้องต้องกันมาตั้งแต่นั้น หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้านก็ได้แสดงจุดยืนในประเด็นดังกล่าวมาเป็นระยะๆ ในโอกาสการจัดเวทีเสวนาเรื่องรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมฝ่ายค้านในจังหวัดต่างๆ อย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 2562 เป็นต้นมา โดยใช้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นหลัก
- ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ผู้แทนพรรคเพื่อไทยได้เสนอแนวคิดเรื่อง สสร. และเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 ให้คณะกรรมาธิการพิจารณา จนมีการแถลงข่าวของประธานคณะกรรมาธิการและคณะกรรมาธิการในวันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม 2563 ว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มี สสร. ขึ้น และทางพรรคร่วมฝ่ายค้านได้ประชุมกันในวันพฤหัสบดีที่ 13 สิงหาคม 2563 ณ ห้องผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร โดยมีประเด็นว่าควรตัดข้อห้ามแก้ไขหมวดที่ 1 และหมวดที่ 2 ออกไปหรือไม่ และควรเสนอขอแก้ไขเรื่องที่มาของวุฒิสภาและอำนาจของ ส.ว. ตลอดจนมาตรา 279 ที่ให้ประกาศ คำสั่ง และการกระทำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีผลใช้บังคับต่อไปโดยให้ถือว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายด้วยหรือไม่ ซึ่งที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันทั้งหมดว่าในเบื้องต้นควรเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 ตามร่างเดิมเพียงประเด็นเดียวก่อน และนัดวันยื่นญัตติต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 17 สิงหาคม 2563 ช่วงเช้า โดยขอให้ ส.ส. พรรคร่วมฝ่ายค้านร่วมลงชื่อเสนอญัตติ ซึ่งต่อมาก่อนยื่นญัตติ ส.ส. ของพรรคก้าวไกลจำนวน 21 คนขอถอนชื่อออก โดยให้เหตุผลว่าร่างแก้ไขมาตรา 256 ดังกล่าวมีการสงวนไม่แก้ในหมวดที่ 1 และหมวดที่ 2 ไว้ ทั้งๆ ที่ผู้เข้าร่วมประชุมของพรรคก้าวไกลในวันที่ 13 สิงหาคม 2563 ประกอบด้วยหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค รังสิมันต์ โรม และปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะกรรมาธิการฯ ของพรรคก้าวไกล ได้เห็นชอบในร่างดังกล่าวมาตั้งแต่ต้นจนถึงวันที่ 13 สิงหาคม 2563 และเปลี่ยนใจในวันที่ 17 สิงหาคม 2563
- พรรคเพื่อไทยขอเรียนว่าการดำเนินการของพรรคในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันด้วยการให้มี สสร. นั้นเป็นไปโดยสุจริต มุ่งหวังผลสำเร็จที่เป็นจริงจากความร่วมมือกันของทุกฝ่ายให้เป็นโรดแมปของประเทศ เพื่อมีกติกาใหม่ที่ทุกอย่างต้องจบที่กติกานี้ ซึ่งเป็นกติกาของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ไม่มีการสืบทอดอำนาจหรือให้เผด็จการอำนาจนิยมและรัฐราชการครอบงำประชาชนและสังคมอีกต่อไป พรรคจึงเริ่มจากการขอความเห็นชอบจากพรรคร่วมฝ่ายค้านทุกพรรค จนปัจจุบันพรรคร่วมรัฐบาลก็เห็นด้วย นักเรียน นักศึกษา ประชาชนก็เห็นด้วย และเรียกร้องให้มี สสร. จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน แต่บนหนทางยังมีอุปสรรคขวากหนามอีกมาก จึงต้องแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่างให้มากที่สุด ใช้ความจริงใจ สุจริตใจ และความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกันเป็นสำคัญ ขจัดความหวาดระแวงทั้งปวงโดยมีพลังของพี่น้องประชาชน นิสิตนักศึกษา นักเรียน ช่วยกันผลักดันเกื้อหนุนประเทศ ก็จะมีทางออกที่สันติและทำให้อำนาจอธิปไตยกลับมาเป็นของปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริงในที่สุด
- การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในประเด็นอื่นๆ ที่กล่าวมาข้างต้น โดยเฉพาะเรื่องอำนาจของ ส.ว. ที่มาของวุฒิสภา และมาตรา 279 นั้น ล้วนแต่อยู่ในวิสัยที่จะร่วมปรึกษาหารือและสร้างความเห็นพ้องร่วมกันต่อไปในห้วงเวลาที่เหมาะสม ไม่ใช่การสนองความต้องการของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยไม่คำนึงถึงสภาพความเป็นจริงและปัจจัยเกื้อหนุนที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ
พรรคเพื่อไทยขอเรียนว่า ตั้งแต่พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน จนถึงพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน ทั้งพรรค ส.ส. สมาชิก และผู้สนับสนุนถูกข่มเหงรังแกอย่างโหดเหี้ยมจากระบอบเผด็จการอำนาจนิยมมาอย่างต่อเนื่องนับครั้งไม่ถ้วน แต่พวกเราก็อดทนอดกลั้น ยืนหยัดต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความถูกต้องอย่างไม่เคยย่อท้อ เราเจ็บปวดยิ่งกว่าใครทั้งสิ้น แต่เราก็หวังให้บ้านเมืองมีสันติสุข และใช้ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงแก้ปัญหาความขัดแย้งและการบริหารประเทศ เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีอนาคต มีความหวังที่เป็นจริงได้ มีความมั่นคง มีความสุข พรรคเพื่อไทยต้องการพัฒนาไปสู่ความเป็นสถาบันทางการเมืองที่มีคำตอบเป็นรูปธรรมให้พี่น้องประชาชน และจะยืนเคียงข้างพี่น้องประชาชนบนเส้นทางประชาธิปไตยตลอดไป
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์