เมื่อวานนี้ (24 สิงหาคม) จากรายงานการวิจัยเบื้องต้นของมหาวิทยาลัยฮ่องกงที่ได้รับการเผยแพร่ในวารสาร Clinical Infectious Diseases พบว่า ผู้ป่วยโควิด-19 อาจติดเชื้อซ้ำได้อีก หลังพบข้อมูลของชายชาวฮ่องกงวัย 33 ปีที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์ุใหม่แล้วถึง 2 ครั้งในปีนี้ โดยการติดเชื้อครั้งที่ 2 ไม่แสดงอาการของโรคหรือความผิดปกติแต่อย่างใด
ชายคนดังกล่าวตรวจพบการติดเชื้อโควิด-19 ครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา มีอาการไอ เจ็บคอ มีไข้ และปวดศีรษะร่วมด้วยราว 3 วัน ขณะที่การติดเชื้อครั้งที่ 2 เกิดขึ้นหลังจากครั้งแรก 142 วัน หรือราว 4 เดือนครึ่ง ขณะที่เขากำลังเดินทางเข้าฮ่องกงเมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา หลังจากเดินทางกลับจากสเปนผ่านสหราชอาณาจักร
ด้าน Kelvin Kai-Wang To อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยฮ่องกง หนึ่งในผู้ทำวิจัยเกี่ยวกับประเด็นนี้เผยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นชี้ให้เห็นว่าภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นในช่วงที่มีการติดเชื้อครั้งแรกนั้นจะอยู่ได้แค่เพียงไม่นาน ผู้ที่ติดเชื้อแล้วจึงมีโอกาสติดซ้ำได้อีก ดังนั้นผู้ที่เคยป่วยด้วยโรคโควิด-19 นี้จึงควรที่จะได้รับการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ด้วย หากวัคซีนดังกล่าวผ่านการทดสอบด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัย จนได้รับอนุมัติการใช้งาน โดยองค์การอนามัยโลกระบุ ยังต้องใช้เวลาในการศึกษากรณีที่เกิดขึ้นในฮ่องกงนี้เพิ่มเติม
นอกจากนี้งานวิจัยยังระบุอีกว่า โควิด-19 อาจเป็นโรคที่จะไปหายไปจากมนุษย์เรา คล้ายกับโรคหวัดธรรมดาอื่นๆ โดย Akiko Iwasaki จากมหาวิทยาลัยเยล ผู้ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยชิ้นนี้ระบุว่า งานศึกษาชิ้นใหม่นี้ชี้ให้เห็นถึงการทำงานของภูมิคุ้มกัน โดยการติดเชื้อครั้งที่ 2 ไม่แสดงอาการของโรคแต่อย่างใด ขณะที่ภูมิคุ้มกันก็มีประสิทธิภาพไม่เพียงพอที่จะต้านการติดเชื้อซ้ำครั้งที่ 2 ได้ จึงต้องพยายามสร้างภูมิคุ้มกันอีกครั้งหลังจากมีการติดเชื้อซ้ำ
โดยวิธีที่จะปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันคือ การใช้วัคซีนต้านโควิด-19 ซึ่งในขณะนี้มีวัคซีนที่อยู่ในเฟสที่ 3 ซึ่งเป็นระยะสุดท้าย 8 ตัว เช่น วัคซีนต้านโควิด-19 ของ Moderna (สหรัฐฯ), CanSinoBio (จีน) และ Murdoch (ออสเตรเลีย)
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า